๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๑๓)

 

 

สาเหตุประการหนึ่งที่คณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฏบวรเดช) ต้องยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖  คือ คณะกู้บ้านกู้เมืองไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายสำหรับรูปแบบการปกครองของประเทศอย่างแท้จริง  ความเคลือบแคลงใจนี้เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จากกรณีที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หนึ่งในแกนนำและมันสมองของคณะราษฎรได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่มีสาระสำคัญออกไปในแนวสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว และมีการนำพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่านในที่ประชุม โดยในพระราชวินิจฉัยดังกล่าวได้มีการตอบโต้ความเห็นและข้อเสนอของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  ผู้เขียนได้นำเสนอไปแล้วถึงข้อโต้แย้งในประเด็นที่ว่าราษฎรไทยในชนบทมีความอดอยากแร้นแค้นตามที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวไว้หรือไม่ และข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลบังคับซื้อที่ดินนาไร่จากชาวนามาประกอบการเอง และเปลี่ยนชาวไร่ชาวนาให้ลูกจ้างรัฐ เป็นข้าราชการ โดยหลวงประดิษฐ์ฯอ้างว่า ราษฎรไทยชอบเป็นข้าราชการ ซึ่งในตอนที่ ๑๒ ผู้เขียนได้นำพระบรมราชวินิจฉัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมีต่ออุปนิสัยใจคอของราษฎรที่เกี่ยวกับความอยากเป็นข้าราชการ  มาในตอนนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอพระบรมราชวินิจฉัยต่อข้อเสนอของหลวงประดิษฐ์ฯที่จะให้ใช้แต้มคะแนนแทนเงินค่าจ้างแก่ลูกจ้างรัฐหรือข้าราชการเพื่อใช้คะแนนนั้นแลกปัจจัยสี่สำหรับยังชีพ

ต่อประเด็นการเปลี่ยนเงินเป็นคะแนน ในพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีข้อโต้แย้งดังนี้

“เงินนั้นเป็นแต่เพียงคะแนน เป็นสิ่งที่กินเข้าไปไม่ได้ และมีประโยชน์อยู่ก็แต่สำหรับใช้แลกเปลี่ยนปัจจัยแห่งการครองชีวิตเท่านั้น ก็จริงอยู่ แต่เราต้องอย่าลืมว่า ณ บัดนี้ ก็ไม่เห็นมีอะไรเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนดีเท่ากับเงิน เพราะเงินนั้นคนพอใจที่จะรับไว้ทุกคน ถ้าเลิกเงินก็ต้องกลับไปใช้วิธีโบราณ คือแลกสิ่งของด้วของ ซึ่งคงทำให้เกิดความลำบากแก่มหาชนไม่น้อย กล่าวคือ คนนั้นมีใจไม่เหมือนกัน มีความอดอยากได้ไม่เหมือนกัน ถ้าเราเอาของที่เรามีอยู่จะไปแลกกับอาหาร หรือสิ่งที่เราประสงค์จากคนอื่น เราก็ไม่มีความรู้สึกที่จะได้ของนั้นมา เพราะเจ้าของสิ่งนั้นเขาอาจไม่ต้องการสิ่งที่เราเอาไปแลกก็ได้ 

การเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดติดต่อระหว่างบุคคลลำบากขึ้นอีกมาก ถ้าเลิกเงินก็เท่ากับถอยหลังเข้าคลองไปหาสมัยเก่า  ซึ่งผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) ดูเหมือนจะไม่ชอบ ไม่ใช่หรือ

คนเรานั้น ถึงแม้ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) จะนำโครงการเศรษฐกิจออกมาใช้แล้วก็ดี ก็คงยังต้องการติดต่อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ถ้าเลิกเงิน ความลำบากก็จะมี

การดำเนินการตามนี้นั้น จริงอยู่ ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) ไม่ได้พูดว่าเลิกเงิน แต่ทางดำเนินนั้น มันเป็นไปในทางที่จะตัดราคาให้สูญไปทีละน้อย ดังที่ทำอยู่ในประเทศรัสเซีย

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ An Economic History of Soviet Russia แต่งโดย Lancelot Lawton  มีข้อความเรื่องการเลิกเงินนี้ว่า ประเทศรัสเซียนั้นได้พยายามเลิกเงินมานานแล้วโดยวิธีการอ้างอย่างเดียวกัน คือ จะจ่ายเงินเดือนให้ราษฎรนั้นนำไปซื้อจากร้านสหกรณ์ ที่เหลือจะนำไปเข้าธนาคารชาติ การที่ดำเนินการดังนั้น รัฐบาลต้องจำหน่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก การเพิ่มเงินนี้ ต้องเพิ่มธนบัตรขึ้น เมื่อเพิ่มธนบัตรขึ้นและมีเงินจริงประกันน้อย ราคาก็ตกต่ำจนในที่สุดต้องเลิกใช้เงิน ราษฎรพากันใช้วิธีโบราณ คือ แลกเปลี่ยนสิ่งของด้วยสิ่งของ ผู้ใดไม่มีสิ่งของ มีแต่เงินเดือนที่รัฐบาลจ่ายแล้ว ก็ต้องอดตาย

หมู่ชนที่อยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งย่อมไม่มีสิ่งของพืชผลอันใดที่จะแลกเปลี่ยนอาหารได้ เพราะตนเป็นเพียงคนงานได้เงินเดือนเท่านั้น ร้านของสหกรณ์หรือรัฐบาลจัดขึ้นนั้น ก็หาอาหารขายให้ราษฎรไม่พอ คนที่อยากกินหรือกินไม่อิ่มก็อยู่ต่อไปในเมืองไม่ไหว ต้องทิ้งเมืองออกไปอยู่ตามบ้านนอก เพื่อประสงค์ที่จะได้หากินจากพื้นดิน เพื่อที่จะหาของแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น

พลเมืองในรัสเซียมีประมาณ ๑๙๐ ล้านคน แต่ปรากฏว่าเพียง ๑๒ ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับความดูแลจากรัฐบาล นอกนั้นอยู่ตามยถากรรม ถูกริบโดยภาษีทางอ้อมไปบ้าง ถูกกดขี่ต่างๆไปบ้าง พวก ๑๒ ล้านคนที่ได้รับเลี้ยงก็เต็มทน เพราะเงินไม่มีราคา พลเมืองในกรุงเปโตรกราด ซึ่งเคยมีอยู่ ๒ ล้าน ๖ แสนคน แต่เมื่อได้เกิดวิธีนี้แล้ว มีคนแต่เพียง ๖ แสนเท่านั้น เพราะอยู่ต่อไปไม่ไหว เพราะอยู่ต่อไปก็ไม่มีอะไรจะแลกของกินดังกล่าวแล้ว

ดูตัวอย่างทหารของเราที่ผู้บังคับบัญชาได้พยายามหลายครั้งแล้วที่จะให้มีการเลี้ยงอาหารเป็นส่วนรวมและงดการจ่ายเบี้ยเลี้ยง แต่ทหารไม่พอใจเลย ชอบรับเบี้ยเลี้ยงไปซื้อกินเองดีกว่า

ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า เงินนั้นยังมีความสำคัญเพียงใด เพราะฉะนั้น ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) จะดำเนินการอย่างไรก็ตาม ต้องพยายามอย่าทำลายค่าของเงินให้ป่นปี้ไปเสีย และถ้าจะให้ราษฎรเป็นข้าราชการทั้งหมดแล้ว และจะจ่ายเงินเดือนให้ ก็ต้องให้เป็นเงินจริงๆ ไม่ใช่กระดาษไม่มีค่า หาไม่จะทำให้ราษฎรได้รับความลำบากโดยแท้ อย่าลืมว่า ถ้าเลิกเงินเสียแล้วจะไม่มีวิธีการตีราคาสิ่งของอย่างไร จะต้องถอยหลังเข้าคลองไปใช้วิธีการแลกเปลี่ยนอย่างโบราณอีก ดังนี้หรือคือความเจริญ”  [1]

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า การพยายามใช้คะแนนแทนเงิน และความโน้มเอียงที่จะเลิกใช้เงินในเค้าโครงเศรษฐกิจ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงข้อเขียนเรื่อง “ทูตพระศรีอาริย์” ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ราษฎร ฉบับวันจันทร์ที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ที่มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า  “...ในที่สุดพวกคนจนก็จะรู้สึกตัวเห็นว่าทรัพย์สมบัติทุกอย่างเป็นของกลางในโลก  ไม่ควรที่จะมาฆ่าฟันกัน เมื่อมีความเห็นเช่นนี้เป็นจุดเดียวกัน ก็จะช่วยกันล้างพวกมั่งมีให้หมดไป ‘วันใดเงินหมดอำนาจ เป็นแร่ธาตุไปตามสภาพเดิมแล้ว วันนั้นเป็นวันเสมอภาค’” [2] 

แม้ว่ายังไม่สามารถสืบค้นได้ว่า ใครคือผู้เขียนบทความเรื่อง “ทูตพระศรีอาริย์” แต่ความคิดรากฐานในบทความดังกล่าวดูจะไปในทางเดียวกันกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ

ขณะเดียวกัน ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ้างงานวิจัยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนเรื่อง Siam: Rural Economic Survey 1930-31 (ที่ซิมเมอร์แมนถวายรายงานต่อพระองค์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔) ในการตอบโต้เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯแล้ว  พระองค์ยังทรงอ้างหนังสือ An Economic History of Soviet Russia แต่งโดย Lancelot Lawton  ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕  นับว่าเป็นการใช้ข้อมูลวิชาการที่ทันสมัยอย่างยิ่ง

Lawton เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษและเป็นนักหนังสือพิมพ์การเมืองระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องยูเครนโดยเฉพาะด้วย ซึ่งในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๖ ได้เกิดวิกฤตความอดอยากอย่างรุนแรงในยูเครน ผู้คนนับล้านต้องอดตาย  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความอดอยากของทั้งสหภาพโซเวียตที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๔ [3]

_________________________________________

[1] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 284-285.

[2] ราษฎร ฉบับวันจันทร์ที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ อ้างใน ชัยอนันต์ สมุทวนิช, ความคิดทางการเมืองการปกครองไทยโบราณ, เอกสารโรเนียว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 320.5 ช451ค ฉ.1), หน้า ๓๒.

[3] https://www.britannica.com/event/Holodomor  วิกฤตความอดอยากครั้งใหญ่ในยูเครนนี้มีชื่อเรียกว่า “Holodomor”  ซึ่งมีความหมายว่า “การฆ่าโดยปล่อยให้อดตาย”  นักวิชาการลงคามเห็นสว่า วิกฤตดังกล่าวในยูเครนเกิดจากความตั้งใจของรัฐบาลโซเวียต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 4)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490