การก้าวขึ้นมาของเลอเปนกับพรรค National Rally

ปี 2018 มารีน เลอเปน (Marine Le Pen) หัวหน้าพรรค National Front (FN) เปลี่ยนชื่อพรรคเป็น National Rally (Rassemblement National หรือ RN) ชื่อ National Front เป็นนามเดิมที่บิดาเลอเปนใช้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองเมื่อ 1972

นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าเป็นความพยายามปรับภาพลักษณ์ให้ดูอ่อนลง ลบล้างภาพลบในอดีต เลอเปนอธิบายตรงไปตรงมาว่า “ถ้าชื่อไม่เปลี่ยน จะไม่สามารถเป็นพันธมิตร (กับพรรคอื่นๆ) และถ้าปราศจากพันธมิตรก็ไม่อาจเข้าถึงอำนาจ” ถึงเวลาแล้วที่กลุ่มจะเปลี่ยนจากพวกเดินประท้วงรัฐบาล เป็นพรรคฝ่ายค้าน สู่การเป็นผู้บริหารประเทศ ทั้งนี้ต้องสามารถรวมใจคนทั้งชาติเข้าร่วมกับเรา

ภาพ: มารีน เลอเปน (Marine Le Pen) ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส
เครดิตภาพ: https://rassemblementnational.fr/photos/rentree-politique-de-marine-le-pen-a-frejus/#iLightbox[gallery_image_1]/7

ย้อนหลังเลือกตั้งครั้งก่อน (ปี 2017) เลอเปนได้คะแนนร้อยละ 33.9 (คะแนนรอบที่ 2) พ่ายให้กับเอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากหลายพรรค ตัวแทนกระแสหลัก

ในครั้งนั้น Philippe Marlier จาก University College London อธิบายว่า ถ้าเลอเปนต้องการคะแนนเสียงมากกว่านี้จำต้องลดความสุดโต่ง Christophe Castaner แกนนำของพรรค Move party (ฝ่ายพรรครัฐบาล) วิพากษ์ว่า “เปลี่ยนชื่อแต่ไม่เปลี่ยนแนวการเมือง” เป็นการแต่งหน้าทาตาให้ดูแตกต่างจากเดิมเท่านั้น

ในอดีตที่ผ่านมา พรรคการเมืองอื่นๆ โจมตีพวกเลอเปนว่าเป็นพวกนิยมความสุดโต่ง นิยมใช้ความรุนแรง เหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ ขัดแย้งกับหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งเป็นความจริง โดยเฉพาะในสมัยที่บิดาเป็นผู้นำพรรค การเปลี่ยนชื่อพรรคเท่ากับยอมรับประวัติศาสตร์
วิพากษ์การเปลี่ยนชื่อพรรค:

ประการแรก ต้องการปรับนโยบาย

ในการเลือกตั้ง 2017 เหตุผลหลักข้อหนึ่งที่คนเลือกมาครง เพราะคนฝรั่งเศสส่วนหนึ่งกังวลนโยบายสุดโต่ง จึงเลือกมาครงเพราะกลัวเลอเปน มาครงชี้ว่าเลอเปนหาเสียงและเสนอนโยบายด้วยเรื่องโกหกมดเท็จ สร้างความหวาดกลัว ส่วนตนนั้นจะฟื้นฟูปฏิรูปประเทศ ไม่ปล่อยให้ประเทศแตกแยก ไม่สุดโต่งขวาจัด (far right)

ถ้ามองในแง่บวก เป็นไปได้ว่าเลอเปนอาจต้องการลดความสุดโต่ง ปรับนโยบายให้ตอบโจทย์ประชากรกลุ่มอื่นๆ การปรับเปลี่ยนหลักนโยบายทำได้หากไม่ใช่การเปลี่ยนไปมาตลอดเวลาแบบไร้จุดยืน อีกทั้งยังคงนโยบายหลายเรื่อง เช่น โจมตีอียู ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ระบบตลาดเสรี แนวคิดทำให้เป็นมุสลิมและคนต่างด้าวอพยพเข้าเมือง ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนสากล มุ่งสนับสนุนค่านิยมกับประเพณีฝรั่งเศส รักษาภาษา อัตลักษณ์ฝรั่งเศส

จะเห็นว่านับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลอเปนลดระดับความสุดโต่ง การเปลี่ยนชื่อเป็นโอกาสปรับลดระดับความสุดโต่งลงอีก เพื่อให้ชาวฝรั่งเศสยอมรับได้มากขึ้น

ประการที่ 2 ดีกว่าพรรคการเมืองที่ชี้นำประชาชนอย่างผิดๆ

ในแง่มุมอุดมการณ์ พรรคของเลอเปนเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ (แม้หลายคนไม่เห็นด้วยกับหลายนโยบาย) เป็นตัวอย่างที่ดีถ้าเทียบกับพรรคการเมืองที่ไม่ยึดอุดมการณ์ มุ่งเอาชนะทางการเมือง ชี้นำประชาชนให้เข้าใจการเมืองอย่างผิดๆ เช่น พูดว่าขอเพียงมีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตย

Walter Lippmann นักวิเคราะห์การเมืองเห็นว่า บ่อยครั้งที่พรรคการเมือง นักการเมืองอ้างว่าเป็นความเห็นของประชาชน แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่สะท้อนความเห็นจุดยืนของชนชั้นปกครอง งานวิจัยหลายชิ้นเห็นด้วยกับลักษณะเช่นนี้ ความเป็นไปทางการเมือง ความเป็นไปของประเทศจึงบิดเบี้ยวตามตรรกะที่บิดเบือน

ผู้ชี้นำให้เข้าใจผิดมักเป็นแกนนำ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สนับสนุนพรรค บางครั้งพรรคจะไม่ยอมรับว่าคำพูดการชี้นำเหล่านี้เป็นนโยบายหรือแถลงการณ์พรรค หากเกิดปัญหาทางกฎหมายบั่นทอนคะแนนเสียง

ประการที่ 3 เบื้องหลังความคิดของฝ่ายขวาจัด

การจะรู้จักพรรคใดต้องเข้าใจความคิดเบื้องหลังของพวกเขา รากฐานความคิดของพวกเขาคือ “ความเหนือกว่าทางเชื้อชาติของตะวันตก”
ตั้งแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance – ช่วงศตวรรษที่ 14-17) มีหลักฐานว่าคนยุโรปดูหมิ่นคนต่างด้าวที่ไม่ใช่ยุโรป การล่าอาณานิคม การนำคนผิวดำมาเป็นทาสคือตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุด

แนวคิดนี้เมื่อมาถึงกลางศตวรรษที่ 19 Darwinism อธิบายว่าเชื้อชาติต่างๆ ในโลกไม่เท่าเทียมกัน มีเชื้อชาติที่สูงส่งกว่า พวกที่ด้อยกว่าสมควรอยู่ใต้พวกที่สูงเด่นกว่า เรื่องนี้ถูกต้องตามหลักการคัดสรรตามธรรมชาติ ความเป็นไปของยุคล่าอาณานิคมเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นความเหนือกว่าของพวกยุโรปต่ออารยธรรมทวีปอื่นๆ

แนวคิดเช่นนี้ได้พัฒนาและเป็นที่มาของการเหยียดผิวในยุคปัจจุบัน ลัทธิการเหยียดเชื้อชาติ (racism) เกลียดกลัวต่างชาติ (xenophobia) คนยุโรปหรือพวกผิวขาวโดยเฉพาะพวกขวาจัดจะดูหมิ่นดูแคลนคนสีผิวอื่นๆ คนที่รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนยุโรป

ประการที่ 4 ยิ่งกว่า America First

ในยุคชาตินิยม ความรู้สึกเหนือกว่าพัฒนาเป็นชาตินิยมที่เน้นการขยายอำนาจด้วยการยึดดินแดน ยึดประชากรประเทศอื่นมาเป็นของตน เพื่อสร้างเกียรติภูมิและขยายความยิ่งใหญ่ของประเทศ
เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์อิตาลี เป็นตัวอย่างผู้ยึดแนวทางนี้ เห็นว่าการทำสงครามเป็นเรื่องดี ทำให้ชาติกระชุ่มกระชวย รากฐานดั้งเดิมของเลอเปนคือระบอบฟาสซิสต์ เพียงแต่ไม่ได้ยึดถือครบถ้วนทั้งหมด

แม้พรรค National Rally ปัจจุบันไม่สนับสนุนเสรีประชาธิปไตย แต่ไม่ได้ยึดความสุดโต่งของฟาสซิสต์เสียทุกเรื่อง เป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดฟาสซิสต์บางส่วนกับประชาธิปไตยบางส่วน ได้แนวทางใหม่เชิงอำนาจนิยมประชาธิปไตย

ชวนให้นึกถึง America First (อเมริกาต้องมาก่อน) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กล่าวถึงหลักนโยบายของตนว่าต้องการทำให้ประเทศปลอดภัยกว่าเดิม คนนับล้านมีงานทำ และสร้างความมั่งคั่งเพิ่มอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ เป็นลัทธิอเมริกานิยม (Americanism) ไม่ใช่โลกนิยม (globalism)

เลอเปนเป็นพวกที่ถอยห่างจากหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนฝรั่งเศส จนสามารถเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในวันอาทิตย์นี้

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป:

หลักเสรีประชาธิปไตยมองว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ชายเท่ากับหญิง คนเมืองเท่ากับคนดอย ทุกคนอยู่ร่วมกันได้แม้แตกต่าง ลัทธิเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติสวนทางหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ

ดังนั้น หากสังคมฝรั่งเศสยอมรับแนวคิดของพวกขวาจัดมากขึ้น นั่นคือกำลังยอมรับการมีชนชั้นในสังคมโลก พวกผิวขาวดีเด่นกว่าผิวสีอื่น พวกตะวันตกโดดเด่นกว่าคนชาติอื่นๆ รวมความแล้ว เสรีประชาธิปไตยฝรั่งเศสกำลังถอยหลังเข้าคลอง

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ หากรัฐบาลฝรั่งเศสยึดแนวทางเช่นนี้จะดำเนินนโยบายเชิงจักรวรรดินิยม การฉกฉวยผลประโยชน์ชาติอื่นๆ เป็นเรื่องสมควร คนฝรั่งเศสเท่านั้นที่สมควรอยู่ดีกินดี ที่เหลือควรอยู่อย่างผู้ด้อยพัฒนาต่อไป เฉกเช่นอดีตกาลที่คนต่างสีผิวต้องเป็นทาส เป็นอาณานิคมของพวกผิวขาว อุดมการณ์พรรคจึงเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการบิดเบือนอุดมการณ์

หลายปีก่อนเลือกตั้งปี 2017 ชื่อของเลอเปนอยู่ในลำดับ 1 หรือ 2 ของโพลผู้ที่คนฝรั่งเศสอยากให้เป็นประธานาธิบดี เป็นหลักฐานชี้ชัดต่อมุมมองคนฝรั่งเศสที่นิยมพรรคขวาจัดนี้ ไม่ว่าเลอเปนจะชนะเลือกตั้งปี 2022 นี้หรือไม่ ไม่อาจปฏิเสธว่าฝรั่งเศสยุคนี้หลายล้านคนสนับสนุนแนวคิดของพวกขวาจัด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลดปล่อยปาเลสไตน์เชิดชูอิหร่าน

การปลดปล่อยปาเลสไตน์เป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับศาสนา เชิดชูอิหร่าน เป็นเหตุผลว่าทำไมอิหร่านจึงแสดงบทบาทเข้มแข็งโดดเด่นไม่หยุด

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา