๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๑๕)

 

 

ในตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้กล่าวถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความเห็นต่างในเค้าโครงเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมร่างขึ้นเพื่อหวังจะให้เป็นนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวได้บานปลายไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง  พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖  ต่อมาได้เกิดรัฐประหาร ๒๐ มิถุนายนในปีเดียวกัน ยึดอำนาจจากพระยามโนฯ โดยพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเดือนตุลาคมในปีเดียวกันนั้น คณะกู้บ้านกู้เมืองได้ยื่นข้อเรียกร้องหกประการต่อรัฐบาลพระยาพหลฯ แต่รัฐบาลปฏิเสธ นำไปสู่การปะทะกันระหว่างกองกำลังของแต่ละฝ่าย ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของคณะกู้บ้านกู้เมือง และถูกเรียกว่า “กบฏบวรเดช”

หนึ่งในข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมืองคือ ต้องการให้รัฐบาล “ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปวสาน”   ในการทำความเข้าใจสาเหตุของข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯและพระบรมราชวินิจฉัยตอบของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงก่อนวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖

ในหลายตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เสนอบางส่วนของพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อประเด็นต่างๆในเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  เช่น ราษฎรไทยอยู่ในสภาพอดอยากแร้นแค้น, ร้อยละ ๙๐ ของราษฎรไทยเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินและมีทุนพอที่จะทำการเลี้ยงชีพเอง, การบังคับให้ชาวนาชาวไร่เป็นลูกจ้างรัฐโดยเป็นข้าราชการจะไม่มีปัญหาเพราะราษฎรไทยชอบเป็นข้าราชการ เป็นต้น

ประเด็นที่จะกล่าวถึงในตอนนี้คือ ประเด็นที่หลวงประดิษฐ์ฯได้กล่าวไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจว่า หากไม่ใช้เค้าโครงเศรษฐกิจที่เขาร่างมาก็จะไม่สามารถแก้ปัญหา “แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก”

โดยหลวงประดิษฐ์ฯได้กล่าวว่า “น่าเสียใจซึ่งที่ดินของเรายังอุดมอยู่แล้วนี้ ยังมิได้ใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เพราะการประกอบเศรษฐกิจตามทำนองที่เอกชนต่างคนต่างทำดังที่เป็นมาแล้ว ทำให้แรงงานสิ้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์บ้าง แรงงานต้องใช้เปลืองไปโดยใช่เหตุบ้าง และขาดเครื่องจักรกลที่ช่วยแรงงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นบ้าง มีพวกหนักโลกบ้าง.....แรงงานสูญ ๔๐% จะเห็นได้ว่า ชาวนาซึ่งเป็นพลเมืองส่วนมากของประเทศไทยทำนาปีหนึ่งคนหนึ่งไม่เกิน ๖ เดือน (รวมทั้ง ไถ หว่าน เกี่ยว ฯลฯ) ยังมีเวลาเหลืออีก ๖ เดือนซึ่งต้องสูญเสียไป ถ้าหากเวลาที่เหลืออีก ๖ เดือนนี้ ราษฎรมีทางที่ใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางการประกอบเศรษฐกิจได้แล้ว  ความสมบูรณ์ของราษฎรก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นได้ ข้าพเจ้ายินดีจะได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้สนใจในการเศรษฐกิจว่า การที่แก้ไขให้ราษฎรได้ใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่นี้ให้เป็นประโยชน์ได้ ด้วยวิธีที่ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำนั้นสำเร็จได้อย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่าจะมีอยู่ก็แต่รัฐบาลที่จะกำหนดวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้ราษฎรได้ใช้เวลาที่เหลืออีก ๖ เดือนนี้เป็นประโยชน์” [1]

และ “ในประเทศไทยนี้ มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลก อาศัยบุคคลอื่นกินมีจำนวนไม่น้อย กล่าวคือ ตนไม่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ หรือการใด ให้เหมาะสมแก่แรงงานของตน อาศัยเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็กๆน้อยๆ เช่น ในกรุงเทพฯหรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตดูตามบ้านของคนชั้นกลางหรือของผู้มั่งมีแล้ว ก็จะเห็นว่าผู้ที่อาศัยกินมีอยู่เป็นจำนวนมาก...ไม่มีวิธีใดดีกว่าที่รัฐบาลจะจัดประกอบเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางที่จะบังคับให้ราษฎรประเภทนี้ทำงาน จึงจะใช้แรงงานของผู้หนักโลกนี้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้” [2]          

สำหรับคำว่า  “พวกหนักโลก” นี้  หลวงประดิษฐ์ฯได้วงเล็บภาษาอังกฤษไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ว่า “social parasite”  [3]  หรือ“ปรสิตสังคม”    ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๖  ยังไม่มีคำแปล parasite ว่า ปรสิต [4]

ปัจจุบัน คำว่า ปรสิต หรือ parasite ที่รู้จักกันในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ หมายถึง  “สิ่งมีชีวิตที่อาศัยผู้อื่นหรือเซลล์ชนิดอื่นเป็นที่พักอาศัยและแหล่งอาหาร และบางครั้งทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์นั้นหรือเซลล์ภายในจนเจ็บป่วยหรือถึงกับเสียชีวิต เช่น การอาศัยอยู่สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำในร่างกายมนุษย์ ตัวอย่าง พยาธิ”   ดังนั้น พยาธิ จึงเป็นหนึ่งในปรสิตชนิดหนึ่ง [5]   

คำว่า parasite เริ่มใช้ในภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1539  มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน parasitus ซึ่งมีรากมาจากภาษากรีกโบราณ  parasitos  โดย  para แปลว่า “อยู่ข้างๆ” ส่วนคำว่า sitos แปลว่า “ข้าวสาลีหรืออาหาร”  ดังนั้น คำว่า parasitos ในภาษากรีกโบราณจึงหมายถึง “คนที่กินอาหารบนโต๊ะของคนอื่น”  นั่นคือ คนที่อยู่ข้างๆโต๊ะอาหารของคนอื่นและคอยกินอาหารจากโต๊ะนั้น 

จะเห็นได้ว่า คำว่า parasitos ในภาษากรีกโบราณยังไม่ได้หมายถึง “สิ่งมีชีวิตที่อาศัยผู้อื่นหรือเซลล์ชนิดอื่นเป็นที่พักอาศัยและแหล่งอาหาร และบางครั้งทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์นั้นหรือเซลล์ภายในจนเจ็บป่วยหรือถึงกับเสียชีวิต เช่น การอาศัยอยู่สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำในร่างกายมนุษย์ ตัวอย่าง พยาธิ”  คนกรีกโบราณยังไม่ได้ค้นพบ “ตัวปรสิต” อย่างที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ค้นพบ  แต่ parastios เป็นคำที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ในแง่ลบ ไว้ใช้เรียกคนที่อาจจะกินอาหารของคนอื่นจริงๆตรงตามตัวอักษร หรือคนที่หากินหรือเอาเปรียบคนอื่นในลักษณะต่างๆ parasios  ถือเป็นหนึ่งวาทกรรมทางการเมืองในสังคมเอเธนส์ [6]

ในสังคมเอเธนส์ โดยส่วนใหญ่ คนที่มักถูกเรียกว่าเป็น parasitos คือ พวกคนจนที่ไม่สามารถแม้กระทั่งจะหาอาหารยังชีพได้ด้วยตัวเอง และจะเที่ยวไปโผล่ตัวตามบ้านหรือตามงานที่มีการเลี้ยงอาหารโดยไม่ได้รับเชิญ [7]  ซึ่งจะแตกต่างไปจากคำอธิบายของหลวงประดิษฐ์ฯที่ว่า พวกหนักโลก (social parasite) พบได้ “ในกรุงเทพฯหรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตดูตามบ้านของคนชั้นกลางหรือของผู้มั่งมี... จะเห็นว่าผู้ที่อาศัยกินมีอยู่เป็นจำนวนมาก”   

แปลว่า ความหมายของ “พวกหนักโลก” นี้ผันแปรไปตามบริบทกาลเวลาและรวมทั้งแนวคิดทฤษฎีต่างๆทางการเมืองและทางเศรษฐศาสตร์ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องนี้อย่างไร  โปรดติดตามตอนต่อไป  

_________________________________________

[1] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 286.

[2] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 291-292.

[3] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 244.

[4] ภาควิชาปรสิตวิทยา (Parasitology) คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยแยกตัวจากภาควิชาพยาธิวิทยา (Pathology)

[5] ผู้สนใจสามารถเข้าชม “พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา”  ที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2513 โดยการริเริ่มของศาสตราจารย์นายแพทย์วิจิตร ไชยพร บิดาของผู้เขียน ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยาคนแรกและในขณะนั้น   เพื่อรวบรวมพยาธิและสัตว์มีพิษต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ สำหรับใช้ประกอบการสอนและเป็นแหล่งความรู้ทางด้านนี้ https://www.si.mahidol.ac.th/th/department/parasitology/museum.html  และ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.443581083105.236100.144490368105&type=3

[6] Sean Corner, “The Politics of the Parasite (Part One),” Phoenix , Vol. 67, No. 1/2 (Spring-Summer/printemps-été 2013), pp. 43-44.

[7] Sean Corner, “The Politics of the Parasite (Part One),” Phoenix , Vol. 67, No. 1/2 (Spring-Summer/printemps-été 2013), p. 45.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 4)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490