ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932  (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

พระบรมวงศานุวงศ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตรับสั่งให้นำรถเพียง 3 คันจากรถทั้งหมดของพระองค์ในบางกอกไปมาเลเซีย ขณะนี้ พระองค์เสด็จประพาสชวา และดูเหมือนว่าจะเลื่อนการเสด็จยุโรปอย่างไม่มีกำหนด

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน) ซึ่งถูกหนังสือพิมพ์โจมตีอย่างรุนแรง ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว (อ้างอิง รายงานฉบับที่ 29A วันที่ 11 สิงหาคม 2475) ทั้งไม่ถูกควบคุมตัวในวัง และร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำที่สโมสรโรตารี่อย่างเสรีเมื่อไม่กี่วันก่อน

รัฐบาลชุดใหม่ มีการตัดสินใจที่บ่งบอกถึงภารกิจของรัฐบาลใหม่ออกมาในแต่ละวัน แต่การตัดสินใจเหล่านี้ไม่ได้ให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแผนการโดยรวมที่มาใช้อย่างเป็นระบบ การตัดสินใจดังกล่าวแตกต่างกันไปแต่ละวัน เช่น โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคเหนือ การซ่อมแซมระบบคลองจำนวนมากในบางกอก เพื่อให้สอดคล้องกับสมญานาม ‘เวนิสตะวันออก’ สิ่งหนึ่งที่เราพอจะพูดได้ถึงโครงการเหล่านี้คือ ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลดูจะไม่มี นอกจากนั้น ยังอาจโต้แย้งได้ว่า ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนแต่อย่างใด  มาตรการอื่นๆที่สำคัญน้อยกว่านั้น ได้แก่ การให้ข้าราชการเลิกใส่ชุดผ้านุ่งเปลี่ยนมาสวมกางเกางแบบยุโรปแทน  มาตรการเช่นนี้ที่ดูภายนอกเหมือนไม่สำคัญ กลับก่อให้เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ พันเอกผู้บัญชาการกรมสรรพาวุธ ผู้อยากปฏิรูปจนเกินเหตุ ทำให้มาตรการซึ่งรัฐบาลประเมินว่าจะทำหรือไม่ทำ ก็ได้กลายเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำทันที และด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากผู้ใต้บังคับบัญชา ในขณะเดียวกัน พวกพ่อค้าชาวจีนที่ขายผ้าเพื่อตัดเย็บผ้านุ่งต่างก็โวยวายว่า มาตรการใหม่นี้จะจบลงด้วยการทำให้พวกเขาสิ้นเนื้อประดาตัว

อีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลใหม่น่าจะนำมาใช้และลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ คือ การประกาศว่า นับแต่นี้ไป ให้เสื้อทหารมีกระดุม 7 เม็ดจากเดิม 5 เม็ด

จากตัวอย่างดังกล่าว ดูเหมือนรัฐบาลชุดใหม่จะแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ดีมากกว่าวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มาตรการต่างๆที่รัฐบาลใช้หรือประกาศอย่างเป็นทางการตลอด 2 เดือนมานี้ ดูจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นการปฏิรูปที่ไม่สำคัญอะไรและทำได้ทันที  ประเภทที่สอง เป็นการประกาศโครงการสำคัญๆ....ที่อาศัยระยะเวลาเพื่อทำให้เป็นจริง อาจเป็นได้ว่าที่กระทำการเช่นนี้ก็เพื่อถ่วงเวลาระหว่างที่รัฐบาลกำลังทำงานอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์อยู่

อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงหนึ่งที่ควรสังเกตคือ พระยาศรีวิศาลวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน ประกาศไว้ในสุนทรพจน์ที่กล่าวต่อสโมสรอัสสัมชัญ (สโมสรนักเรียนเก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ) ในฐานะผู้มีอำนาจรับผิดชอบว่า จำเป็นอย่างที่สยามจะต้องรักษาสัมพันธไมตรีอันดีกับมหาอำนาจยุโรปทั้งสอง ซึ่งขนาบข้างสยามอยู่ นั่นคือ ทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส (อ้างอิง รายงานหนังสือพิมพ์ฉบับที่ 31 หน้า 1)  (อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าทราบจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่า เมื่อไม่นานมานี้ ดูเหมือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะส่งจดหมายเวียนไปยังหน่วยงานต่างๆทุกหน่วย เพื่อขอลดจำนวนที่ปรึกษาหรือข้าราชการชาวยุโรป ซึ่งทำงานให้รัฐบาลสยามให้ได้มากที่สุด)

รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประเสริฐสงคราม (น่าจะเข้าใจผิด เพราะยศสูงสุดของพระยาประเสริฐสงครามคือ พลตรี/ผู้เขียน) เพิ่งถูกแทนที่ด้วยรัฐมนตรีว่าการก็คือ พลเรือเอก พระยาราชวังสัน ผู้แทนสยามประจำองค์การสันนิบาตชาติ ณ กรุงเจนีวา ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับมายังสยาม ถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเรา เพราะรัฐมนตรีคนใหม่พูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว และชื่นชอบฝรั่งเศส

ในการสนทนากับพระยาราชวังสันเมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าจับความได้ 2 เรื่องสำคัญคือ เขาเห็นด้วยกับการลดกำลังพลในกองทัพสยามปัจจุบันและการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ข้าพเจ้ายืนกรานไปว่า ต่อเรื่องนี้ เขาจะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลแห่งอินโดจีน”

บทสรุป แม้เหตุการณ์โดยผิวเผินจะดูเงียบสงบ แต่รัฐบาลชุดใหม่ก็ยังคงรู้สึกไม่มั่นคง และยังคงใช้รถถังกับรถหุ้มเกราะติดปืนกลคุมสถานการณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าบอกเขาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะสงบเรียบร้อย ตอบกลับมาว่า ‘อาจเป็นความเงียบสงบก่อนพายุถล่ม’ อย่างน้อย สิ่งนี้ก็พิสูจน์ว่า ความวิตกกังวลยังคงอยู่

อองรี รูซ์” 

--------------------

รายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932  (พ.ศ. 2475)       

เหตุการณ์สำคัญในรอบเดือน เหตุการณ์สำคัญเพียงอย่างเดียวในเดือนนี้ คือ การประท้วงของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญและเซนต์คาเบรียลจำนวน 2,000 คน เมื่อวันที่ 9 กันยายน ซึ่งตามหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกต ดูจะเป็นการลอกเลียนแบบฉบับย่อส่วนจากการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน กล่าวคือ ใช้รถคล้ายรถทหารอย่างเดียวกันบรรทุกกลุ่มผู้ประท้วง แล้วเคลื่อนขบวนรถบรรทุกเหล่านี้อย่างเอิกเกริกผ่านตัวเมือง สั่งให้บาทหลวงลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ให้หยุดทำงานในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และให้นักเรียนบางคนที่เพิ่งถูกไล่ออกกลับมาเรียนใหม่ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันศุกร์ คณะบาทหลวงมีเวลาให้คำตอบจนถึงวันจันทร์หน้า เช้าวันเสาร์ บาทหลวงปิดโรงเรียนทั้งสองแห่งโดยไม่บอกกล่าวอะไร ให้บรรดานักเรียนประจำกลับบ้าน ยกเลิการสั่งซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคและเครื่องเขียนจากห้างร้านต่างๆ และให้ครูอาจารย์หยุดพักผ่อน  เช้าวันจันทร์มีข้อความติดไว้ที่ประตูใหญ่ แจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่า โรงเรียนปิดทำการ ‘โดยไม่มีกำหนด’ ท้ายที่สุด นักประท้วงรุ่นเยาว์ก็ไม่ได้รับการเห็นชอบจากส่วนใหญ่ มีการคาดคะเนกันกว้างๆว่า พวกเขารู้สึกเสียหน้า และแม้แต่สังคมสยามเองก็ตำหนิการกระทำเช่นนี้

จะคิดว่าการประท้วงของนักเรียน ซึ่งจำนวนหนึ่งในสี่อายุไม่ถึง 10 ขวบเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ แต่เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าต้องมีบางสิ่งบางอย่างอยู่เบื้องหลัง บางคนมองว่าเป็นการประท้วงครั้งแรกของขบวนการต่อต้านต่างชาติที่ไม่เปิดเผย ซึ่งดูจะเริ่มหมดความอดทน นับแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และเมื่อยังไม่กล้าโจมตีข้าราชการยุโรปโดยตรง ก็คงโยนหินถามทาง โดยมุ่งเป้าไปยังองค์กรที่ชาวยุโรปบริหารจัดการมากกว่า อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้ไม่มีลักษณะที่เป็นทางการเลย บางคนคาดหวังด้วยซ้ำไปว่า รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งเป็นรัฐบาลฆราวาสโดยแท้ จะไม่มีวันสนับสนุนบรรดาบาทหลวง ด้วยเหตุนี้ การโจมตีบาทหลวง จึงทำได้โดยไม่เสี่ยงอะไรเลย

อีกกลุ่มหนึ่งมองว่า การประท้วงครั้งนี้ น่าจะมีสมาชิกบางคนของรัฐบาลเป็นผู้จุดประกายเพื่อจะสร้างปัญหาใหม่”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย.   ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 128-130, 137-138).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' มอง 'ขุนคลังคนใหม่' ทำงานได้เต็มที่ ไม่ต้องแบ่งเวลามาเป็นเซลส์แมนประเทศ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในส่วนของกระทรวงการคลัง ว่า ปรากฎว่ามีรัฐมนตรีในกระทรวงการคลังถึง 4 คน ซึ่งน่าจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อันที่จริงกรมในกระทรวงก็มีไม่ได้มากคงแบ่งกันดูแลคนละกรมครึ่ง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่