อีอีซีไอมุ่งยกระดับผลผลิตลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

4 เม.ย. 2565 – ในการจะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง หรือประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้ต่อหัวมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปีภายในปี 2580 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ปัจจัยหลักสำคัญที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าวก็คือ การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นของตัวเอง เพื่อนำมาต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้าใหม่ๆ ซึ่งมีมูลค่าสูง

ทั้งนี้ คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญของโครงการอีอีซี มีภารกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนไทย

โดยหนึ่งในเป้าหลักคือ อีอีซีไอจะสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเกษตรกรที่ส่วนใหญ่มีรายได้น้อยให้มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สุดท้ายก็จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงตามเป้าหมายที่วางไว้

เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอีอีซีไอ กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานการวิจัยด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพที่สำคัญของอีอีซีไอได้แก่ การก่อสร้างศูนย์การวิจัยการเพาะปลูกสมัยใหม่ ซึ่งจะประกอบด้วย โรงเรือนฟีโนมิกส์ เพื่อใช้ในการศึกษาการเจริญเติบโตและการตอบสนองของพืชต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้ได้พันธุ์พืชที่มีคุณสมบัติตามต้องการ, โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ เพื่อทดลองปลูกพืชสมุนไพรในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม

โรงงานผลิตพืช ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบปิด เพื่อสนับสนุนการผลิตพืชเศรษฐกิจและพืชสมุนไพรในเชิงอุตสาหกรรม โดย อีอีซีไอ จะใช้เทคโนโลยีในการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์เฉพาะทางที่มีสารออกฤทธิ์สูง ศึกษาสูตรการปลูกพืชที่เหมาะสม ยกระดับผลผลิต ลดเวลาและลดต้นทุน รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าสร้างจุดเด่นและจุดขายให้กับพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ซึ่งอีอีซีไอจะนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นนี้ไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมต่อไป

นอกจากนี้ อีอีซีไอ ได้สร้างโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีที่จะเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด และนำผลการวิจัยจากห้องทดลองมาขยายผลเป็นจำนวนมาก เพื่อประเมินความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยโรงงานไบโอรีไฟเนอรีแห่งนี้จะยกระดับผลิตผลการเกษตรและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงใน 3 กลุ่ม คือ 1.อาหารเสริม และโภชนเภสัช ซึ่งโรงงานไบโอรีไฟเนอรีจะสกัดสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ สารเพิ่มรสชาติ สารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง โปรตีนทางเลือก คาร์โบไฮเดรตชนิดพิเศษ และกรดไขมันที่มีมูลค่าสูง 2.เวชสำอาง ซึ่งจะผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และ 3.เคมีชีวภาพและวัสดุชีวภาพ เพื่อนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ รวมไปถึงสารลดแรงตึงผิวทางชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชทางชีวภาพ และเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม

ด้านการประมง อีอีซีไอได้มีศูนย์วิจัยในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีความหนาแน่นสูง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีจำนวนมากกว่าการเพาะเลี้ยงแบบเดิม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนลดลงและมีรายได้เพิ่มขึ้น และจะพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดใหม่ๆ เพื่อลดการจับสัตว์น้ำในทะเล ซึ่งจะช่วยให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลไทยมีความสมบูรณ์ และรักษาสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยเพิ่มวัตถุดิบให้กับโรงงานแปรรูปอาหาร และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

ในส่วนของการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตรมาถ่ายทอดความรู้ไปสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการนั้น อีอีซีไอได้ก่อตั้งศูนย์สาธิตนวัตกรรมเกษตรในอีอีซี ซึ่งจะเป็นพื้นที่วิจัยขยายผลในระบบแปลงเปิดสำหรับนวัตกรรมภาคเกษตรและประมง และเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่กลุ่มเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่อีอีซี รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปัน การต่อยอด และขยายผล เพื่อสร้างความรู้ เทคนิค และประสบการณ์ ที่จะนำไปสู่การสร้างเกษตรกรสมัยใหม่ เกษตรอัจฉริยะ และเกษตรนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมเยี่ยมชม การฝึกปฏิบัติการ การทดสอบ ทดลองด้วยประสบการณ์จริงในการขยายผลเพื่อประยุกต์ใช้ต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้ว่าโครงการอีอีซีไอจะยังไม่ได้เปิดดำเนินการเต็มรูปแบบ แต่ก็ได้เร่งวิจัยด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป้าหมายในอีอีซี โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้กับเกษตรกรไปแล้ว 317 ราย ใน 12 ชุมชน ประกอบด้วย 5 เทคโนโลยี ได้แก่ 1.เทคโนโลยีระบบตรวจวัดอากาศด้วยเซ็นเซอร์แบบเครือข่ายไร้สาย เพื่อการติดตามสภาวะแวดล้อม 2, เทคโนโลยีการผลิตก้อนเชื้อสตราบิวเวอเรียพร้อมใช้สำหรับกำจัดศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ 3.เทคโนโลยีผลิตและใช้ปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองอย่างมีประสิทธิภาพ 4.เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย (GAP) และ 5.เทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

สำหรับโครงการอีอีซีไอนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง มีพื้นที่รวม 3,454 ไร่ ประกอบด้วยโซนการศึกษา 1,186 ไร่, โซนนวัตกรรม 1 จำนวน 989 ไร่, โซนนวัตกรรม 2 จำนวน 946 ไร่ ซึ่งโซนนวัตกรรมทั้งสองโซนนี้จะเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าเพื่อทำการวิจัยสร้างนวัตกรรม, ศูนย์การเรียนรู้เกษตรนวัต 155 ไร่ และโซนสำหรับการอยู่อาศัย 178 ไร่

โครงการอีอีซีไอได้รับการจัดสรรงบบูรณาการระหว่างปี 2562-2567 จำนวนทั้งสิ้น 5,755 ล้านบาท แบ่งออกเป็นโครงการของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 3 โครงการ ได้แก่ 1.การก่อสร้างกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ อีอีซีไอ 1 โครงการ ใช้งบประมาณ 1,323 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่สำหรับการทำวิจัยขยายผล อาทิ โรงงานต้นแบบ พื้นที่ทดสอบนวัตกรรม รวมทั้งยังมีพื้นที่สนับสนุนการทำงาน เช่น ศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ Co-Working Space พื้นที่รวมกว่า 40,000 ตารางเมตร จะเสร็จพร้อมดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2565

2.โครงการ BIOPOLIS หรือศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมฐานชีวภาพ จำนวน 8 โครงการ ใช้งบประมาณ 3,005 ล้านบาท 3.โครงการ ARIPOLIS หรือศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ จำนวน 5 โครงการ ใช้งบประมาณ 1,152 ล้านบาท และโครงการของกรมวิทยาศาสตร์บริการ มี 1 โครงการ คือ สร้างสนามมาตรฐานการทดสอบและสนามทดสอบรถอัตโนมัติ (EV AV) จำนวน 1 โครงการ ใช้งบประมาณ 275 ล้านบาท

หลังจากที่อีอีซีไอได้ดำเนินงานเต็มรูปแบบ จะมุ่งไปสู่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ ในการคัดเลือกสายพันธุ์และวิธีการเพาะปลูก การใช้เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มเมอร์และเกษตรแม่นยำ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและโดรนการเกษตร ไปจนถึงปลายน้ำในการผลิตอาหารมูลค่าสูง ผลิตภัณฑ์ทางการแทพย์ และวัสดุชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาลในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘คณิศ’ พ้นตำแหน่ง กนง. 

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน ชี้แจงว่า นายคณิศ แสงสุพรรณ

'คณิศ' มั่นใจในอีก 5 ปี อีอีซีหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

“คณิศ” ฝากงานเลขา อีอีซี คนใหม่ ดันลงทุนอีอีซีถึง 2.2 ล้านล้านบาท หนุน จีดีพีขยายตัวได้ปีละ 4 – 5% มั่นใจทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี72 ในอีก5 ปีข้างหน้า มั่นใจเศรษฐกิจอีอีซีเติบโต 7-9%

4 ปี อีอีซี...กับความหวัง พัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ความก้าวหน้าต่อไป อีอีซีได้วางแผนลงทุนระยะ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565-2569) ขับเคลื่อนต่อยอด เร่งรัดการลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง วิจัยพัฒนาเพิ่มความสามารถการแข่งขันของไทย วงเงินลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท เน้นที่การดึงดูด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 4 แกนธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ และโลจิสติกส์ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)