วัดกัลยาณีและเพื่อนชาวศรีลังกา

มหาวงศ์-พงศาวดารศรีลังกาบันทึกไว้ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมายังเกาะลังกา 3 ครั้งตลอดพระชนม์ชีพ ครั้งที่ 3 คือบริเวณวัดเกลานิยะ (Kelaniya Temple) หรือ “วัดกัลณียา” ชานกรุงโคลัมโบในปัจจุบัน

ซึ่งคนไทยชอบเรียก “วัดกัลยาณี” วัดที่ผมจะกล่าวถึงในวันนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวศรีลังกาเมื่อปลายปีที่แล้ว

วันอาทิตย์ก่อนได้กระโดดไปเขียนถึงกิจกรรมของคนไทยและสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศโคลอมเบียคั่นเรื่องราวของศรีลังกาเสีย 1 ตอน 

เพราะว่าเวลานี้ผมได้อยู่ในดินแดนอเมริกาใต้เกือบ 1 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ยังคงมีเรื่องราวจากศรีลังกาที่ยังเล่าไม่หมด ซึ่งดูจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่หากจะจบไปเสียดื้อๆ จึงขอเล่าต่อให้จบในอีก 1 หรือ 2 ตอนนับจากนี้

ผมตัดใจไม่ไปเมืองตากอากาศยอดนิยมของศรีลังกาอย่างเอลลาและนูวาระเอลิยะซึ่งมีทิวทัศน์งดงามและเต็มไปด้วยไร่ชาบนภูเขาสูง โดยสารรถไฟจากเมืองแคนดีเข้ากรุงโคลัมโบ เข้าพักในโรงแรมย่าน Union Place ที่เดียวกับที่เคยพักเมื่อช่วงเริ่มต้นทริป

วันรุ่งขึ้นผมโทรศัพท์หา “นาอูชา” คนขับตุ๊กๆ อัธยาศัยดีที่เคยใช้บริการ ช่วงเช้าเขาติดลูกค้าชาวอินเดีย กว่าจะมารับที่โรงแรมก็ราวบ่าย 3 โมง

“วันนี้อากาศร้อน เหมาะกับเบียร์เย็นๆ นะท่าน” เขายังเรียกผมว่า “เซอร์” เหมือนเดิม ห้ามเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง เราเดินทางราว 10 กิโลเมตรไปทางทิศเหนือถึงวัดกัลณียาราวบ่าย 3 ครึ่ง นาอูชาจอดตุ๊กๆ นอกรั้ววัดฝั่งด้านหลัง บอกว่าปลอดภัยกว่า เพราะเขาจะเข้าวัดไปกับผมด้วย

“ไอเป็นหนี้พระพุทธเจ้า เพราะพุทธเจ้าช่วยให้ไอมีอาชีพ นักท่องเที่ยวจ้างไอให้พาชมวัดพุทธแทบทุกวัน” นาอูชาผู้เป็นมุสลิมพูดกับผมหลังจากให้เงินขอทาน 2 คน คนละ 20 รูปี

พอถึงหน้ามหาวิหารของวัดกัลณียา นาอูชาอาสาถือกระเป๋าเป้ให้ผม เขาจะนั่งรอนอกวิหาร ขอให้ผมเอาของที่จำเป็นติดตัวไป เหลือทิ้งไว้แต่ดอลลาร์ก็พอ พูดแล้วหัวเราะ ผมหัวเราะด้วย มุกดอลลาร์ของเขาได้ผลเสมอ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังเกาะลังกาครั้งที่ 3 ในพรรษาที่ 8 หลังการตรัสรู้จากการกราบบังคมทูลเชิญของพระเจ้ามณีอัคคีกา กษัตริย์ชาวนากาแห่งเมืองกัลณียา เมื่อทรงมาถึงพร้อมกับพระอรหันต์จำนวนหนึ่ง พระองค์ได้สรงน้ำในแม่น้ำกัลณียา ซึ่งเป็นแม่น้ำหน้าวัดกัลณียาในปัจจุบัน จากนั้นกษัตริย์นากากราบบังคมทูลเชิญให้ประทับบนพระแท่นในปะรำพิธีที่เพิ่งสร้างขึ้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่กษัตริย์และประชาชนชาวนากาและเสด็จกลับแล้ว พระเจ้ามณีอัคคีกาก็ได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นครอบพระแท่นประทับดังกล่าว กาลต่อมาไม่นานก็สร้างพระวิหาร ตั้งอยู่ติดกับองค์พระเจดีย์ ซึ่งเป็นยุคก่อนอนุราธปุระถึงกว่า 3 ศตวรรษ

แม้หลังจากนั้นพระเจดีย์และพระวิหารจะถูกทำลายลงหลายครั้ง โดยเฉพาะจากการรุกรานของกองทัพทมิฬจากตอนใต้ของอินเดียและจากกองทัพคลั่งศาสนาของโปรตุเกส แต่วัดกัลณียาก็ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ทุกครั้ง ว่ากันว่าชะตากรรมของวัดแห่งนี้คือดัชนีชี้ความเป็นไปของประเทศ หากวัดกัลณียารุ่งเรือง ศรีลังกาก็รุ่งโรจน์ หากวัดกัลณียาร่วงโรย ศรีลังกาก็รุ่งริ่ง

ผมเดินเข้าไปภายในพระวิหารอันอลังการ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีผ้าม่านโปร่งบางกั้นไว้ชั้นหนึ่ง ส่วนจิตรกรรมฝาผนังนั้นเก่าแก่และงดงามยิ่ง แสดงเรื่องราวพุทธประวัติ ชาดก และตำนานต่างๆ อาทิ ภาพเจ้าชายทันตกุมารกับเจ้าหญิงเหมมาลาอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากอินเดียมาเกาะลังกา ภาพพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงดำเนินลุยน้ำไปรับเสด็จพระสังฆมิตตาเถรีที่นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยามายังเกาะลังกา

ใช้เวลาในพระวิหารพักใหญ่ จากนั้นเดินออกไปชมพระเจดีย์ อยู่ฝั่งขวามือของพระวิหาร ใกล้ๆ พระเจดีย์มีรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อีกฝั่งของพระวิหารคือต้นโพธิ์ที่ตอนกิ่งมาจากพระศรีมหาโพธิ์กรุงอนุราธปุระ ชาวศรีลังกาแต่งชุดขาวถือขันหรือถังใบเล็กๆ ใส่น้ำ เดินรอบต้นโพธิ์แล้วนำไปรดใส่อ่างด้านหน้าพระพุทธรูปที่ประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์

ถัดจากต้นโพธิ์เป็นส่วนของสำนักงานวัดและที่อยู่ของสงฆ์ แยกไปจาก 3 โบราณสถานสำคัญ ผมไม่ได้เดินเข้าไปในบริเวณดังกล่าว กลับไปที่จุดคอยของนาอูชาปรากฏว่าเขานั่งหลับหลังพิงกำแพงกอดกระเป๋าเป้ของผมอยู่

ขากลับจากวัด นาอูชาขับผ่านถนนที่ตรงไปยังสนามบิน เขาบอกว่าชอบถนนเส้นนี้มาก เพราะกว้าง 4 เลน และราบเรียบที่สุดในประเทศ เขาบ่นพวกที่ขับรถไม่มีมารยาท แต่บางครั้งเขาก็ลืมตัว ปฏิบัติไม่ค่อยต่างกัน

ตอนกลับถึงตัวเมือง เขาเข้าไปรับค่าคอมมิชชั่นจากร้านขายอัญมณีและเครื่องประดับชื่อ Gem Bureau จากการนำลูกค้าชาวอินเดียมาที่นี่เมื่อช่วงเช้า กิฟต์เวาเชอร์มีค่า 1,000 รูปี หรือประมาณ 200 บาท ไว้จับจ่ายใช้สอยในห้างและซูเปอร์มาร์เก็ต

ใกล้ค่ำแล้ว ผมขอให้เขาพาไปยังย่าน Galle Face ริมฝั่งทะเลกรุงโคลัมโบ เป็นย่านชายทะเลและถนนที่มุ่งหน้าเมืองกอลล์ เมืองท่องเที่ยวชายทะเลทางใต้ที่มีชื่อเสียงที่สุดของศรีลังกา (อยู่ห่างออกไปประมาณ 120 กิโลเมตร) แต่ย่าน Galle Face นี้ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ ชายหาดเป็นหิน ไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ มีแนวเขื่อนกันคลื่นกั้นเป็นทางเดินเล่นและวิ่งออกกำลังกาย มีม้านั่งสำหรับนั่งชมพระอาทิตย์ตก โรงแรมหรูและร้านอาหารราคาแพงตั้งอยู่โซนหนึ่งซึ่งถูกกั้นไว้ นาอูชาบอกว่าราคาเบียร์แก้วหนึ่งประมาณ 3 พันรูปี หรือราว 5–6 ร้อยบาท

ฟ้ามืดพอดีเมื่อเราไปถึง ในโซนสาธารณะนี้มีซุ้มและรถเข็นขายของกินเล่น ที่มีอยู่มากคือร้านขายสัตว์ทะเลทอดกรอบ นาอูชาอยากให้ผมลองปูตัวเล็ก เขาซื้อมา 2 ชุด ในจานกระดาษมีปูทอดกรอบ 1 ตัวและแผ่นแป้งผสมเครื่องเทศทอดกรอบ 1 แผ่น ตอนแรกผมกลัวก้ามปูทอดกรอบจะแทงเหงือก แต่พอกินแล้วก็ปลอดภัยดี และรสชาติก็พอใช้ได้ นาอูชาเดินไปจ่ายเงิน 2 ร้อยกว่ารูปี คงเป็นราคาคนท้องถิ่น

เขาขอเลี้ยงผมเพราะคืนนี้ผมจะเลี้ยงเบียร์เขา ว่าแล้วเขาก็กดโทรศัพท์ขออนุญาตเมีย บอกเมียว่ามากับลูกค้านิสัยดี เมียก็อนุญาต เขาขับตุ๊กๆ ไปส่งผมที่โรงแรมแล้วขับไปหาสถานที่จอดรถแบบจ่ายเงินจอดค้างข้ามคืน นอกจากหลักการเรื่องดื่มไม่ขับแล้ว ก็ยังมีประเด็นความปลอดภัยของรถตุ๊กๆ ด้วย เขาว่าหากจอดมั่วๆ ไม่ระมัดระวัง รถตุ๊กๆ ก็มีคนโจรกรรมเหมือนกัน

“คืนนี้ ไอจะเป็นผู้โดยสาร” คนขับตุ๊กๆ มืออาชีพกล่าวยิ้มๆ

ราว 2 ทุ่มนาอูชานั่งตุ๊กๆ มาหาผมที่โรงแรม เขาได้ที่จอดแห่งหนึ่งไม่ไกลออกไป ราคาคืนละ 150 รูปี หรือประมาณ 30 บาท เราเดินจากโรงแรมไปยังร้าน Union Place Bar ระยะทางแค่ประมาณ 100 เมตร เป็นบาร์คนท้องถิ่น นอกจากผมแล้วก็ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติปะปน

ย้อนไปเมื่อไม่กี่คืนแรกที่ผมมาถึงศรีลังกา ขณะขึ้นชั้นดาดฟ้าของร้านแล้วมองหาพนักงานซึ่งเท่าที่เห็นทั้งร้านมีลุงคนหนึ่งเพียงคนเดียว แกบังคับให้ผมลงไปนั่งชั้น 2 คงเพราะแกจะได้บริการง่ายๆ ไม่ต้องเดินขึ้นลงบ่อยๆ ผมสั่งเบียร์ กำลังจะนั่งลงที่โต๊ะตัวหนึ่งก็มีคนจากอีกโต๊ะกวักมือเรียกให้ไปนั่งด้วยกัน ในยามที่การระบาดของโควิด-19 เพิ่งจะซาลงไป

แน่นอนว่าการกินดื่มย่อมต้องถอดหน้ากาก คนดื่มก็ย่อมต้องพูดคุยกัน ตอนกินกับแกล้มในแบบฉบับของศรีลังกายิ่งต้องคลุกวงในกันเข้าไปอีกขั้น
ผมได้จังหวะถามว่าถ้าผมกลับมายังโคลัมโบในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้าจะหาที่ตรวจโควิดแบบ RT-PCR (ก่อนกลับเมืองไทย) ได้ที่ไหน เด็กหนุ่มที่สุดในกลุ่มชื่อเอรันจัน ตอบว่า “ตรวจกับโรงพยาบาลของพวกเราไง” คุยไปคุยมาได้ความว่าพวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้ารับมือกับโควิด-19 ของโรงพยาบาล Nawaloka โรงพยาบาลขนาดใหญ่สุดของศรีลังกา อยู่ห่างจากที่พักของผมไปแค่ 200 เมตร บางคนอยู่กับรถพยาบาลฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วไปรับผู้ป่วยโควิด บางคนอยู่ในห้องแล็บตรวจเชื้อโควิด
หลังจากลุงเด็กเสิร์ฟบอกหมดเวลาขายเบียร์ คณะเจ้าหน้าที่ด่านหน้ารับมือโควิดของโรงพยาบาลใหญ่สุดของศรีลังกายังไม่กลับบ้าน คุณน้าชื่อเฟร์นานโดผู้มีเสียงเสนาะ หยิบเพลงจำนวนนับไม่ถ้วนขึ้นมาร้อง แล้วสมาชิกที่เหลือก็ร้องคลอ ใครร้องไม่ได้ก็เคาะโต๊ะ ผมปรบมือแต่สุดท้ายก็ถูกแนะนำให้เคาะโต๊ะเช่นกัน

เวลาผ่านไปเกือบ 3 สัปดาห์ ผมไม่ติดโควิด แต่คืนนี้ต้องมาเจอคนคณะเดิมอีกครั้ง
ดื่มรับไม่ดื่มลาก็น่าเกลียด ผมส่งข้อความไปหาเอรันจันเมื่อตอนกลางวัน เขาส่งกลับมาบอกว่าออกเวรแล้วจะมาพบที่ร้าน ระหว่างนี้ผมก็นั่งดื่มกับนาอูชา หมอนี่พอรู้ว่าจะมีคนมาเพิ่มก็ออกอาการเกร็งๆ และเกรงใจ ถามผมว่าเขาควรจะนั่งอยู่ต่อไหม
ผมสั่ง Lion แบบ Lager 4.8 ดีกรี นาอูชาสั่ง Carlsberg แบบ Special Brew 8.8 ดีกรี ซึ่งทำมาแข่งกับ Lion Strong ในระดับดีกรีที่เท่ากัน นาอูชาสั่งไข่เจียวใส่เครื่องเทศเป็นมื้อเย็น ผมก็สั่งด้วย ลุงเด็กเสิร์ฟคนเดิมยื่นบุหรี่ให้นาอูชา 1 มวน ผมนึกว่าแกให้ นาอูชาบอกว่าสั่งมาสูบตอนดื่มเสร็จ
เอรันจันมากับคาซุน ผู้ซึ่งในยามปกติขับรถบัส แต่ถูกเรียกมาช่วยงานขับรถของโรงพยาบาลรับผู้ป่วยโควิด นาอูชากระซิบกับผมว่าขอเป็นผู้จ่ายค่าเบียร์ให้กับ 2 คนนี้ คงรู้สึกถึงความเป็นรุ่นพี่ ผมบอกว่าจะเลี้ยงเอง แต่ไม่ทันได้พูดอะไร เอรันจันจ่ายเงินค่าเบียร์ Lion Strong 2 ขวดของเขากับคาซุนให้ลุงเด็กเสิร์ฟไปเรียบร้อยแล้ว นึกว่าพวกเขาจะลงบิลไว้ก่อน ต่อมาคาซุนไปเข้าเวร อีกคนชื่อตักศิลาซึ่งผมเคยเจอเมื่อครั้งที่แล้วออกเวรมาดื่มแทนที่

นาอูชารู้สึกผ่อนคลายและสบายใจมากขึ้นเพราะเด็กสองสามคนนี้พูดจาน่ารักและเป็นกันเอง คุยกันราบรื่น เขาหัวเราะออกมาหลายครั้ง ผมสั่งเบียร์ Lion Lager มาอีก 2 ขวด เผื่อเขา 1 ขวด (ทั้งหมดเป็นเบียร์ขวดใหญ่) นาอูชาสารภาพว่าดื่มไม่ไหว เพราะท้องว่าง ไม่ได้ดื่มมานาน และอ่อนเพลียจากการขับตุ๊กๆ ทั้งวันจนใกล้จะนั่งหลับ เขาจุดบุหรี่สูบแล้วขอตัวกลับโดยเรียกรถตุ๊กๆ

เหลือผมกับพวกด่านหน้าโควิด นั่งดื่มอีกสักพักผมก็ปรึกษาว่าผล RT-PCR ที่ตรวจเมื่อเช้านี้เช็กจากทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลผลยังไม่ออก เอรันจันร้อนใจ ผมบอกว่าไม่เป็นไร เพราะยังไงโรงพยาบาลก็นัดให้ไปรับใบผลการตรวจพรุ่งนี้เช้า เขาไม่ฟังเสียง ถือเบียร์ที่เหลือเดินลงจากร้าน บอกให้ผมเดินตาม ตอนเวลาใกล้ๆ เที่ยงคืน

เขาเดินตรงไปยังโรงพยาบาลที่ปิดให้บริการไปแล้วหลายชั่วโมง เข้าประตูทางออก แล้วเข้าไปยังห้องที่มีเจ้าหน้าที่กำลังทำงานกันอยู่หลายคน เขาเอาใบเสร็จจากผมให้เจ้าหน้าที่ค้นผลตรวจในคอมพิวเตอร์

คนที่ค้นผลตรวจทักผม “ไอคือวาซิมไง” เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ดื่มด้วยกันเมื่อรอบที่แล้ว แต่ผมจำเขาไม่ได้เพราะเขาอยู่ในชุดพีพีอี

ผลการตรวจออกมาไม่มีเชื้อ เอรันจันพาผมเดินออกจากโรงพยาบาล ไปส่งที่โรงแรม เช่นเดียวกับเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน

ส่วนผลการดื่มครั้งนี้ เมื่อกลับถึงเมืองไทยและเข้าตรวจตามระบบ Test & Go ผมก็ยังรอดไปได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยโสโอหังไม่ฟังใคร ไม่สนใจกระแส...คิดว่าแจงได้

อ่อนอกอ่อนใจจริงๆ กับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ ตั้งแต่ถ้อยคำ วาจา ท่าที ลีลาการหาเสียงของคนที่ถูกวางตัวว่าวันหนึ่งจะได้เป็นผู้นำประเทศ ตะโกนด้วยสุ้มเสียงมั่นอกมั่นใจในสิ่งที่พูด ท

สูตรแต่งตั้งตำรวจ

กว่าจะเคาะ กว่าจะคลอด ก็นั่งนับนิ้วกันแทบหงิก เพราะ 180 วัน ตามเงื่อนไขการบังคับใช้กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2567

ฤาประเทศไทยจะไร้สีสวย มีแต่สีแสบ

ประเทศไทยอยู่ในสภาพความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว แม้เวลานี้เราจะมีรัฐบาลผสมแบบข้ามขั้ว แต่เราก็ยังไม่เห็นบรรยากาศของความปรองดองเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

โลกที่'อันตราย'กับภารกิจของ'คนรุ่นใหม่'

เห็นข่าวเรื่อง ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ภาควิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านออกมาโพสต์