พรรคการเมืองไทย

 

การมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรก พ.ศ. 2498 ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีที่มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นเรื่องดีที่มีการส่งเสริมให้นักการเมืองรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความเห็นพ้องในอุดมการณ์ของพรรค

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรกกลับส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของนักการเมืองเป็นกลุ่มก้อนภายใต้ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เป็นเอกบุคคลหรือคณะบุคคล ทำให้ผู้มีอำนาจหรือคณะบุคคลสามารถควบคุมนักการเมืองต่างๆที่มาเข้าสังกัดได้ง่ายขึ้น  โดยเน้นไปที่การตอบแทนผลประโยชน์ส่วนตัวกันมากกว่าจะเป็นเรื่องมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน

และเมื่อผู้มีอำนาจทางการเมืองมีอันต้องลี้ภัยไปอย่างในกรณีของจอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ พรรคเสรีมนังคศิลาก็เสื่อมสลาย นักการเมืองในสังกัดก็แยกย้ายกันไปเข้าพรรคการเมืองอื่นหรือเข้าหาผู้มีอำนาจทางการเมืองอื่น หรืออย่างในช่วงก่อนหน้าการเกิดรัฐประหาร 15 กันยายน พ.ศ. 2500 เกิดวิกฤตการเมืองและการเสื่อมความนิยมต่อพรรคเสรีมนังคศิลา จะพบการแตกตัวออกจากพรรคไปก่อตั้งพรรคใหม่โดยทันที อันได้แก่ การแตกตัวของนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เคยสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาไปตั้งพรรคใหม่ที่ชื่อว่า พรรคสหภูมิ ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เป็นคู่แข่งกับจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น  และสามารถที่จะพลิกหันกลับมาทำลายพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่พวกตนเคยสังกัดได้ทันที

และหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาว่า พรรคสหภูมิ ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนทั้งสิ้น 45  ที่นั่งในจำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 160 ที่นั่ง  จะเห็นได้ว่า  แม้ว่าจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ก็ยังไม่เกินกึ่งหนึ่งไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น จอมพลสฤษดิ์จึง “คิดปรับปรุงพรรคสหภูมิเสียใหม่ โดยรวมเอาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาเดิมมาร่วมกับพรรคสหภูมิ แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า ‘พรรคชาติสังคม’ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค”

การจดทะเบียนจัดตั้งพรรคชาติสังคม ที่เกิดขึ้นจากการยุบรวมเอาสมาชิกพรรคสหภูมิจำนวน 45 คนและสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพียง 4 คนหลังจากที่ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่เป็นการเลือกตั้งสกปรก พรรคเสรีมนังคศิลาได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 85 ที่นั่ง ขึ้นมาภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ถือเป็นเรื่องผิดวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งที่ต้องการสะท้อนเจตจำนงและความต้องการเลือกสมาชิกพรรคการเมืองใดที่ตนเห็นชอบ เพราะประชาชนเลือกผู้สมัครพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลาที่เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498  แต่จู่ๆ หลังการเลือกตั้ง สมาชิกพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลายอมยุบพรรคและหันไปเป็นสมาชิกพรรคชาติสังคมที่ประชาชนไม่รู้จักและไม่เคยเกิดขึ้นมาในขณะที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 

หนึ่งในผู้มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อความผิดประหลาดนี้ คือ ตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองพรรค และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่อยู่เบื้องหลังพรรคสหภูมิและอยู่เบื้องหลังการยุบรวมและตั้งพรรคชาติสังคมขึ้นมา

ต่อมาคือ ประชาชนที่เลือกพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลาแล้วกลับนิ่งเฉยยอมรับการยุบไปรวมเป็นพรรคการเมืองใหม่ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังที่ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ได้ให้ข้อสังเกตไว้ในปี พ.ศ. 2511 ว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า สมาชิกของพรรคชาติสังคมนั้นส่วนใหญ่ หาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในนามของพรรคมาก่อนไม่ หากได้รับเลือกตั้งมาในนามของพรรคและนโยบายต่างๆ กัน อาทิ พรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลา ภายหลังที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วก็เข้ามาร่วมพรรคกันตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจ”

และการยอมยุบพรรคตัวเองเพื่อไปร่วมกับพรรคอื่นหรือพรรคใหม่ของผู้มีอำนาจก็เป็นไปเพื่อ หวังผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรี ดังที่ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ก็ได้กล่าวไว้อีกด้วยว่า แม้มายุบรวมเป็นพรรคเดียวกันแล้ว “แต่ต่างฝ่ายต่างก็ยังคงยึดถือว่าตนเป็นพรรคนั้นพรรคนี้มาก่อน มีการแบ่งแยกกันออกเป็นพวกเป็นเหล่าเช่นในคราวตั้งคณะรัฐมนตรี ก็มีการกำหนดโควตากันว่า ควรเป็นสมาชิกพรรคสหภูมิเท่านั้น อดีตเสรีมนังคศิลาเท่านี้”

และแม้นว่าจะมาร่วมกันเป็นพรรคการเมืองใหม่แล้ว แต่ก็ยังคงดำรงความขัดแย้งที่เคยมีอยู่ด้วย นั่นคือ “การที่สมาชิกพรรคสหภูมิ และอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาไม่ค่อยจะลงรอยกันนี้ เนื่องมาจากว่าสมาชิกพรรคสหภูมิมีความไม่พอใจที่รวมเอาอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลามาร่วมกับพรรคสหภูมิ เพราะตอนที่หาเสียงเลือกตั้ง สมาชิกพรรคสหภูมิได้โจมตีพรรคเสรีมนังคศิลาอย่างรุนแรง เมื่อรวมกันเช่นนี้จะทำให้ราษฎรขาดความเชื่อถือได้”

และเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ก็ทำให้ความขัดแย้งภายในพรรคขยายตัวลุกลามไปโดยเฉพาะเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ป่วยต้องไปรับการรักษาตัวในต่างประเทศ “ก็ได้เกิดความสับสนอลเวงภายในพรรค ทั้งนี้ เนื่องมาจากการขัดแย้งกันภายในพรรคระหว่างสมาชิกพรรคสหภูมิกับอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา” อีกทั้ง “บรรดาลูกพรรคทั้งหลายต่างก็เรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆจากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเคยได้รับความสะดวกสบายในเรื่องเงินทองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม พอมาอยู่ในพรรคชาติสังคมก็ต้องการได้รับความช่วยเหลือในเรื่องเงินทองบ้าง เมื่อทางพรรคไม่อาจสนองความต้องการได้ ก็มีปฏิกิริยาในทำนองไม่พอใจ ถึงกับคิดจะปลีกตัวไปรวมกับพรรคการเมืองใหม่ พรรคประชาราษฎร์”

ดังนั้น จากที่กล่าวมาข้างต้น เราได้ประจักษ์ถึงปรากฎการณ์ทางการเมืองของการย้ายพรรค, ยุบพรรค รวมพรรคที่เกิดขึ้นชัดเจนเป็นครั้งแรกภายใต้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรก พ.ศ. 2498 และได้กลายเป็นวงจรอุบาทว์ (vicious cycle) ของการยุบ ย้ายพรรค รวม ตั้งพรรคตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจและเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและกลุ่มก๊วน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะและเจตจำนงของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้ตนและพวกตนได้เข้ามามีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนอยากชวนให้พิจารณาคำกล่าวของ เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ ในปี พ.ศ. 2508 ต่อปรากฎการณ์ของพรรคการเมืองในการเมืองไทยขณะนั้น เดชชาติ ได้กล่าวว่า

“…พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นโดยพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 มีลักษณะเป็นพรรคการเมืองเพียงไม่กี่พรรค นอกจากนั้นเป็นการรวมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นกำลังที่จะไปต่อรองกับรัฐบาลในการขอผลประโยชน์ทางการเมือง พรรคการเมืองไทยมีสมาชิกจำนวนจำกัด และไม่มีประชาชนเข้าเป็นสมาชิกด้วยตามความหมายของพรรคการเมืองที่แท้จริง ผู้แทนราษฎรซึ่งเข้ามารวมกันเป็นพรรคการเมืองก็ไม่ได้หาเสียงในนามของพรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นการหาเสียงส่วนตัวของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อได้รับการเลือกตั้งก็มารวมกันเข้าเป็นกลุ่มบุคคล เพื่อจะเจรจาต่อรองผู้มีอำนาจว่า ผลประโยชน์ต่างๆ ในทางการเมืองควรจะแบ่งสันปันส่วนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนมีความอิดหนาระดาใจเป็นอย่างมาก”

และเมื่อความยุ่งยากภายในพรรคผสมกับปัญหาภายนอกพรรคที่เกิดจากพรรคจนเกิดความสับสนวุ่นวายสร้างความอิดหนาระอาใจให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ในที่สุดผู้มีอำนาจทางทหารก็ใช้เป็นข้ออ้างก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ และมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่โดยการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาการเมืองที่ผ่านมา และวงจรอุบาทว์ของพรรคการเมืองไทย (vicious cycle) ที่เกิดขึ้นหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 และปรากฎการณ์ทางการเมืองที่ตามมานี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดวงจรทางการเมืองที่ต่อมาในปี พ.ศ. 2527

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้บัญญัติศัพท์คำว่า “วงจรอุบาทว์ (vicious cycle)” เพื่ออธิบายลักษณะเด่นของปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยที่อยู่ในวังวนของการเลือกตั้ง-ซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้ง-ทุจริตคอร์รัปชัน-วิกฤตทางการเมือง-รัฐประหาร-รัฐธรรมนูญใหม่-การเลือกตั้ง

มีข้อสังเกตว่า การทำรัฐประหารสองครั้งหลัง คือ พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 จะยังคงสามารถอธิบายภายใต้ “วงจรอุบาทว์” ที่อาจารย์ชัยอนันต์ได้กล่าวไว้ในปี พ.ศ. 2527 ได้หรือไม่ ? 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'เพื่อไทย' จ่อเคลียร์ใจ 'ปานปรีย์' ชวนนั่งกุนซือพรรค ไม่รู้ 'นพดล' เสียบแทน

'เลขาฯ เพื่อไทย' รับต้องคุย 'ปานปรีย์' หลังไขก๊อกพ้น รมว.ต่างประเทศ แย้มชงนั่งที่ปรึกษาพรรค มั่นใจไม่เกิดแรงกระเพื่อม ปัดวางตัว 'นพดล' เสียบแทน ชี้ 'ชลน่าน-ไชยา' หน้าที่หลักยังเป็น สส.

พท. จัดใหญ่! '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' ตีปี๊บผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา'

'เพื่อไทย' เตรียมจัดงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' สรุปผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา' 3 พ.ค.นี้ เดินหน้าเติมนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน พร้อมเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.

‘เศรษฐา’ แจงยิบปรับครม. ขอโทษ ‘ปานปรีย์’ ทำให้ไม่สบายใจ บอกมีคนแทนในใจแล้ว

‘เศรษฐา’ เผย ส่งข้อความผ่านกลุ่มงานต่างประเทศขอโทษ ‘ปานปรีย์’ ถ้าทำให้ไม่สบายใจ บอกได้คุยกันก่อนปรับ ครม.แล้ว ชี้มีทั้งคนสมหวัง-ผิดหวัง พร้อมรับผิดชอบ แย้มมองหาคนใหม่ตั้งแต่เมื่อคืน ดีกรี การทูต-การเมือง ทำงานเบื้องหลัง’เพื่อไทย’ มานาน

‘หมอเชิด’ สะกิดเตือน ‘เศรษฐา’ หมอคุมยาก เปลี่ยนตัว ‘รมว.สธ.’ เกิดปัญหาแน่

‘หมอเชิด’ แนะ’เศรษฐา’ฟังเสียงสมาชิกพรรคเพื่อไทย ในฐานะคนที่ยกมือให้ด้วย พร้อมระบุหมอควบคุมยาก เปลี่ยนตัวรมว.สธ.เกิดปัญหาแน่