โซลาร์เซลล์เทรนด์ใหม่รับโลกเปลี่ยน

ราคาพลังงานที่พาเหรดจูงมือกันถีบตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ซึ่งมีปัจจัยมาจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง กดดันประเทศไทยที่ต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ให้ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่งผลต่อเนื่องไปยังค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ต้นทุนด้านพลังงานซึ่งสะท้อนกลับมายังค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟทีที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟของประชาชน ที่จะต้องทบทวนให้สอดรับกับต้นทุนทุกๆ 4 เดือน ได้ปรับขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี และล่าสุดในงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) นี้ก็มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ปัจจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชน (รวมค่าไฟฟ้าฐาน) อยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย ส่วนงวดต่อไปก็ต้องมาลุ้นกันว่าจะปรับขึ้นมากน้อยแค่ไหน โดยการเปิดรับฟังความเห็นจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. มี 3 อัตราให้เลือก คือ ปรับขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย, 4.92 บาทต่อหน่วย และสูงสุดเป็น 5.17 บาทต่อหน่วย

ซึ่งที่ผ่านมาต้นทุนพลังงานที่เพิ่มนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ทำหน้าที่หลักในการช่วยแบกรับภาระค่าเอฟทีแทนประชาชน ล่าสุดต้องควักเงินดูแลไปแล้วเกือบแสนล้านบาท จนต้องส่งสัญญาณว่าไม่อาจช่วยได้อีกต่อไป ดังนั้นคงต้องมาลุ้นกันว่าใน 3 สูตรที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นกันนั้น ท้ายสุดค่าไฟฟ้าจะปรับขึ้นเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอันมีผลมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการให้ความสำคัญกับการลดภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจในด้านต่างๆ ของไทยต่างเสาะแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ มารับมือ ทั้งการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะพลังงานสะอาดซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก โดยธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้พัฒนาในทุกกลุ่มเล็ก กลาง ใหญ่ต่างก็ให้ความสนใจและติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์รูฟท็อปให้กับโครงการหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม พร้อมเสิร์ฟให้กับผู้บริโภคทันที เรียกว่าใครไม่ทำถือว่าตกเทรนด์! นับว่าตลาดที่อยู่อาศัยของไทยพลิกโฉมหน้าอีกครั้ง

อย่างเช่น บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ หรือ SENA ซึ่ง เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการได้ระบุว่า SENA เริ่มต้นพัฒนาหมู่บ้านโซลาร์รูฟท็อปเมื่อกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีการพัฒนาบ้านโซลาร์แล้วถึง 47 โครงการ เป็นแนวสูง 22 โครงการ และแนวราบ 25 โครงการ รวมกว่า 700 หลังคาเรือน คิดเป็นการผลิตไฟกว่า 2,000 กิโลวัตต์

ล่าสุด เสนาฯ ยังจับมือบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) นำอุปกรณ์เข้ามาใช้ในโครงการบ้าน ไม่ว่าจะเป็น SMART PV INVERTER ซึ่งเป็นอุปกรณ์ แปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับ มีโซลูชันอินเวอร์เตอร์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น PID Recovery เป็นตัวช่วยฟื้นฟู เพิ่มประสิทธิภาพและลดการเสื่อมสภาพของแผงโซลาร์เซลล์ รวมทั้งนำฟังก์ชัน AFCI ป้องกันการเกิดไฟไหม้ ด้วยการตัดวงจรแบบอัตโนมัติมาใช้ในโครงการ

"จะเห็นว่า การพัฒนาโครงการต่างๆ ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานมาใช้ในโครงการหมู่บ้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ลอยน้ำในแหล่งน้ำของโครงการ การให้บริการชาร์จไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้อย่างมาก โดยในปี 2564 จนถึงปัจจุบันมีลูกบ้านเสนายื่นเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนทั้งหมด 295 ราย คิดเป็น 891.67 กิโลวัตต์ และจะยื่นเพิ่มเติมอีกในปีนี้"

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมโซลาร์ฯ นั้นในต่างประเทศมีการตื่นตัวมากพอสมควร เพราะเป็นพลังงานสะอาด ช่วยขับเคลื่อนแผนลดโลกร้อนได้เป็นอย่างดี และสิ่งที่น่าจับตาคือ นวัตกรรมแบตเตอรี่ที่กำลังเป็นความหวังให้โซลาร์ฯ กลายเป็นพลังงานที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจะเป็นตัวช่วยกักเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้ต้นทุนในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 25 เซ็นต์ต่อวัตต์ ล่าสุดขยับมาสู่ 30 เซ็นต์ต่อวัตต์ เป็นผลมาจากความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่จีนในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกได้ลดการผลิตลง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์จากกระบวนการผลิต ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง การนำเข้าแผงโซลาร์จึงต้องจ่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ทำให้การผ่อนค่าติดตั้งโซลาร์ (ไฟแนนซ์) ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ซึ่งวันนี้แบตเตอรี่แม้มีแล้วแต่ยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องราคา หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่านวัตกรรมแบตเตอรี่ราคาต่ำ ประสิทธิภาพสูง จะมาในไม่ช้านี้ .....และนี่จะเป็นอีกก้าวของการปฏิวัติวงการบ้านโซลาร์รูฟท็อปอีกระลอกหนึ่งอย่างแน่นอน.

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

เร่งกระตุ้นอสังหาฯ

อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ยาว ตั้งแต่ภาคการผลิตต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ การท่องเที่ยว ตลอดจนการเงิน หากภาพรวมอสังหาฯ ดีย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมใกล้เคียง แต่หากลบก็กระทบธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ส่งผลกับภาคอสังหาฯ อย่างเห็นได้ชัด

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี