เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๑๖): การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการยุบสภาเมื่อใกล้ครบวาระของอังกฤษ

 

ในปี ค.ศ. 2011 อังกฤษได้มีการออกพระราชบัญญัติที่เรียกว่า the Fixed-Term Parliament ที่กำหนดให้การยุบสภาก่อนครบวาระจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนสองในสาม ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีในการยุบสภาครั้งใหญ่ของอังกฤษและของโลกเลยก็ว่าได้

ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน  กล่าวว่า

“ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันทำให้ระบบรัฐสภาเพี้ยน คือว่า ดุลอำนาจมันไม่มีอีกต่อไปแล้ว ที่จะให้ฝ่ายบริหารยุบสภาได้ ไม่มีความหมายแล้ว ถ้าให้สภาประกาศยุบสภาด้วยตัวเอง เพราะมันไม่มีใครยุบหรอกครับ อาจารย์ แม้กระทั่ง ส.ส.รัฐบาลเองก็จะไปโหวตกับฝ่ายค้านว่าไม่ยุบ เพราะฉะนั้นให้สภายุบสภาเอง ก็เหมือนไม่มียุบสภา มันเคยเกิดขึ้นแล้ว รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส สาธารณรัฐที่ ๓ บอกว่าการยุบสภา  ประธานาธิบดีต้องปรึกษากับเซเนตก่อน แล้วเซเนต ก็พวกพรรคการเมืองนั่งอยู่ มันไม่ให้ยุบหรอก” 

ในทรรศนะของอาจารย์บวรศักดิ์ พ.ร.บ. “the Fixed Term Parliament” (วาระที่แน่นอนของสภา) พ.ศ. 2554 (2011) ของอังกฤษเป็นการทำให้ระบบรัฐสภาเบี่ยงเบนเสียสมดุลในสัมพันธภาพระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ 

แต่ผู้เขียนเห็นต่างจากอาจารย์บวรศักดิ์ ในส่วนที่ว่า หากนำหลักการ ““การยุบสภาโดยการตัดสินใจของสภา” มาใช้กับการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย อาจจะได้ผลดีก็เป็นได้  และแน่นอนว่า แนวโน้มน่าจะเป็นไปอย่างที่อาจารย์บวรศักดิ์ คาดการณ์ นั่นคือ ยากที่ ส.ส.ในสภาจะลงมติยุบสภา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเงื่อนไขที่จะต้องได้เสียงข้างมากพิเศษ อันได้แก่ 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 5   

และหากระบบพรรคการเมืองเป็นระบบหลายพรรคที่รัฐบาลจะต้องเป็นรัฐบาลผสม โอกาสที่จะยุบสภาก็จะยากขึ้น และก็จะเป็นไปตามที่สถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA, International Institute for Democracy and Electoral Assistance)  ได้วิเคราะห์ไว้ว่า  “สมาชิกพรรคในรัฐบาลผสมที่ฐานเสียงไม่มั่นคงจะพยายามคัดค้านการยุบสภา เพราะพวกเขาจะต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงในการเลือกตั้งมากกว่าสมาชิกพรรคอาวุโสที่มีฐานเสียงมั่นคงเข้มแข็ง   การให้สภาต้องมีมติเสียงข้างมาเด็ดขาดถึงจะยุบสภาได้ ส่งผลให้เกิดการต่อรองของพวกเขากับสมาชิกอาวุโสในพรรครัฐบาลผสมมีน้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลผสมจะไปไม่รอด ที่เป็นเช่นนี้เพราะสมาชิกสภาที่ฐานเสียงไม่มั่นคงจะพยายามซื้อเวลาที่จำเป็นในการแสวงหาการเจรจาต่อรองกับพรรคอื่นๆเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่มากกว่าที่จะเสี่ยงกับการยุบสภาและการเลือกตั้ง” 

ขณะเดียวกัน หากระบบพรรคการเมืองเป็นระบบสองพรรค และเป็นรัฐบาลพรรคเดียว หรือถ้าผสมก็ไม่มากนัก  โอกาสที่สภาจะยุบสภาก็ยิ่งจะยากกว่าในระบบหลายพรรค เพราะถ้าการยุบสภาต้องอาศัยเสียงข้างมากพิเศษ  โอกาสที่สมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งจะเห็นพ้องต้องกันในการยุบสภาจะยากกว่าระบบหลายพรรค หากรัฐบาลของพรรคการเมืองใดมีปัญหา พรรคคู่แข่งต้องมุ่งที่จะหาทางเข้ามาเป็นรัฐบาลเสียเองมากกว่าที่จะยุบสภา  ซึ่งข้อดีก็จะเป็นอย่างที่สถาบัน IDEA กล่าวไว้ นั่นคือ สภาจะหา “หนทางอื่นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจยุบสภา อันได้แก่ การเปลี่ยนรัฐบาลในกรณีที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ หรือการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในกรณีที่ผลการเลือกตั้งไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากชัดเจน”  หลักการนี้จะทำให้มีการยุบสภาก่อนสภาครบวาระเกิดขึ้นได้ยาก สภาจะมีความต่อเนื่องมากขึ้น ความเป็น ส.ส. จะมีความยั่งยืนมั่นคงกว่าการเป็นรัฐมนตรี และอาจจะส่งผลให้ ส.ส. เห็นความสำคัญของการเป็นตัวแทนประชาชนที่ทำหน้าที่ในสภามากขึ้น

แต่กระนั้น ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์อย่างในกรณีการยุบสภาฯในเยอรมนี ค.ศ. ๑๙๘๒ และ ค.ศ. ๒๐๐๕ ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในกรณีของเยอรมนีในปี ค.ศ.  1982  และ ค.ศ. 2005 (ผู้สนใจย้อนดูตอนที่ 13)  ที่นายกรัฐมนตรีสามารถทำให้สมาชิกสภาฯพรรคของตนลงมติไม่สนับสนุนในญัตติไว้วางใจ อันส่งผลให้ต้องมีการยุบสภาฯตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่ในความเป็นจริง สมาชิกสภาฯเหล่านั้นยังคงสนับสนุนไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอย่างเข้มแข็ง เพียงแต่นายกรัฐมนตรีต้องการยุบสภาฯเพื่อหวังจะได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งทั่วไปเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

กระนั้นก็ดี ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความเห็นของอาจารย์บวรศักดิ์ ต่อ พ.ร.บ. “the Fixed Term Parliament” (วาระที่แน่นอนของสภา) พ.ศ. 2554 (2011) ของอังกฤษ ที่อาจารย์บวรศักดิ์เห็นว่าเป็นการทำให้ระบบรัฐสภาเบี่ยงเบนเสียสมดุลในสัมพันธภาพระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติและทำให้ระบบรัฐสภาเพี้ยนไป ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงหลักการการยุบสภาที่ว่านี้ได้เกิดขึ้นกับประเทศที่เป็นต้นแบบของประเพณีการปกครองแบบรัฐสภาเอง ซึ่งน่าคิดว่า ตกลงแล้ว หลักการการยุบสภาที่เปลี่ยนแปลงไปในอังกฤษกำลังทำให้ระบบรัฐสภาของอังกฤษผิดเพี้ยนไปจากประเพณีการปกครองระบบรัฐสภาเสียเอง  หรือนี่คือวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของประเพณีการปกครองระบบรัฐสภาของอังกฤษที่มีประสบการณ์ในระบบรัฐสภายาวนานที่สุดในโลก  การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้อาจจะเหมาะสมสำหรับเฉพาะประเทศอังกฤษ  หรือว่าหลักการนี้จะต้องเป็นแบบแผนอีกขั้นตอนหนึ่งที่ประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษจะต้องพัฒนาไปสู่การใช้หลักการที่ว่านี้

สำหรับบริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่า ควรให้มีการเผยแพร่ “ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกลไกการทำงานของระบอบการปกครองระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”    ด้วยประชาชนชาวไทยปัจจุบันมีพื้นฐานการศึกษาอ่านออกเขียนได้  แต่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแบบแผนการทำงานของระบบรัฐสภา  อีกทั้งยังได้รับข้อมูลที่ผิดๆ จากการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อของคู่ขัดแย้งทางการเมือง เช่น ประชาชนเข้าใจว่าหลังจากการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะต้องปล่อยให้รัฐบาลทำงานครบสี่ปี โดยอ้างอิงกับระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ในระบบรัฐสภามิได้จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น รัฐบาลอาจจะอยู่ครบวาระหรือไม่ก็ได้ การอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจ การลาออก และการยุบสภาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในระบบรัฐสภา และไม่ถือเป็นเรื่องผิดปรกติ หรือการมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ เป็นต้น

นอกจากการป้องกันปัญหาการยุบสภาอย่างไม่ถูกต้องตามประเพณีการปกครองระบบรัฐสภาด้วยวิธีการ “บัญญัติหลักการหรือเงื่อนไขที่จำเป็นให้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร” แล้ว อาจารย์บวรศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงอีกแนวทางหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นั่นคือ

“…..ทางที่สองคือ พูดกันตรงๆ ก็คือว่ามันต้องมี political sanction และ political sanction คราวนั้นก็เห็นชัดว่าคือการนำไปสู่ความวุ่นวายและการรัฐประหาร political sanction” (สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อวันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559)              

ซึ่งแนวทางของ “political sanction” ที่อาจารย์บวรศักดิ์ กล่าวถึงนี้ ผู้เขียนตีความได้ 2 อย่าง อย่างแรกคือ หากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองระบบรัฐสภา สิ่งที่จะทัดทานได้คือ “political sanction” จนในที่สุดนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจยุบสภาอย่างไม่ถูกต้องตามประเพณีนั้นจะไม่ได้ประโยชน์จากวิธีการนี้  

อย่างที่สองคือ การชี้ให้เห็นถึงบทเรียนหรือผลพวงความเสียหายของการยุบสภาที่ไม่ถูกต้องตามประเพณี เพื่อนักการเมืองและสาธารณชนจะได้ตระหนักรับรู้เข้าใจร่วมกันว่า ไม่ควรที่จะใช้การยุบสภาอย่างไม่ถูกต้อง หากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง ก็จะเกิด “political sanction” และ “political sanction” ก็เป็นสิ่งที่ชอบธรรม

อย่างไรก็ตาม ในอย่างแรก นั่นคือ หากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองแบบรัฐสภา สิ่งที่จะทัดทานได้คือ “political sanction” จนในที่สุดนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจยุบสภาอย่างไม่ถูกต้องตามประเพณีนั้นจะไม่ได้ประโยชน์จากวิธีการนี้   แต่ข้อเสียของแนวทางนี้คือ มีต้นทุนสูงมาก เพราะ “political sanction” อาจจะนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย การจลาจลและความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจ และหากต้องลงเอยด้วยการรัฐประหาร ก็จะเป็นความเสียหายทางการเมืองครั้งใหญ่กว่าจะฟื้นฟูกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยตามปรกติได้ และอาจจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ทางการเมืองหากประเทศในประชาคมโลก “sanction” การรัฐประหารและรัฐบาลที่มารักษาการณ์หลังจากนั้น 

แต่ถ้าจะเน้นไปที่อย่างที่สอง ก็จะต้องมีการเผยแพร่สื่อสารให้สังคมรับรู้ถึงหลักการและเหตุผล หรือจะเรียกตามอาจารย์บวรศักดิ์ ก็ได้ว่า “ตรรกะของระบบรัฐสภา” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีการยุบสภาในระบบรัฐสภา  ที่โดยส่วนใหญ่ในประเทศต่างๆ ที่ใช้ระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะไม่ได้เขียนไว้อย่างละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษร 

แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับทั้งสองอย่างข้างต้นนี้ก็คือ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรมีกฎเกณฑ์หรือประเพณีอะไรที่มากไปกว่าอำนาจวินิจฉัยตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์เหตุผลหรือประเพณีใดๆ นั่นคือ การยุบสภาไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขอะไร หากนายกรัฐมนตรีต้องการจะยุบเมื่อไรก็ยุบได้ ซึ่งความคิดดังกล่าวนี้เป็นเพียง “ความเชื่อ” และไม่เป็นไปตามแบบแผนประเพณีการปกครองของอังกฤษซึ่งเป็นประเทศต้นแบบการปกครองระบบรัฐสภา ยกเว้นสังคมไทยจะเห็นพ้องต้องกันที่จะสถาปนาหลักการการยุบสภาโดยไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขอะไร ไว้ใช้เฉพาะกับการเมืองไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490