ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ 

สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา

สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร

หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

เราจะมาดูว่า มูลเหตุทั้งหกนี้มีรายละเอียดอย่างไร และเป็นจริงมากน้อยเพียงไร  ผู้เขียนได้กล่าวถึง มูลเหตุที่หนึ่งถึงสี่ไปแล้ว จะขอกล่าวต่อไปถึงมูลเหตที่สี่ นั่นคือ คณะกู้บ้านกู้เมือง ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476”  ของนิคม จารุมณี (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519) กล่าวว่า มูลเหตุนี้

“เกิดจากความประสงค์ที่จะให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  หลักฐานแรกที่จะชี้ให้เห็นว่ามูลเหตุข้อนี้มีความสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 หม่อมราชวงศ์นิมิตมงคล นวรัตน์ อดีตนักโทษคดีกบฏปี 2476 ได้แสดงทัศนะเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “เมืองนิมิตรและชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง” ไว้ ดังความตอนหนึ่งว่า

‘….เป็นการยากที่จะล่วงรู้เจตนาอันแท้จริงของหัวหน้าผู้ก่อการกบฏแต่ละคนว่าคิดกระทำการเพื่ออะไรแน่ แต่เท่าที่ได้มีการปรึกษาหารือและตกลงกันนั้น ทุกคนแสดงความปรารถนาจะจัดระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อีกแง่หนึ่งก็คือ บุคคลเหล่านี้ทั้งเกลียดและกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ และระแวงสงสัยว่าส่วนมากในคณะผู้ก่อการจะใช้อิทธิพลนำลัทธิคอมมิวนิสต์มาใช้ โดยฝืนใจประชาชน แล้วระบอบการปกครองก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรีปับลิก ข้าพเจ้าเชื่อว่า ในบรรดาผู้คิดปฏิวัตินั้น ไม่มีใครเลยที่ปรารถนาจะรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใช้ใหม่ ทุกๆคนเข้าใจว่าระบอบนั้นล้าสมัย เป็นเครื่องลายครามที่ควรจะส่งเข้าพิพิธภัณฑ์เท่านั้น...’       

ทัศนะของหม่อมราชวงศ์นิมิตมงคล นวรัตน์ ดังกล่าวนี้ พิจารณาได้ว่า ประเด็นปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การกบฎปี 2476 นั้น เกิดจากผลสะท้อนของการที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ภายหลังจากที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วสองฉบับ ทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แล้วก็ตาม แต่วิธีการดำเนินการปกครองบริหารราชการก็หาได้เป็นไปตามวิธีการอันถูกต้องในครรลองของประชาธิปไตยตามที่ได้คาดหวังกันแต่ประการใดไม่ แต่เกมส์การเมืองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็กลายเป็นเกมส์การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน จนปราศจากกฎเกณฑ์ยิ่งกว่าก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเสียอีก แม้ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงประกาศสละราชสมบัติ ก็ได้ทรงชี้แจงว่า ‘เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนมิได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีการกบฏขึ้น’  และด้วยความรู้สึกที่จะช่วยดำเนินการปกครองให้เป็นไปโดยชอบธรรมตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงทำให้คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งดำริที่จะกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลขณะนั้นดำเนินการปกครองประเทศเสียใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

มูลเหตุประการที่ห้า  เกิดจากความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎรภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว  โดยที่ทหารหัวเมืองรู้สึกว่า คณะราษฎรไม่ได้ให้ความสนใจและมองเห็นความสำคัญของบรรดาทหารหัวเมืองในกิจการที่สำคัญๆทางการเมืองภายในประเทศชาติ  ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของบรรดาทหารหัวเมืองที่รู้สึกว่าตนเองขาดความสำคัญไปโดยสิ้นเชิงนั้น เป็นผลเนื่องมาแต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น แผนยึดอำนาจ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรมิได้คำนึงถึงกองทหารหัวเมืองเลย.....ฝ่ายทหารที่เป็นเสนาธิการในการยึดอำนาจคือ พันเอกพระยาทรงสุรเดชได้รวบอำนาจและควบคุมตำแหน่งหน้าที่ทางทหารไว้สิ้น และได้ใช้นโยบายการจัดรูปแบบกองทัพเสียใหม่ โดยจะจัดกองทัพอย่างประเทศสวิสไม่มีนายทหารยศนายพลเลย และการที่พันเอกพระยาทรงสุรเดชในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบกได้ออกคำสั่งย้าย ยุบและปลดนายทหารแทบทุกวัน จนกระทั่งเลิกเหล่าเสนาธิการ แล้วตั้งโรงเรียนรบขึ้นแทน โดยที่พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามิได้รับรู้ด้วย นำไปสู่การแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างบุคคลทั้งสองในเวลาต่อมา ประกอบกับการที่นายทหารรุ่นหนุ่มคือ พันโทหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากบรรดานายทหารรุ่นหนุ่มทั้งหลาย ซึ่งไม่พอใจนโยบายการทหารของพันเอกพระยาทรงสุรเดชเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้เข้ามามีบทบาทร่วมกับพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เพื่อจะทอนอำนาจของพันเอกพระยาทรงสุรเดชลงเสีย

การแตกแยกของบรรดาผู้นำฝ่ายทหารของคณะราษฎรดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นช่องว่างประการหนึ่งที่ทำให้คณะเจ้าและขุนนางกลุ่มกษัตริย์ฉวยโอกาสที่จะปราบคณะราษฎรเสีย และภายหลังการยึดอำนาจของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาและคณะเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 แล้ว บรรดาทหารหัวเมืองยิ่งรู้สึกหวาดระแวงเกี่ยวกับฐานะและความมั่นคงของตนเองมากขึ้น ประกอบกับคณะราษฎรได้เริ่มแผ่อำนาจอย่างเต็มที่ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมือง ดังจะเห็นจากการที่ข้าราชการรุ่นเก่าถูกย้าย ถูกปลดออกเป็นอันมาก แล้วบรรจุพรรคพวกของคณะราษฎรเข้ากุมอำนาจแทน  ในฝ่ายกองทัพบกเองก็ได้มีนายทหารบกจำนวนมากได้ถูกปลด ย้ายตำแหน่ง และควบคุมกำลังไปทั้งสิ้น ผู้ที่ถูกปลด เช่น พลตรี พระยาเสนาสงคราม พันเอกพระยาเทพสงคราม พันเอกพระยาฤทธิรงครณเฉท นาวาเอกพระแสงสิทธิกร ฯลฯ ซึ่งต่อมาบรรดานายทหารที่ถูกปลดและถูกย้ายตำแหน่งเหล่านี้ บางคนก็ได้ร่วมทำการกบฏด้วย

ในขณะที่ทหารหัวเมืองที่อยู่ไกลออกไป ยิ่งขาดการเอาใจใส่จากผู้บังคับบัญชาชั้นสูง จึงเป็นเหตุจูงใจทหารหัวเมืองให้ทำการกบฎยิ่งขึ้น ประกอบกับทหารหัวเมืองส่วนใหญ่เคยเป็นศิษย์ที่นิยมนับถือพันเอกพระยาทรงสุรเดชอยู่มาก ดังเช่นคำให้การของขุนคลีพลพฤณฑ์ว่า

‘เขาถามผมว่า เกลียดหลวงพิบูลสงครามไหม ผมว่าผมไม่เกลียด แต่ไม่นับถือและดูถูกด้วยว่า ไม่มีความสามารถควรแก่ตำแหน่ง ผมนับถืออาจารย์ของผมคนเดียวและอยากให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี’

และเมื่อทราบว่าพันโทหลวงพิบูลสงครามเกิดขัดแย้งเป็นศัตรูทางการเมืองกัน บรรดาศิษย์ทั้งหลายก็เอาใจช่วยพันเอกพระยาทรงสุรเดชมากขึ้น เมื่อเห็นว่าอาจารย์ของตนมีศัตรูรังแก คิดจะช่วยเหลือ กรณีนี้นับเป็นสาเหตุหนึ่งด้วย               

เหตุการณ์ทั้งหลายดังได้กล่าวแล้ว รวมทั้งการที่รัฐบาลเรียกตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรี และฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นมูลเหตุให้ทหารหัวเมืองต่างหันเหศรัทธาออกไปจากรัฐบาลคณะราษฎรโดยสิ้นเชิง และในทางตรงกันข้าม ทหารหัวเมืองยังคงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์อยู่มาก คณะราษฎรเองก็มิได้สนใจที่จะสร้างศรัทธาให้เกิดแก่ทหารหัวเมืองอยู่ด้วย จึงเป็นเหตุให้หารหัวเมืองเข้าทำการปฏิวัติ ด้วยความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์และหวังจะปกป้องพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้คงอยู่เป็นที่เคารพบูชาของบรรดาทหารทุกหน่วยเหล่าต่อไป เป็นเป้าหมายสำคัญเบื้องต้น และมุ่งหวังที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของทหารหัวเมืองด้วย จึงนำไปสู่เหตุการณ์กบฏในเวลาต่อมา”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' มอง 'ขุนคลังคนใหม่' ทำงานได้เต็มที่ ไม่ต้องแบ่งเวลามาเป็นเซลส์แมนประเทศ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในส่วนของกระทรวงการคลัง ว่า ปรากฎว่ามีรัฐมนตรีในกระทรวงการคลังถึง 4 คน ซึ่งน่าจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อันที่จริงกรมในกระทรวงก็มีไม่ได้มากคงแบ่งกันดูแลคนละกรมครึ่ง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่