๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๑๑)

 

 

คณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฏบวรเดช) ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ๖ ข้อต่อรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในนั้นคือ ต้องการให้รัฐบาล “ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปวสาน”  สาเหตุที่ต้องเรียกร้องเช่นนั้นมีหลายสาเหตุ (ดู ตอนที่ ๑-๔) แต่รวมความได้ว่า คณะกู้บ้านกู้เมืองไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายสำหรับรูปแบบการปกครองของประเทศอย่างแท้จริง  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่พันเอก พระยาพหลฯได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แล้วจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นและเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาประเทศไทย  หลังจากที่ลี้ภัยออกนอกประเทศไป

สาเหตุของความขัดแย้งที่ทำให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องลี้ภัยสืบเนื่องมาจากเค้าโครงเศรษฐกิจที่เขาเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณากำหนดเป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป ได้เกิดข้อโต้แย้งต่อเค้าโครงเศรษฐกิจของเขา  ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระบรมราชวินิจฉัยตอบโต้เหตุผลของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่อ้างความจำเป็นที่จะต้องใช้เค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวเพราะราษฎรอยู่ในสภาพอดอยากแร้นแค้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงอ้างงานวิจัยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนที่ทำการศึกษาสภาพชีวิตชนบทของไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๔  

ปัญหาที่คนในปัจจุบันควรจะตั้งข้อสงสัยก็คือ งานวิจัยของนักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอย่างศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนนั้นมีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้นำเสนอบทวิจารณ์งานวิจัยของซิมเมอร์แมนโดยศาสตราจารย์บรันเนอร์ ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาที่อาวุโสกว่าซิมเมอร์แมน [1] คราวนี้จะนำเสนอบทวิจารณ์ของบรันเนอร์ต่อไป

บรันเนอร์ได้กล่าวว่า บทที่สี่ที่ว่าด้วยความก้าวหน้าทางฐานะและเศรษฐกิจในงานวิจัยของซิมเมอร์มแน แม้จะสั้นแต่มีความสำคัญยิ่ง  ซิมเมอร์แมนได้แสดงให้เห็นว่า รายการทรัพย์สินทั้งหมดโดยเฉลี่ยของชาวนาอยู่ในราว 500 ดอลลาร์ ราวหนึ่งในสี่ของทรัพย์สินที่ได้รับเป็นมรดกตกทอด  อายุเฉลี่ยของชาวนาคือ 44 ปี และใน 24 ปีของการทำนาที่ได้ผลผลิต ที่เกิดจากการทำนาของตัวเองคิดเป็นทรัพย์สินทุนได้ในราว 15 ดอลลาร์ต่อปี   หนี้เฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ของรายการทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งรวมที่ดิน สังหาริมทรัพย์และอุปกรณ์ที่เคลื่อนย้ายได้ เครื่องประดับและพวกเครื่องทองต่างๆ 

งานของซิมเมอร์แมนได้ชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญของชาวไร่ชาวนาไทยที่เกิดจากการที่ไม่มีตลาดสหกรณ์ในประเทศ ทำให้ชาวนาถูกเอาเปรียบจากผู้ซื้อ เพราะชาวนาไม่สามารถรู้ราคาพืชผลรายวันที่กำหนดซื้อขายกันที่กรุงเทพ  ซิมเมอร์แมนจึงได้นำเสนอผลการศึกษาที่เขาได้ทำการศึกษาราคาข้าวเดือนต่อเดือนอย่างละเอียด โดยใช้เวลาศึกษาต่อเนื่องอยู่สองปี และได้เสนอโครงการปฏิรูปการตลาดที่เขาได้พิจารณามาอย่างรอบด้านแล้ว

ซิมเมอร์แมนชี้ว่า ปัญหาเรื่องการตลาดสำหรับชาวไร่ชาวนาไทย ก็ไม่ต่างจากปัญหาเรื่องสินเชื่อ เขาพบว่า สองในสี่ภาค (ภูมิภาค) ในประเทศอยู่ในสภาพของการเกษตรเลี้ยงตัวเองได้ที่เกือบจะสมบูรณ์

อีกภาคหนี่งเป็นเศรษฐกิจแบบค้าขายเกือบจะสมบูรณ์  และอีกภาคเป็นเศรษฐกิจแบบกึ่งเลี้ยงตัวเองกึ่งค้าขายที่มีกำไรในทางเศรษฐกิจแบบค้าขาย

เรื่องสินเชื่อในภาคที่มีการเกษตรแบบค้าขาย ครึ่งหนึ่งของการทำนาต้องกู้

ในบางภาคเท่านั้น ที่มีจำนวนหนึ่งในเก้าถึงหนึ่งในห้าที่มีปัญหา  เงินกู้จำนวนมากเป็นการกู้แบบไม่มีดอกเบี้ย แต่ในที่ๆมีดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 21 ถึง 32 เปอร์เซ็นต์   อัตราจะสูงสุดในพื้นที่ที่เป็นการทำการเกษตรแบบเลี้ยงตัวเองได้  มีสหกรณ์เครดิตในประเทศไทยอยุ่ 129 แห่ง มีเงินทุนเฉลี่ยในราว 3,500 ดอลลาร์ และคิดดอกเบี้ย 12 เปอร์เซ็นต์  

ปัญหาใหญ่ที่ซิมเมอร์แมนพบในกรณีชนบทของไทยคือ การขาดแหล่งตัวแทนสินเชื่อในท้องถิ่น ซิมเมอร์แมนจึงได้วางโครงร่างแผนการไว้อย่างน่าสนใจ ที่สามารถจะทำให้ชุมชนเติบโตได้ โดยให้มีการการร่วมมือระหว่างธนาคารสยามกัมมาจล (ไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) และรัฐบาลไทย ในการเข้ารับหนี้ทางการเกษตรของประเทศเป็นเวลาราวยี่สิบปี 

ในความเห็นของบรันเนอร์ สองบทที่ว่าด้วยสุขภาพและโภชนาการเป็นบทที่น่าสนใจมากที่สุด  จากข้อมูลผลการศึกษาสุขภาพของประชาชนเป็นจำนวนถึง 25 หน้าของซิมเมอร์แมน ทำให้พบว่า ประเทศไทย ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรเบาบาง การศึกษาอย่างครอบคลุมของซซิมเมอร์แมนพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ในชนบทของประเทศมีประชากรเบาบ่งคือ อัตราการตายที่สูง   เนื่องมาจากการขาดการตรวจและรักษาโดยแพทย์แผนสมัยใหม่ จะมีเพียงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ แม้ว่าอัตราการตายจะดำเนินไปเป็นวัฏจักรนั่นคือเป็นไปตามเฉลี่ยการตายตามอายุขัย กระนั้นก็มีโรคระบาดบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนอยู่ตลอดเวลา  โรคระบาดบางชนิดคร่าชีวิตประชากรในวัยเด็กด้วย  ส่วนอัตราการตายของผู้ใหญ่เป็นผลที่เกิดจาการสะสมจากโรคต่างๆมากมาย  มีคนที่ตั้งตนเป็นหมอที่ไม่ได้เป็นนายแพทย์จริงๆมากมายในในประเทศไทย  ซิมเมอร์แมนจึงสนับสนุนให้มีระบบ “แพทย์ฝึกหัด หรือแพทย์ประจำบ้าน” (junior doctor) ที่ใช้กับในพื้นที่ต่างๆในชนบทของอเมริกาที่มักจะขาดหมอ  

บทรองสุดท้ายเป็นบทที่ให้แง่มุมต่างๆเกี่ยวกับปัญหาต่างๆของภาค และมีความสำคัญทั้งในแง่ของข้อมูลและในแง่ของการเน้นที่แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาค ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญในประเทศไทย

บทสุดท้าย ซิมเมอร์แมนได้นำเสนอโครงการระดับชาติสำหรับการพัฒนาชนบทในประเทศไทย ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น 

บรันเนอร์สรุปว่า แม้ว่าในงานชิ้นนี้ ผู้อ่านอาจะจะเห็นได้ถึงการเร่งรีบในการเขียนและข้อจำกัดที่ซิมเมอร์แมนจะต้องเขียนรายงานส่งให้รัฐบาลไทย และไม่ได้เขียนเรียบเรียงสำหรับคนอ่านทั่วไป แต่งานชิ้นนี้ของซิมเมอร์แมนถือเป็นการศึกษาที่ยังไม่มีนักวิชาการคนไหนทำมาก่อน และยังเป็นงานที่มีคุณค่าในการให้ข้อมูลรายละเอียดและที่สำคัญอย่างยิ่งคือการตีความข้อมูลและข้อสรุปที่เขาได้ให้ไว้

เท่าที่ผู้เขียนสืบค้นในเบื้องต้น ไม่พบว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้โต้แย้งข้อมูลที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอ้างอิงจากงานวิจัยของซิมเมอร์แมนอย่างไร  ทราบแต่เพียงว่า ในการร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ร่างขึ้นจากคำบรรยายของอาจารย์ในขณะที่เขาศึกษาอยู่ที่ปารีส [2]  

ใครค้นพบ ช่วยนำมาเผยแพร่ด้วยครับ  จะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง

_________________________________________

[1] Edmund de S. Brunner, “Siam: Rural Economic Survey 1930-31 by Carl C. Zimmerman,” Journal of Farm Economics , Oct., 1932, Vol. 14, No. 4 (Oct., 1932), pp. 707-710.

[2] David K. Wyatt, Thailand A Short History, 2nd edition, (Bangkok: Silkworm: 2003), p. 236.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 15: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490