๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๑๘)

 

 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าคำว่า “พวกหนักโลก (social parasite)” ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมใช้ในเค้าโครงเศรษฐกิจนั้น สามารถพบได้เป็นจำนวนมากในงานเขียนของคาร์ล มาร์กซ และ ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (Karl Marx และ Friedrich Engels) สองนักคิดชาวเยอรมันผู้ให้กำเนิดลัทธิคอมมิวนิสม์                          

โดยความหมายที่มาร์กซและเอ็งเงิลส์ใช้ในงานของเขาก็มีความหมายไม่ต่างจากที่หลวงประดิษฐ์ฯใช้ในเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยหลวงประดิษฐ์ฯได้กล่าวถึง “พวกหนักโลก (social parasite)” ไว้ว่า “ในประเทศไทยนี้ มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลก อาศัยบุคคลอื่นกินมีจำนวนไม่น้อย กล่าวคือ ตนไม่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ หรือการใด ให้เหมาะสมแก่แรงงานของตน อาศัยเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็กๆน้อยๆ เช่น ในกรุงเทพฯหรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตดูตามบ้านของคนชั้นกลางหรือของผู้มั่งมีแล้ว ก็จะเห็นว่าผู้ที่อาศัยกินมีอยู่เป็นจำนวนมาก...ไม่มีวิธีใดดีกว่าที่รัฐบาลจะจัดประกอบเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางที่จะบังคับให้ราษฎรประเภทนี้ทำงาน จึงจะใช้แรงงานของผู้หนักโลกนี้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้” [1]   

และส่วนหนึ่งของคำอธิบายที่มาร์กซและเอ็งเงิลส์กล่าวถึง parasite ไว้ คือ “ผู้ที่ไม่ได้ใช้แรงงานของตัวเองในการผลิตสินค้าหรือผลผลิตใดๆ  แต่หากินจากการกดขี่ขูดรีดแรงงานในการผลิตของคนอื่น  เช่น ชนชั้นสูงที่ไม่ได้ใช้แรงงานผลิตอะไรถือเป็น parasite บริสุทธิ์ ชนชั้นสูงที่เก็บกินค่าเช่าที่” [2]

มาร์กซและเอ็งเงิลส์     หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “วิธีการที่จะทำนี้ จริงอยู่มิใช่วิธีคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นวิธีที่รัสเซียเขาใช้อยู่”  [3]

ขณะเดียวกัน หลวงประดิษฐ์ฯเองก็ได้กล่าวยืนยันไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจว่า “เราเกลียดชังลัทธิคอมมิวนิสต์....และเราไม่ดำเนินวิธีริบทรัพย์มาแบ่งกัน...” [4]                                 

ดังนั้น ในท้ายตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ทิ้งประเด็นไว้ว่า เราคงต้องกลับมาที่คำถามที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 นั่นคือ ตกลงแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯและเค้าโครงเศรษฐกิจของเขาเป็นหรือไม่เป็น “คอมมิวนิสต์” กันแน่ ?

การที่จะตัดสินลงไปว่า ความคิดของหลวงประดิษฐ์ฯในเค้าโครงเศรษฐกิจมีความเป็น “คอมมิวนิสต์” เพราะใช้คำว่า “พวกหนักโลก (social parasite)” เหมือนอย่างมาร์กและเอ็งเงิลส์เจ้าลัทธิคอมมิวนิสม์ใช้นั้น น่าจะยังเป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอเท่าไรนัก  เพราะมีข้อเขียนที่ใช้คำว่า parasite มากและมาก่อนหน้างานมาร์กซและเอ็งเงิลส์ และเป็นงานของนักคิดชาวฝรั่งเศส ประเทศที่หลวงประดิษฐ์ฯไปศึกษาด้วย

นักคิดชาวฝรั่งเศสที่ใช้คำว่า parasite ในงานของเขามากพอสมควรคือ ชาร์ลส ฟูริเยต์ (Charles Fourier) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1772-1837  ในขณะที่มาร์กซมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1818-1883

ฟูริเยต์ได้ชื่อว่าเป็น นักคิดสังคมนิยมยุคแรกๆที่ทรงอิทธิพลมากและเป็นหนึ่งในนักคิดสังคมนิยมอุดมคติ (utopian socialism)  และในงานของเขาจะพบการใช้คำว่า parasite อยู่พอสมควร [5] ดังต่อไปนี้คือ

On Trade (ว่าด้วยการค้า) เขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1807-1821 ปรากฏคำว่า parasite อยู่สามครั้ง Fashion and Parasitism (กระแสนิยมและลัทธิปรสิต)  เขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1857-1858 ปรากฏคำว่า parasite อยู่สองครั้ง

The Vices of Commerce  (ความชั่วร้ายของการพาณิชย์) เขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1857-1858 ปรากฏคำว่า parasite อยู่สามครั้ง

แม้ว่าฟูริเยต์จะใช้คำว่า parasite ในงานของเขาก่อนมาร์กซและเอ็งเงิลส์ และมีอิทธิพลต่อความคิดของมารกซ์และเอ็งเงิลส์ แต่เอ็งเงิลส์ยืนยันถึงความแตกต่างระหว่างความคิดของฟูริเยต์กับความคิดของเขาและมาร์กซ โดยกล่าวว่า “ในระบบทั้งหมดที่ยังคงมีความสำคัญอยู่ทุกวันนี้ มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ นั่นคือ ระบบของฟูริเยต์ “ [6]   

นั่นหมายความว่า ความคิดสังคมนิยมของฟูริเยต์ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่กระนั้นก็ยังทรงอิทธิพลอยู่ในช่วงเวลาที่มาร์กซและเอ็งเงิลส์เขียนงานของตัวเองอยู่                                             

และที่น่าสนใจคือ หลวงประดิษฐ์ฯได้ยืนยันอีกครั้งหลังจากที่เขาเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งในเค้าโครงเศรษฐกิจว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และทั้งมิได้นิยมชมชื่นคอมมิวนิสต์แม้แต่น้อยเลย ข้าพเจ้ายอมรับแต่ว่า ข้าพเจ้าเป็นราดิคัล และเป็นราดิคัลที่เป็นไปในแนวของลัทธิโซเชียลลิสต์ (สังคมนิยม/ผู้เขียน)” [7]               

และก็น่าสนใจอีกเช่นกันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์ว่า “จริงอยู่มิใช่วิธีคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นวิธีที่รัสเซียเขาใช้อยู่และประเทศต่างๆเขาเห็นว่า วิธีนี้แหละที่เป็นอันตรายแก่สันติสุขของโลก” [8

ตอนต่อไป เราจะมาดูกันว่า parasite ในความคิดของฟูริเยต์จะเหมือนหรือต่างจาก parasite ของมาร์กซและเอ็งเงิลส์ และ parasite ของหลวงประดิษฐ์ฯเหมือนของใครมากกว่ากัน ? และอาจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ปารีสของหลวงประดิษฐ์ฯเป็นใคร ? และมีแนวความคิดอย่างไร ?  และแนวคิดสังคมนิยมราดิคัลมีพื้นที่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่หรือไม่ ?          

[1] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 291-292.

[2] Karl Marx, Capital Vol. IV, “In the first place therefore it becomes a principal task for the sycophants of this society, and especially of the upper classes, to restore in theoretical terms even the purely parasitic section of these “unproductive labourers”, or to justify the exaggerated claims of the section which is indispensable.” และ “Secondly, however, a section of the agents of production (of material production itself) were declared by one group of economists or another to be “unproductive”. For example, the landowner, by those among the economists who represented industrial capital (Ricardo). Others (for example Carey) declared that the merchant in the true sense of the word was an “unproductive” labourer.”

[3] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 285-286.

[4] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 264.

[5] Charles Fourier Archive, https://www.marxists.org/reference/archive/fourier/.

[6] “Of all the systems which are still of any importance today, the only one which is not communistic is that of Fourier,..”   Frederick Engels, “Speeches in Elberfeld,” in Marx and Engels Collected Works,             Volume 4, Marx and Engels 1844-45, (Lawrence & Wishart Electric Book: 2010). p. 263.

[7] วิเทศกรณีย์ (นามแฝง), ความเป็นมาของระบอบประชาธิปไตยของไทย, หน้า 180 อ้างใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540),  จัดพิมพ์โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2563), หน้า 48.

[8] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 285-286.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 4)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490