๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๑๔)

 

 

สาเหตุประการหนึ่งที่คณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฏบวรเดช) ต้องยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖  คือ คณะกู้บ้านกู้เมืองไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายสำหรับรูปแบบการปกครองของประเทศอย่างแท้จริง  ความเคลือบแคลงใจนี้เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จากกรณีที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หนึ่งในแกนนำและมันสมองของคณะราษฎรได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่มีสาระสำคัญออกไปในแนวสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว และมีการนำพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่านในที่ประชุม โดยในพระราชวินิจฉัยดังกล่าวได้มีการตอบโต้ความเห็นและข้อเสนอของหลวงประดิษฐ์ฯ  นอกจากประเด็นที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปแล้ว คราวนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงประเด็นที่หลวงประดิษฐ์ฯได้เสนอให้มีการตั้งธนาคารแห่งชาติขึ้นอันเป็นส่วนสำคัญในแผนเศรษฐกิจของเขา [1] โดยเขากำหนดไว้ว่า รัฐบาลจะเป็นเจ้าของการประกอบการเศรษฐกิจเอง และตั้งธนาคารแห่งชาติขึ้นเพื่อให้ธนาคารแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าตอบแทนการเป็นลูกจ้างหรือข้าราชการ [2] โดยเป็นเงินตราหรือเช็คของธนาคารแห่งชาติ “ตามอัตราที่ราษฎรนั้นๆมีสิทธิได้รับและให้มีการหักกลบลบหนี้ (compensation) กับเงินที่ราษฎรนั้นๆเป็นลูกหนี้ต่อรัฐบาลหรือต่อสหกรณ์ ในการซื้ออาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ และปัจจัยอื่นๆแห่งการดำรงชีวิต เมื่อหักแล้ว ราษฎรยังเป็นหนี้รัฐบาลหรือสหกรณ์อยู่เท่าใด ราษฎรก็มีสิทธิที่จะฝากเงินนั้นไว้ต่อธนาคารแห่งชาติหรือซื้อใบกู้ของรัฐบาลหรือสหกรณ์ หรือจะถอนมาใช้จ่ายก็ได้ตามใจสมัคร” [3]

ซึ่งพระราชวินิจฉัยตอบต่อประเด็นการตั้งธนาคารแห่งชาติเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น มีความว่า                         

“การตั้งธนาคารแห่งชาตินั้น จะสำเร็จได้ดีหรือไม่นั้น ย่อมแล้วแต่ราษฎรจะเชื่อธนาคารนี้แค่ไหน ถ้ารัฐบาลดำเนินการค้าขาดทุน และเอาเงินจากธนาคารแห่งชาติไปไม่รู้จักจบดังนี้แล้ว ธนาคารเห็นจะง่อนแง่นเต็มที  เพราะฉะนั้น การตั้งธนาคารแห่งชาติเพื่อดำเนินวิธีดังกล่าวแล้ว คือ จะให้ราษฎรเอาเงินฝาก ถ้าราษฎรไม่เชื่อ จะทำอย่างใด ราษฎรนั้นยังเข้าใจน้อยเต็มที ดูแต่ชาวนาของฝรั่งเศส ก็ไม่ใคร่เอาเงินฝากในธนาคารเสียแล้ว ราษฎรของเราซึ่งก็ยังไม่ฉลาดเฉลียวมากนัก จะทำบ้าง เห็นจะเชื่อได้ยากสักหน่อย คลังออมสินตั้งมานานแล้ว [4] แต่ก็ไม่ปรากฏว่า มีคนนำเงินไปฝากเท่าใด เพรายังเขียนหนังสือไม่เป็นก็อีกมาก หรือการทำบัญชีอย่างไม่มีเงินแบบรัสเซีย ที่ว่าง่ายนักง่ายหนา ไม่ต้องการความรู้อื่นใด นอกจากบวกลบคูณหารนั้น ก็สงสัยว่าจะทำได้ไม่สู้สะดวกนัก รัสเซียเคยลองทำการดังนี้มาแล้ว เช่น พยายามเก็บเงิน (ไม่ใช้เงิน/ผู้เขียน)  แต่ผลที่สุดก็ต้องกลับไปใช้เงินอีก  และข้าราชการก็ได้รับเงินเดือนเป็นเงิน แต่เป็นเงินที่ราคาตกมากๆเท่านั้น (ย้อนดู พระราชวินิจฉัยในประเด็นนี้ในตอนที่ ๑๓) ถ้าไทยเราต้องได้รับการเช่นนี้บ้าง เห็นจะเต็มทีสักหน่อย” [5]

ในเค้าโครงเศรษฐกิจ เกี่ยวกับเรื่อง ที่ดิน แรงงาน เงินทุน หลวงประดิษฐ์ฯได้กล่าวว่า “๙๐% ของราษฎรหามีที่ดินและเงินทุนพอที่จะประกอบการเศรษฐกิจแต่ลำพังให้ถูกต้องครบถ้วนไม่”  และ “ชื่อเสียงของประเทศไทยนั้นยังดีอยู่ และพื้นดิน จำนวนพลเมืองก็มีอยู่มากพอที่จะจัดการตามโครงการนี้ (ตามเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ) โดยไม่มีใครเดือดร้อน”

พระราชวินิจฉัยตอบต่อประเด็นนี้คือ

“ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) กล่าวว่า ราษฎรของเรานี้ เป็นจำนวน ๙๐% ไม่มีที่ดินและทุนที่จะทำอะไรได้เอง แต่ข้าพเจ้าได้พบในรายการของโปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมน [6]กล่าวว่า ราษฎรที่ไม่มีที่ดินและทุนที่จะทำการเลี้ยงชีพเองมีแต่เพียง ๓๖% เท่านั้น ดูไกลกันมากกว่าที่ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) กำหนด จริงอยู่ตัวเงินทุนอาจไม่มากนัก แต่ที่ดินนั้น เขามีกันแน่ ไม่ต้องสงสัยเลย

ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) กล่าวว่า ชื่อเสียงของประเทศไทยนั้นยังดีอยู่ และพื้นดิน จำนวนพลเมืองก็มีอยู่มากพอที่จะจัดการตามโครงการนี้ [7] โดยมีมีใครเดือดร้อน ข้อนี้มีที่น่าสงสัยอยู่ละกระมัง เพราะประการที่ ๑ เมื่อเราประกาศที่จะดำเนินการตามโครงการนี้แล้ว ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) เชื่ออย่างไรว่า ประเทศเพื่อนบ้านเขาจะพากันเห็นด้วย วิธีการที่จะทำนี้ จริงอยู่มิใช่วิธีคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นวิธีที่รัสเซียเขาใช้อยู่ และประเทศต่างๆ เขาเห็นว่า วิธีนี้แหละที่เป็นอันตรายแก่สันติสุขของโลก ถ้าเราใช้บ้าง เราจะไปหวังอย่างไรได้ว่า ชื่อเสียงของเราจะยังหอมอยู่ดังเดี๋ยวนี้ การที่จะทำดังนี้เสียอีก จะทำให้ชื่อเสียงของประเทศที่มีคนนับถืออยู่เสื่อมเสียไป ถ้าเป็นดังนั้นแล้ว จะหาเงินที่ไหนมาเป็นทุน โดยมิต้องทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน” [8]

จากข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า มีประเด็นที่น่าสังเกตอยู่สองประการคือ

หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นว่า วิธีการที่หลวงประดิษฐ์ฯเสนอไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจไม่ใช่วิธีคอมมิวนิสต์ แต่เป็นวิธีที่รัสเซียใช้อยู่ 

สอง หลวงประดิษฐ์ฯไปได้ข้อมูลจากไหนที่ว่า ร้อยละ ๙๐ ของราษฎรไทยเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินและมีทุนพอที่จะทำการเลี้ยงชีพเอง ?  ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวว่า มีเพียงร้อยละ ๓๖ ของราษฎรไทยเท่านั้นที่ไม่มีที่ดินและทุนที่จะทำการเลี้ยงชีพเอง โดยพระองค์ทรงใช้ข้อมูลจากงานวิจัยสภาพชีวิตของผู้คนในชนบทไทยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมน [9]  ถ้าหลวงประดิษฐ์ฯมั่นใจในข้อมูลตัวเลขของตน ก็น่าจะทำการโต้แย้งกันในทางวิชาการหรือระเบียบวิธีวิจัย

แต่อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวย้ำในตอนก่อนๆว่า เท่าที่ผู้เขียนค้นคว้า ยังไม่พบข้อเขียนที่หลวงประดิษฐ์ฯโต้แย้งรายงานการวิจัยของซิมเมอร์แมนเลย และยังคงหวังอยู่ว่า ท่านจะเขียนไว้ที่ไหนสักแห่ง

_________________________________________

[1] ในขณะนั้น พ.ศ. ๒๔๗๖ ประเทศไทยยังไม่มีธนาคารแห่งชาติ ธนาคารแห่งชาติตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ 

[2] หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เสนอให้บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไปจนถึง ๕๕ ปี รับราชการตามประเภทงาน โดยกำหนดแบ่งตามกำลังความสามารถ คุณวุฒิ และตามเพศ อายุ ดู มาตรา ๘ ใน “เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ใน ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 268.

[3] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 270.

[4] ธนาคารออมสิน ชื่อแรกเริ่มคือ คลังออมสิน ตั้งเมื่อ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ และก่อนหน้านั้นมี “แบงก์สยามกัมมาจล ทุน จำกัด” (ตั้ง ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์) 

[5] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 285.

[6] ผู้สนใจว่า ศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนคือใคร และเพราะเหตุใด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอ้างเขา โปรดย้อนดูตอนที่ ๘-๑๑.

[7] ตามรายงานวิจัยของซิมเมอร์แมน ประเทศไทยมีประชากรต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อคิดถึงพื้นที่ทำการเกษตรของประเทศ และสาเหตุที่มีประชากรน้อยเพราะมีอัตราการตายที่สูง ผู้สนใจ โปรดดูตอนที่ ๑๑

[8] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 285-286.

[9] Carl C. Zimmerman, Siam: Rural Economic Survey 1930-31 ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยสำนักพิมพ์ The Bangkok Times Press.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 15: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490