เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๑๑): การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการยุบสภาเมื่อใกล้ครบวาระของอังกฤษ

 

ในปี ค.ศ. 2011 อังกฤษได้มีการออกพระราชบัญญัติที่เรียกว่า the Fixed-Term Parliament ที่กำหนดให้การยุบสภาก่อนครบวาระจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนสองในสาม ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีในการยุบสภาครั้งใหญ่ของอังกฤษและของโลกเลยก็ว่าได้ ผู้ที่มีบทบาทในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเงื่อนไขในการยุบสภาผู้แทนราษฎรคือ โทนี เบน (Tony Benn) นักการเมืองปีกซ้ายจัดของพรรคแรงงาน โดยโทนี เบนแสดงถึงความกังวลถึงแบบแผนการยุบสภาเดิมที่ให้ลำพังนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯขอให้พระมหากษัตริย์ยุบสภา เพราะถ้าพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ไปในทางใดก็ตามที่เป็นการปฏิเสธหรือยืนยันคำแนะนำของรัฐบาล ที่ไม่ได้มาจากการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร การใช้พระราชอำนาจดังกล่าวนี้อาจจะทำให้เกิดการต่อต้านจากพรรคที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น และนำพาให้อนาคตของตัวสถาบันพระมหากษัตริย์เองไปสู่ใจกลางของปัญหาข้อถกเถียงทางการเมือง  

ผู้เขียนเข้าใจว่า การที่โทนี เบนกังวลว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ในการปฏิเสธคำแนะนำของรัฐบาล จะมีนัยที่พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับพรรคที่เป็นรัฐบาล  แต่ถ้าคำแนะนำมาจากเสียงข้างมากในสภาฯ  ก็จะทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยได้ง่ายกว่าและไม่ทำให้การใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์เป็นการเข้าข้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสภาฯ  แต่ผลที่ตามมาอาจจะทำให้พระมหากษัตริย์เป็นเพียง “ตรายาง” ให้กับสภาผู้แทนราษฎร

ในทรรศนะของโรเบิร์ต แบล็คเบิร์น (Robert Blackburn)  ศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์ของอังกฤษ เห็นว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวของเบน ไม่ถือเป็นข้อเรียกร้องที่รุนแรงอะไรมากต่อการปรับปรุงแบบแผนการยุบสภาฯ เพราะยังคงอยู่ภายใต้หลักการอำนาจสูงสุดอยู่ที่สภาฯ (principle of parliamentary supremacy) อันเป็นเจตจำนงของรัฐธรรมนูญตะวันตกในยุคสมัยใหม่  ขณะเดียวกัน แบล็คเบิร์นเห็นว่า การให้ความชอบธรรมกับแบบแผนการยุบสภาฯที่เป็นอยู่ในขณะนั้นโดยอ้างว่า ในอดีตที่ผ่านมา การยุบสภาฯเป็นพระราชอำนาจที่เกิดขึ้นนอกสถาบันทางการเมือง อันได้แก่ ฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติ ถือเป็นการอ้างที่อิงกับแบบแผนการปฏิบัติและแนวความคิดที่พ้นสมัยไปแล้ว  อีกทั้ง เขาไม่เห็นด้วยว่า ข้อเสนอของเบน จะเป็นการลดทอนบทบาทขององค์พระมหากษัตริย์ (diminishing the role of the Crown) แต่อย่างไร แต่ให้สภาฯถกเถียงและลงคะแนนเสียงในการยุบสภาฯถือเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการที่จะต้องเข้าไปพัวพันยุ่งเกี่ยวในปัญหาความยุ่งยากทางการเมือง

แบล็คเบิร์นกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับข้อเสนอที่ต้องการให้มีวาระที่ตายตัวของสภาฯหรือ “fixed-term parliament” (อย่างที่รัฐสภาของอังกฤษได้ตัดสินใจลงคะแนนเสียงผ่านกฎหมายดังกล่าวนี้ออกมาในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ หรืออีก ๒๖ ปีต่อมาหลังจากที่ข้อเสนอของโทนี เบนได้ปรากฏเป็นร่างกฎหมายครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๘๕ หรือ the Reform Bill 1985---ผู้เขียน)   ข้อเสนอของเบน ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้เรียกร้องมากเกินไป  แบล็คเบิร์นเห็นว่าข้อเสนอของเบนไม่ได้ส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงอะไรมากนักในทางปฏิบัติ เพราะนายกรัฐมนตรียังสามารถคาดหวังให้เสียงข้างมากของเขาในสภาฯสนับสนุนการตัดสินใจของเขาได้อยู่ดี

แต่ถ้าเป็นแบบแผนการยุบสภาฯในแบบ “วาระตายตัว” (fixed-term)  ที่การตัดสินใจยุบสภาฯจะต้องเป็นเรื่องที่ต้องริเริ่มโดยสภาฯเท่านั้น (และต้องผ่านเสียงข้างมากพิเศษของสภาฯอย่างในกรณีของ the Fixed-Term Parliament Act 2011 ของอังกฤษที่กำหนดไว้ว่าจะต้องได้เสียง ๒ ใน ๓ ของสภาฯ) รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีจะสูญเสียอำนาจวินิจฉัยในการยุบสภาฯไปเลยด้วย ซึ่งแบล็คเบิร์นเห็นว่า การริเริ่มให้มีการลงมติขอยุบสภาฯถือเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง และอำนาจในการเสนอกฎหมายและผ่านกฎหมายโดยปรกติย่อมจะอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ข้อเสนอสุดท้ายของเบนที่เรียกร้องให้สภาฯมีวาระลดจากห้าปีมาเป็นสี่ปีนั้น แบล็คเบิร์นเห็นว่า ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากแบบแผนที่ปฏิบัติกันทั่วไปในระบบการเมืองสมัยใหม่ อายุของสภาฯของอังกฤษในสองชุดล่าสุด (จนถึง ค.ศ. ๑๙๘๙/ผู้เขียน) ก็มีอายุเกือบสี่ปี และตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๘ จนถึง ค.ศ.๑๙๘๙ สภาฯ ของอังกฤษมีอายุเฉลี่ยในราวสามปีเจ็ดเดือน

โรเบิร์ต แบล็คเบิร์น
โทนี่ เบน

แบล็คเบิร์นเห็นว่า ในการบริหารงานขับเคลื่อนโครงการและนโยบายต่างๆ โดยรวม รัฐบาลหนึ่งๆ จำเป็นต้องมีการประชุมสภาฯ เพื่อผ่านกฎหมายอย่างน้อยสามสมัยของสภาฯ ขณะที่ ถ้าอังกฤษเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาฯ และกำหนดอายุ สภาฯ ตามข้อเสนอของเบน  สิ่งที่จะคาดการณ์ได้ก็คือ การเลือกตั้งทั่วไปน่าจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปีที่สามถึงปีที่สี่ อันเป็นช่วงสุดท้ายของอายุสภาฯ  ซึ่งจะลดทอนการที่รัฐบาลจะยุบสภาฯโดยพลการในช่วงที่ตนเห็นว่าได้เปรียบ ซึ่งการลดทอนดังกล่าวนี้ย่อมจะทำให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับฝ่ายค้านในการแข่งขันเลือกตั้ง

โดยสรุป  แบล็คเบิร์น เห็นว่า ข้อเสนอของเบน ยังไม่ดีพอในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นจากการให้อำนาจการยุบสภาฯอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี  เพราะเขาเห็นว่าทางออกจากปัญหาดังกล่าวที่ดีที่สุดคือการออกกฎหมาย “วาระตายตัวของสภาฯ” (Fixed-Term Parliament Act) เท่านั้น

และในปี ค.ศ. ๑๙๘๙ เขาคาดการณ์ไว้ว่า แนวคิดและข้อเสนอ “วาระตายตัวของสภาฯ” คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนักในอังกฤษ เพราะรัฐธรรมนูญประเพณีของอังกฤษมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลในขณะนั้น (ค.ศ. ๑๙๘๙)  หรือรวมทั้งในเวลาต่อมา ก็ยากที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวนี้ออกมา เพราะการออกกฎหมายดังกล่าวนี้จะเป็นการจำกัดเสรีภาพและความได้เปรียบในการเลือกตั้งของรัฐบาลนั้นๆเสียเอง 

แบล็คเบิร์นคาดหวังว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรุ่นใหม่ๆ (backbenchers) จะเป็นผู้ผลักดันร่างกฎหมาย “วาระตายตัวของสภาฯ” นี้ออกมา เพราะการยุบสภาฯก่อนสภาฯครบวาระเพื่อให้มีการเลือกตั้งบ่อยครั้งจะกระทบ ส.ส. รุ่นใหม่มากที่สุด เพราะ ส.ส. เหล่านี้มักจะยังไม่มีฐานเสียงที่แข็งแรงมั่นคงเมื่อเทียบ ส.ส. รุ่นใหญ่ ด้วยเหตุนี้  แบล็คเบิร์นจึงเห็นว่า ส.ส. รุ่นใหม่น่าจะมีแรงจูงใจมากในการผลักดันกฎหมายดังกล่าว

ซึ่งในที่สุด  ความคาดหวังของแบล็คเบิร์นที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแบบแผนประเพณีการยุบสภาฯของอังกฤษจากที่อำนาจอยู่ในมือนายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียวมาเป็นการริเริ่มและตัดสินใจโดยสภาฯด้วยเสียงข้างมากแบบพิเศษและอายุของสภาฯยังคงอยู่ห้าปีก็สัมฤทธิ์ผลในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ ใช้เวลาทั้งสิ้น ๒๒ ปี

ในระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๙ ที่เขาได้เขียนบทความเรื่อง “The Dissolution of Parliament: The Crown Prerogatives (House of Commons Control) Bill 1988”  เพื่อวิจารณ์ข้อเสนอและร่างกฎหมายปฏิรูป the Reform Bill 1988 ของโทนี เบนและเสนอแนวทาง “วาระตายตัวของสภาฯ” (Fixed-Term Parliament) จนถึง ค.ศ. ๒๐๑๑ ที่สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษสามารถผ่าน the Fixed-Term Parliament Act ได้สำเร็จ  โดยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปแบบแผนการยุบสภา โดยมีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับแบบแผนประเพณีการยุบสภาฯที่ให้อำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีและเสนอให้เปลี่ยนแบบแผนการยุบสภาฯมาเป็นแบบที่มี “วาระตายตัว”  

โดยเหตุผลในการเสนอให้มีกฎหมายกำหนด “วาระที่ตายตัวของสภาฯ” มีดังต่อไปนี้คือ

๑. เพื่อความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง

ในปี ค.ศ. ๑๙๙๑  ลอร์ดโฮล์ม (Lord Holme)  นักการเมืองฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrat) ได้กล่าวอภิปรายในสภาขุนนางว่า “ความได้เปรียบที่ฝ่ายรัฐบาลมีในการเป็นผู้ตัดสินใจให้ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งเมื่อฝ่ายตนได้เปรียบ เปรียบเสมือนนักกรีฑาที่มาถึงลู่วิ่งและใส่รองเท้าเรียบร้อยแล้วและตัวเขาเองก็เป็นผู้ยิงปืนให้เริ่มต้นการแข่งขัน”

ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ลอร์ดเจนกินส์ (Lord Jenkins)  นักการเมืองที่เคยเป็นสมาชิกทั้งพรรคแรงงาน พรรคประชาธิปไตยสังคม (Social Democrat Party) และพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrat) ตามลำดับ ได้อภิปรายเสนอให้สภาฯมี “วาระตายตัว” (fixed terms) ด้วยเช่นกัน โดยคำอภิปรายในสภาขุนนางของเขาสอดคล้องกับคำอภิปรายของลอร์ดโฮล์ม ลอร์ดเจนกินส์เห็นว่า “การให้ปืนสำหรับยิงให้ผู้แข่งขันวิ่งออกจากเส้นเริ่มต้นแก่หนึ่งในผู้แข่งขัน และสนับสนุนให้เขาเป็นผู้ยิงปืนนั้นเมื่อไรก็ตามที่เขาคิดว่า ผู้แข่งขันคนอื่นมีความพร้อมน้อยที่สุด---เช่น เมื่อพวกเขากำลังผูกเชือกรองเท้าหรืออะไรทำนองนั้น---ถือว่าไม่สอดคล้องกับแบบแผนการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการกีฬา....ในภาพรวมทั้งหมด ข้าพเจ้าเชื่อว่า การมีวาระที่แน่นอนตายตัวสี่ปีจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลอย่างแน่นอน จะมีความเป็นธรรมมากขึ้น...”      

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490