ทำไมคนไทยต้องสนใจ COP26?

เมื่อวานผมเขียนถึงการที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะจากประเทศไทยไปร่วมประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในช่วงนี้

เป็นการประชุมสู้โลกร้อนระดับโลกที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติ

แต่ก็มีปัญหาว่าประเทศยักษ์ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อนนั้นจะเอาจริงกับสิ่งที่ตนรับปากหรือไม่

สหรัฐฯ กับจีนคือ “จำเลย” ใหญ่ เพราะมีอุตสาหกรรมที่มีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าใครคนอื่น

การเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจนี้จะนำไปสู่การแก้ไขอย่างจริงจังหรือไม่

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ให้วอชิงตันกลับมาร่วม Paris Agreement หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนอเมริกาออก

แต่ไบเดนจะต้องต่อรองกับ สี จิ้นผิง แห่งปักกิ่งหนักหน่วงเพียงใด

การที่ผู้นำจีนลังเลที่จะเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง แต่ประชุมผ่านวิดีโอแทน เป็นการส่งสัญญาณทางลบมากน้อยเพียงใด

นั่นคือคำถามที่ต้องหาคำตอบให้ได้ จึงจะทำให้เราเห็นภาพที่แท้จริงของกระบวนการแก้ปัญหาโลกร้อน

ประเทศไทยเรายืนอยู่ตรงไหนของเวทีระหว่างประเทศที่มีสมาชิกถึง 197 ประเทศ?

ต้องถือว่าไทยเป็น “เด็กดี” ในเรื่องนี้...ระดับหนึ่ง

แต่ยังต้องทำอะไรอีกมากเพื่อให้เราเป็นหนึ่งในประเทศที่ “เอาจริงเอาจัง” กับปัญหาระดับโลก

ที่ผ่านมาไทยได้ร่วมลงนามและให้สัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเสมอมา

เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

และความตกลงปารีส (Paris Agreement)

การที่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชานำคณะเข้าร่วมประชุม COP26 ก็คงต้องการยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี ค.ศ.2030 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ “เป็นศูนย์” ให้เร็วที่สุดในช่วงครึ่งหลังศตวรรษนี้

และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2065

รายงานทางการบอกว่า แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยอยู่ที่ร้อยละ 20–25 ภายในปี ค.ศ.2030

โดยจะเน้นการดำเนินการใน 3 สาขา ได้แก่

พลังงานและขนส่ง

กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์

และการจัดการของเสียของชุมชน

รายงานของทางราชการไทยแจ้งว่า ภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดของไทยคือ "ภาคพลังงาน" กว่า 73%

ซึ่งในระดับโลกเราถือเป็นอันดับ 21 ของโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราวๆ 350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

นั่นย่อมแปลว่าโจทย์สำคัญที่ประเทศไทยจะต้องทำให้ได้คือ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานฟอสซิลให้มากขึ้นอย่างเป็นระบบ

ถึงวันนี้ หากอ่านเอกสารของรัฐบาลไทยจะเห็นว่าประเทศไทยยังอยู่ระหว่างร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ

ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆ นี้

ก่อนที่จะจัดส่งไปยัง UNFCCC ในช่วงการประชุม COP26

การที่นายกฯ ไทยนำไทยไปร่วมประชุมเองครั้งนี้น่าจะชี้ว่ารัฐบาลไทยพร้อมจะตอบคำถามของประเทศอื่น และมีข้อมูลเพียงพอที่จะร่วมแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้กับประชาคมโลก

ที่ผ่านมาไทยได้รับการประเมินว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรงเป็นอันดับ 9 ของโลกในช่วงปี 2000-2019 ที่ผ่านมา

มองไปรอบๆ อาเซียน ก็มีการคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งในโลก

ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำที่สูงขึ้น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และพายุฝนที่รุนแรงมากขึ้น 7% ในทุกๆ 1 องศาเซลเซียสของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น!

ที่น่ากังวลสำหรับคนไทยไม่น้อยคือ รายงานที่ว่ากรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องและจะถึงจุดอันตรายในปี 2573

อันมีสาเหตุมาจากการที่พื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

เมื่อเกิดสภาวะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและพายุที่รุนแรงขึ้น

ปรากฏการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งความปลอดภัยในชีวิตและที่อยู่อาศัย

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2070 จะมีผู้คนกว่า 5 ล้านรายในกรุงเทพฯ ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมสูง

ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายในมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 350,000 ล้านบาทต่อปี จากภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเรื่องโลกร้อนมีความสำคัญต่อคนไทยอย่างไร

จะว่าไปแล้ว การร่วมประชุมระดับโลกมีความสำคัญ

แต่อาจจะสำคัญน้อยกว่าการสร้างความตระหนักในประเทศด้วยนโยบายและแผนปฏิบัติในทุกระดับอย่างจริงจัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย