ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๑๗)

 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตต่อข้อความบางตอนในปาฐกถกาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงที่สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2470 และได้ทรงกล่าวถึง หลักการการปกครอบแบบพ่อปกครองลูกโดยอ้างถึงศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแห่ง และทรงเทียบเคียงกับภาษาอังกฤษว่า Paternal Government  

เท่าที่ผู้เขียนอ่านข้อความทั้งหมดในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ไม่พบข้อความใดตรงๆที่กล่าวถึงหลักการการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า กรมพระยาดำรงฯน่าจะทรงตีความมากกว่า และผู้เขียนได้ตั้งสมมุติฐานอีกว่า การที่กรมพระยาดำรงฯทรงเทียบเคียงการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยสุโขทัยกับคำว่า Paternal Government เพราะพระองค์น่าจะทรงอ่านเอกสารภาษาอังกฤษที่มีการกล่าวถึง Paternal Government  ซึ่งแปลความได้ว่า การปกครองในแบบพ่อปกครองลูก

และเท่าที่ผู้เขียนสำรวจเอกสารที่เป็นข้อเขียนทางความคิดทางการเมืองตะวันตก จะพบการใช้คำว่า Paternal Government ในงานของเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์ (Sir Robert Filmer) ในหนังสือชื่อ  Patriarcha or the Natural Power of Kings (ปิตาธิปไตย หรือ พระราชอำนาจตามธรรมชาติของกษัตริย์) ซึ่งเขียนขึ้นในศตวรรษที่สิบเจ็ด     ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า การอธิบายหลักการการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยพ่อขุนรามคำแหงของกรมพระยาดำรงฯน่าจะมาจากการตีความศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงโดยมีแนวคิดเรื่องปิตาธิปไตยของเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์เป็นแนวทางในการอธิบายลักษณะการปกครองของไทยโบราณ

ข้อสันนิษฐานนี้จะได้รับการยืนยัน หากเราพบหลักฐานว่า กรมพระยาดำรงฯน่าจะทรงเคยอ่านข้อเขียนของเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์โดยตรง หรืออ่านงานที่เขียนถึงข้อเขียนของเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์

ผู้เขียนเริ่มถามไถ่ถึงข้อมูลในหอสมุดวชิรญาณที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2448   โดยมีกรมพระยาดำรงฯทรงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารจัดการหอสมุด และเท่าที่ผู้เขียนได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลบางส่วนจาก ผศ. ดร. กานต์ บุญยะกาญจน ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เคยเข้าไปค้นคว้ารายการหนังสือในหอสมุดวชิรญาณสมัยที่เขาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังไม่พบรายการหนังสือเรื่อง Patriarcha or the Natural Power of Kings ของ Sir Robert Filmer เพราะยังไม่ได้ค้นรายการหนังสือได้ครบถ้วน

แต่พบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “The Hist. of Political Literature from the earliest Times. Vol. I-II. London, 1855, 8 vo.” ของผู้เขียนชื่อ  “Blakey, R:-“ ซึ่งภายในหมวด “XII. Polite Literature I.- LITERARY HISTORY, CRITICISM ect.”

ก่อนจะพูดถึงหนังสือเล่มนี้  ผู้อ่านหลายท่านอาจจะมีข้อสงสัยต่อคำว่า “Polite Literature” ว่าหมายถึงอะไร ? และเป็นหมวดหนังสือประเภทอะไร ?  ทำไมผู้จัดหมวดหมู่ในหอสมุดวชิรญาณจึงใช้คำอะไรแปลกๆ

คำว่า polite ตามที่เราคนไทยเข้าใจกันคือ หมายถึง สุภาพ ดังนั้น polite literature ก็น่าจะแปลว่า วรรณกรรมหรือวรรณคดีที่สุภาพ !  มันคืออะไร ??!! คงต้องค้นความเป็นมาของคำว่า polite และดูการใช้คำว่า polite literature ในสังคมที่ใช้ภาษาอังกฤษกัน

คำว่า polite มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ  polite มาจากภาษาละติน politus หมายถึง ราบรื่น ขัดให้เงา เริ่มปรากฎการใช้คำๆนี้ในอังกฤษในปี ค.ศ. 1450  ต่อมาในปี ค.ศ. 1501 เริ่มใช้คำว่า polite ในฐานะที่เป็นคุณศัพท์ โดยจะใช้เป็นคำขยายของ “ศิลปะ วรรณกรรม งานที่ขัดเกลาจนมีคุณภาพ มีความสง่างาม ถูกต้อง และมีความเป็นผู้รู้”  ต่อมาในปี ค.ศ. 1703  มีความหมายว่า ถูกทำให้สะอาด ตัดแต่งเป็นระเบียบ    และในปี ค.ศ. 1737 polite  ใช้เป็นคำคุณศัพท์หมายถึง ถูกทำให้ราบรื่น ถูกขัดให้เงาแวววาว 

ในศตวรรษที่สิบแปด มีการใช้คำ polite literature เช่น มีการกล่าวถึงบุคคลที่มีทักษะความชำนาญในสาขาการศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต (natural history/ ซึ่งมักจะรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่ใช้ชื่อเดียวกัน นั่นคือ Natural History Museum) และในทุกสาขาของ polite literature

การกล่าวว่า polite literature มีหลายสาขา ก็หมายความว่า polite literature คือ งานเขียนหรือวรรณกรรมครอบคลุมหลากหลายสาขา แต่เป็นงานเขียนที่มีการค้นหาข้อมูล วิเคราะห์และเรียบเรียงด้วยภาษาที่สละสลวย แต่ไม่ใช่ข้อเขียนในทางวิทยาศาสตร์  

ในศตวรรษที่สิบเก้า ในหนังสือ “พจนานุกรมนิรุกติศาสตร์และการออกเสียงในภาษาอังกฤษ (Etymological and pronouncing dictionary of the English language) ฉบับตีพิมพ์ ค.ศ. 1874 (พ.ศ. 2417 หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ 6 ปี) ได้อธิบายความหมายของ Polite Literature ไว้ว่าหมายถึง “สาขาความรู้หรือคำสอนต่างๆ ที่ไม่ใช่ความรู้ในสาขาศิลปะและวิทยาศาสตร์ ที่ให้ทำให้เกิดความเข้าใจและให้เสริมสร้างพัฒนาวิจารณญาณ”

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้อธิบายด้วยว่า Polite Literature มีความหมายเดียวกันกับคำว่า Belles-lettres ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลตัวตรงจะได้ความว่า “beautiful or fine writing”  นั่นคือ งานเขียนที่งดงามหรือมีคุณภาพสูง และงานเขียนที่ว่านี้จะไม่ใช่งานเขียนแบบตำราทางวิทยาศาสตร์ แต่จะเป็นงานเขียนประเภท บทกวี ความเรียง นวนิยายที่ได้มาตรฐาน เป็นต้น

ตัวอย่างการใช้คำ polite literature ในสังคมอังกฤษและอเมริกัน ในศตวรรษที่สิบเก้าได้แก่

-ในปี ค.ศ. 1802 (พ.ศ. 2345) มีการตีพิมพ์ สารานุกรมฉบับกระเป๋า; หรือห้องสมุดความรู้ทั่วไป, เป็นพจนานุกรมทางศิลปะ วิทยาศาสตร์และ Polite Literature”  (A Pocket Encyclopedia; Or, Library of General Knowledge, Being a Dictionary of Arts, Sciences, and Polite Literature)

ในศตวรรษที่สิบเก้า มีการออกวารสารที่เน้นเฉพาะงานเขียนที่เป็น Polite Literature  และยังมีปริญญาสาขา Polite Literature ในสถาบันการศึกษาในเทนเนสซีตะวันออกในสหรัฐอเมริกาด้วย และมีการกำหนดรางวัลให้นักเขียนที่มีความสามารถในสาขาวิทยาศาสตร์ สาขาโบราณคดี และสาขา Polite Literature

ตีพิมพ์ ค.ศ. 1807
ตีพิมพ์ ค.ศ. 1875
ตีพิมพ์ ค.ศ. 1923

ในมหาวิทยาลัยดาแรม (Durham) ของอังกฤษ มีการแต่งตั้งบุคคลคนๆเดียวให้เป็นอาจารย์ประจำในสาขาประวัติศาสตร์และ Polite Literature นั่นหมายความว่า polite literature ถูกจัดให้ใกล้เคียงสาขาประวัติศาสตร์ ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า มีหมวด Polite Literature ในหอสมุดวชิรญาณ และบรรจุหนังสือ The History of Political Literature from the earliest Times ไว้

และแม้กระทั่งในปลายศตวรรษที่ยี่สิบ ก็ยังมีการใช้คำว่า polite literature อยู่ด้วยเช่นกัน เช่น ในปี ค.ศ. 1970 มีผู้ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมสูงสุดในสาขาดาราศาสตร์จากวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เขาได้รางวัล Bowdoin Prize (เป็นรางวัลที่เก่าแก่ที่สุดและทรงเกียรติที่สุดของฮาร์วาร์ด เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1791) ในสาขา Useful and Polite Literature และในปี ค.ศ. 1931 มีการจารึกคำอุทิศว่า Desiderius Erasmus ผู้รักษาและฟื้นฟูงานเขียนทางวิทยาศาสตร์และ polite literature เขาเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษของเขา เป็นพลเมืองที่ประเสริฐสุด ที่มีชื่อเสียงเป็นนิรันดร์จากงานเขียนอันเป็นอมตะของเขา

นอกจากนี้ ยังมีการเทียบเคียงคำว่า polite กับคำว่า classic ด้วย

ถ้าไม่ได้ไปค้นและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้คำว่า polite literature ในการจัดหมวดหมู่หนังสือในหอสมุดวชิรญาณ คนที่ไม่รู้อาจจะคิดว่าบรรดาเจ้านายสมัยนั้น “ไม่รู้”  แต่ความจริงคือ เจ้านายสมัยนั้นทันสมัยมาก !

เลยยังไม่ได้กล่าวถึงสาระของหนังสือ “The Hist. of Political Literature from the earliest Times. Vol. I-II. London, 1855, 8 vo.” ของ “Blakey, R.” ว่า เกี่ยวข้องกับ Paternal Government ที่กรมพระยาดำรงฯทรงกล่าวถึงหรือไม่ ?  แต่อย่างน้อยก็มีความเป็นไปได้ที่พระองค์จะทรงอ่านหนังสือเล่มนี้ที่อยู่ในหอสมุดวชิรญาณที่ทรงบริหารจัดการอยู่

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า