๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๙)

 

 

คณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฏบวรเดช) ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ๖ ข้อต่อรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในนั้นคือ ต้องการให้รัฐบาล “ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปวสาน”  สาเหตุที่ต้องเรียกร้องเช่นนั้นมีหลายสาเหตุ (ดู ตอนที่ ๑-๔) แต่รวมความได้ว่า คณะกู้บ้านกู้เมืองไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายสำหรับรูปแบบการปกครองของประเทศอย่างแท้จริง  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่พันเอก พระยาพหลฯได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แล้วจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นและเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาประเทศไทย                                                          

ก่อนหน้าที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะลี้ภัย เขาได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่ได้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งทั้งในคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร เพราะเค้าโครงเศรษฐกิจของเขามีลักษณะที่คล้ายคลึงกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยผู้เขียนได้ยกข้อความในเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาเผยแพร่ไปบ้างแล้ว (ดูตอนที่ ๔, ๕ และ ๖)  และในตอนที่เจ็ดได้กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.  ๒๔๗๖ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของตน จากนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้นำเอาบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ ๗ เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเสนอต่อที่ประชุมและให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้อ่าน...” [1]                                             

-ผู้เขียนได้กล่าวถึงพระราชวินิจฉัยตอบเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม   โดยพระองค์ได้อ้างงานวิจัยของ “โปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมน” ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรไทยไม่ได้อดอยากแร้นแค้นอย่างที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจ                                                           

งานวิจัยของซิมเมอร์แมนน่าเชื่อถือแค่ไหน ?                                                                                         

การประเมินคุณค่าของการสำรวจชนบทประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๔  ของซิมเมอร์แมนว่ามีคุณภาพมากน้อยทางวิชาการแค่ไหน เราจะรับฟังจากพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือฟังจากฝั่งที่สนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม คงไม่ได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองฝั่งเป็นคู่ขัดแย้งทางความคิดและในทางการเมือง                                                                                      

ดังนั้น แนวทางที่เหมาะสมคือ ประเมินจากบทวิจารณ์ของนักวิชาการคนอื่นมีต่องานของซิมเมอร์แมน และเป็นนักวิชาการที่ไม่ได้อยู่ในสถานะคู่ขัดแย้งในบริบททางการเมืองของไทยขณะนั้น                   

เท่าที่ผู้เขียนได้สำรวจการวิจารณ์งานของซิมเมอร์แมน พบว่าผลงานชิ้นนี้ของซิมเมอร์แมนได้รับการวิจารณ์จากเอ็ดมัน เดอ เอส. บรันเนอร์ (Edmund de S. Brunner) ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  และผู้เขียนได้บรรยายสรรพคุณของศาสตราจารย์บรันเนอร์ไปพอประมาณในตอนที่แล้ว  ในตอนนี้ จักได้กล่าวถึงความเห็นของบรันเนอร์ต่องานของซิมเมอร์แมน บรันเนอร์ได้เขียนบทวิจารณ์  Siam: Rural Economic Survey 1930-31 (การสำรวจเศรษฐกิจชนบทของสยาม พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๔)  ของซิมเมอร์แมนไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ [2]  นั่นคือ เพียงหนึ่งปีหลังที่งานของซิมเมอร์แมนตีพิมพ์เป็นหนังสือ       

นอกจากบรันเนอร์จะเป็นศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาที่อาวุโสกว่าซิมเมอร์แมนแล้ว เขายังได้เคยศึกษาชนบทของประเทศเกาหลีในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1927-1928  สองปีก่อนที่ซิมเมอร์แมนจะเริ่มศึกษาชนบทของไทย  ดังนั้น จากการที่เขาได้ศึกษาชนบทของประเทศในโลกตะวันออกมาก่อนและมีความอาวุโสกว่าในทางวิชาการ จึงถือว่าเขามีประสบการณ์และความรู้ทางวิชาการมากพอที่จะประเมินการศึกษาชนบทไทยของซิมเมอร์แมนในบทวิจารณ์ของบรันเนอร์ เขาเห็นว่า งานของซิมเมอร์แมนถือว่าโดดเด่นเป็นพิเศษและทรงคุณอย่างยิ่ง โดยเขาให้เหตุผลถึงความโดดเด่นว่า 1.  เป็นงานที่ใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะภาพที่ชัดเจนที่สุดผ่านการประยุกต์เทคนิคการวิจัยสังคมที่เป็นองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกา และนำไปใช้ศึกษาวิจัยเงื่อนไขในแบบของเอเชีย 2. เป็นการวิจัยสำรวจที่ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากสภามิชชันนารีสากล และการวิจัยดังกล่าวนี้ถือเป็นครั้งที่สองในรอบครึ่งทศวรรษที่สภามิชชันนารีสากลได้ส่งนักสังคมศาสตร์ชาวอเมริกันไปยังประเทศต่างแดนเพื่อศึกษาสภาพชนบท                                         

งานของซิมเมอร์แมนทรงคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะ    1.สามารถให้แหล่งข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับสภาพชนบทของประเทศที่มีคนรู้จักน้อย แต่ก็เป็นประเทศที่มีอารยธรรมสูงและมีความสำคัญ  ซิมเมอร์แมนได้จัดระเบียบข้อมูลประเภทต่างๆอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถนำไปเปรียบเทียบสภาพชนบทของประเทศอื่นๆได้                           

2. งานนี้ได้วางมาตรฐานสำหรับการศึกษาชนบทของประเทศในโลกตะวันออกสำหรับนักวิจัยที่ต้องการศึกษาสภาพชนบทของประเทศตัวเอง หรือนักวิจัยที่ต้องการศึกษาสภาพชนบทของประเทศอื่น                 

3. ผลอันลุ่มลึกที่ได้จากงานนี้มีผลต่อวิธีคิดและนโยบายของรัฐบาลไทยและนักการเกษตรในเรื่องที่เกี่ยวกับการเกษตรในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม  ก็ไม่ใช่ว่างานของซิมเมอร์แมนจะไม่มีข้อให้ติงโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคในการวิจัย  แต่ก็เป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับผลการศึกษาค้นคว้าโดยส่วนใหญ่ที่ทรงคุณค่า

ในการประเมินการศึกษาสภาพชนบทไทยของซิมเมอร์แมน บรันเนอร์ชี้ว่า จากการที่ซิมเมอร์แมนเป็นแขกของรัฐบาลไทย เขาจะต้องเสียเวลาไปกับงานเลี้ยงที่เป็นพิธีรีตองต่างๆมากมาย  แต่ซิมเมอร์แมนพยายามอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงการมีความสัมพันธ์กับผู้นำทางการเมืองและกลุ่มข้าราชการ  เพราะเขาอาจจะได้รับข้อมูลที่ทำให้เกิดอคติก่อนที่เขาจะได้ลงไปเก็บข้อมูลภาคสนาม

ในการลงภาคสนามตลอดสองปี  เขามีทีมงานในราวสิบห้าถึงสิบแปดคน และในช่วงที่จัดทำตารางข้อมูลในประเด็นต่างๆ เขาใช้ทีมงานประมาณสิบคนในการจัดทำตารางดังกล่าว เขาได้ลงไปสำรวจหมู่บ้านเป็นจำนวนสี่สิบหมู่บ้าน และในการศึกษาแต่ละหมู่บ้าน จะสำรวจอย่างน้อยห้าสิบครอบครัว และตัวเขาเองยังได้ลงไปแต่ละหมู่บ้านเป็นการส่วนตัวด้วย และทำการศึกษาและพักอยู่ในหมู่บ้านตลอด                 

งานของซิมเมอร์แมนมีทั้งหมดสิบบท และแต่ละบทมีหัวข้อที่มีความสำคัญและมีข้อมูลอย่างละเอียด อันได้แก่ 1. ครอบครัวและการทำการเกษตร  2. รายได้ที่เป็นเงินตราและการใช้จ่าว 3. ต้นทุนในการทำการเกษตร การเสียภาษี ผลที่ได้และการลงทุน 4. ฐานะและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ 5. การค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต 6. รายได้ที่เป็นตัวเงินของภาคชนบทในระดับประเทศ 7. การตลาดของผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศภายใน   8. สินเชื่อทางการเกษตร 9. สุขภาพและการดูแลด้านการแพทย์ และ 10. อาหารและโภชนาการ               

-ผลการศึกษาหลักและระเบียบวิธีวิจัยในงานชิ้นนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยวัตถุประสงค์หลักของการศึกษาคือ ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชีวิตชนบทกับการพัฒนาประเทศของไทย ที่สำคัญคือ การศึกษานี้จึงไม่ได้จำกัดเคร่งครัดอยู่เพียงปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังพิจารณาปัจจัยสำคัญต่างๆที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศด้วย                           

จากการศึกษาของซิมเมอร์แมน พบว่า ชุมชนในชนบทของไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นสามแบบใหญ่ๆ !

น่าคิดว่า การจัดแบ่งประเภทของชุมชนในชนบทของไทยโดยนักสังคมวิทยาชาวอเมริกันที่ไม่เคยมาเมืองไทยเลยและใช้เวลาศึกษาอยู่เพียงสองปีจะเป็นอย่างไร ?  จะถูกต้องน่าเชื่อถือแค่ไหนในสายตาของคนไทย ?  และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีความเห็นโต้แย้งงานของซิมเมอร์แมนหรือไม่ อย่างไร ?     

โปรดติดตามตอนต่อไป             

[1] “พระบรมราชวินิจฉัย ร.7 ต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี” (ผู้เขียนบทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า) ไทยโพสต์, วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562.   https://www.thaipost.net/main/detail/33019

[2] Edmund de S. Brunner, “Siam: Rural Economic Survey 1930-31 by Carl C. Zimmerman,” Journal of Farm Economics , Oct., 1932, Vol. 14, No. 4 (Oct., 1932), pp. 707-710.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490