๘ ปี "ลุงตู่" อยู่หรือไป

การเมืองก็เมืองดนตรี

มีจังหวะ

วันนี้ (๑ สิงหาคม) ก้าวเข้าสู่เดือนสำคัญ เดือนที่ "ลุงตู่" ต้องตอบคำถามเรื่อง "วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ๘ปี" ชนิดที่ ทั้งคนถามและคนตอบต้องเบื่อไปตามๆกัน

วันที่ ๒๔ สิงหาคมคือวันครบ ๘ ปี นับตั้งแต่ "ลุงตู่" อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  แต่จะเป็นวันสุดท้ายการอยู่ในเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕๘ ที่ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง" หรือไม่?

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่ถกเถียงกันมาเป็นปีๆแล้วว่า การนับวาระเริ่มต้น และวาระสิ้นสุด ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "ลุงตู่" นั้น ต้องเริ่มนับจากไหน และจบลงเมื่อไหร่

เรื่องเดียวกันแต่นับไม่เหมือนกัน ปัญหามันอยู่ที่ตรงนี้แหละครับ

ไล่ไปตามเหตุการณ์

เกิดรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

จากนั้นวันที่  ๒๒ กรกฎาคม  ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗                                   

วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  เป็นนายกรัฐมนตรี

วันที่ ๒๔ สิงหาคม ที่จะถึงนี้ "ลุงตู่" เป็นนายกรัฐมนตรีมาครบ ๘ ปีเต็ม

ฉะนั้นจุดเริ่มต้นการเป็นนายกรัฐมนตรีของ "ลุงตู่" มาจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗            มาตรา ๑๙ บัญญัติเอาไว้ดังนี้

"..พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐมนตรีอื่นอีกจํานวนไม่เกินสามสิบห้าคนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดําเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ...

จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มิได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้

แต่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความสิ้นสุดลงของนายกรัฐมนตรีคือมาตรา  มาตรา ๒๐ วรรค ๒ บัญญัติว่า

"...ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อมีกรณีตามมาตรา ๙ (๑) หรือ (๒)..."

มาตรา ๙ ที่นำมาใช้โดยอนุโลมคือ สมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงเมื่อ

 (๑) ตาย

 (๒) ลาออก

หมายความว่า ภายใต้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗  "ลุงตู่" จะพ้นหน้าที่ได้ มี ๒ กรณีคือ ตาย และ ลาออก เท่านั้น 

ไม่มีการนับวาระ

และเมื่อพิจารณาในคำปารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ พบข้อความที่สำคัญ

"...คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงจําเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอํานาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง ยกเว้นความในหมวด ๒ พระมหากษัตริย์ โดยได้กําหนดแนวทางการแก้ปัญหาไว้สามระยะคือ ระยะเฉพาะหน้า เป็นการใช้อํานาจสกัดการใช้กําลังและการนําอาวุธมาใช้คุกคามประชาชน ยุติความหวาดระแวง และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง ที่สะสมมากว่าหกเดือนให้คลี่คลายลง เพื่อเตรียมเข้าสู่ระยะที่สองซึ่งจะจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จัดตั้งสภาขึ้นทําหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และให้มีคณะรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินแก้ไขสถานการณ์อันวิกฤติให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ ฟื้นฟู ความสงบเรียบร้อย ความรู้รักสามัคคี และความเป็นธรรม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง จัดให้มีกฎหมายที่จําเป็นเร่งด่วน จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้มี การปฏิรูปในด้านการเมืองและด้านอื่น ๆ และให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วางกติกาการเมือง ให้รัดกุม เหมาะสม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม ก่อนจะส่งมอบภารกิจเหล่านี้แก่ผู้แทนปวงชนชาวไทยและคณะรัฐบาลที่จะเข้ามา บริหารราชการแผ่นดินในระยะต่อไป..."

คำปรารภ มิได้ระบุเงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลคสช. แต่พูดถึงภาระกิจก่อนส่งมอบให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ความหมายก็คือ นายกรัฐมนตรีใน รัฐบาลคสช. สามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนถึงวันนี้คือ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ หรือนานกว่า ๘ ปีก็ได้  หากมีความสามารถมากพอและประชาชนยอมรับ

ฉะนั้นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

หากลองตั้งตุ๊กตาเพื่อให้เห็นความชัดเจนของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่คาบเกี่ยวรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับ จะนับอย่างไรกันแน่

อย่างที่บอกข้างต้น หาก "ลุงตู่ " เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลคสช.ลากยาว เกินวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕  ขณะที่เดียวกัน รัฐธรรมนูญใหม่กำลังประกาศใช้ มีบทบัญญัติห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน ๒ สมัย หรือ ๘ ปี  การเลือกตั้งจะมีช่วงปลายปีนี้           

และ "ลุงตู่" ประกาศจะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จะนับอย่างไร เพราะ "ลุงตู่" เป็นนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปี ตามรัฐธรรมนูญใหม่ไปแล้ว

ครับ...ที่ยกตัวอย่างที่เป็นไปไม่ได้นี้ขึ้นมาเพราะ อยากจะชี้ให้เห็นว่า ปัญหาอาจมีทั้งจากกฎหมายและคน

ความจริงที่ปรากฎในขณะนี้คือ

"ลุงตู่" เป็นนายกรัฐมนตรีครบ ๘ ปี ในวันที่ ๒๔ สิงหาคมนี้  หากนับตั้งแต่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗

แต่หากเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ "ลุงตู่" เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐

ก็จะไปครบ ๘ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๗๐

ปัญหาที่เถียงกันอยู่ในขณะนี้คือ จะเริ่มนับตั้งแต่วันไหน

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งเฉพาะมีตำแหน่งเดียว

แต่ปัญหาคือการนับวาระการดำรงตำแหน่งห้ามเกิน ๘ ปีเพิ่งจะบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ขณะที่รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ มิได้ระบุวาระการดำรงตำแหน่งเอาไว้

จะเป็นกี่ปีก็ได้

นั่นแสดงให้เห็นว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับ ระบุวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเอาไว้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

และความแตกต่างนี้จะสามารถนำมานับเป็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ต่อเนื่องได้หรือไม่

เดือนสิงหาคม จังหวะชีวิตของ "ลุงตู่" กลับมาตุ๊ม ๆ ต่อม ๆอีกครั้ง

รอฟังศาลรัฐธรรมนูญครับ

แต่กว่าจะมีคนยื่นตีความ กว่าศาลจะวินิจฉัย ไม่ใช่วันสองวัน

อาจจะเลยช่วงไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ พฤศจิกายน นี้ไปแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง

รวยแล้วไม่โกงไม่มี

นายกฯ เศรษฐาเปิดใจวานนี้ (๑๕ เมษายน) ฟังแล้วเหมือนเดจาวู "...มั่นใจได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องของชีวิตส่วนตัว ส่วนตัวของผมลงตัวแล้ว มีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้อยู่ได้อย่างสบายๆ

รัฐบาลลิงแก้แห

ชี้แจงก็เหมือนไม่ชี้แจง ผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คงจะหน้าเขียวไปตามๆ กัน เพราะถูกรัฐบาลบีบให้ร่วมโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงินที่รัฐบาลล้วงมาคือ ๑๗๒,๓๐๐ ล้านบาท