ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพและความสามารถ ตลอดรัชสมัย 70 ปีที่ครองราชย์ พระองค์ได้ทรงอุทิศ ทุ่มเท เสียสละ ความสุขส่วนพระองค์ เสี่ยงภัยภยันตรายนานัปการ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โครงการพระราชดำรินับพันโครงการ โครงการที่สำคัญ อาทิ

โครงการแกล้งดิน โครงการปลูกหญ้าแฝก โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ทุนมูลนิธิอนันทมหิดล แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการฝนหลวง กังหันชัยพัฒนา

ตำรวจตระเวนชายแดนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระเมตตาสนพระทัยในกิจการตำรวจพลร่ม เสด็จฯ เยี่ยมหน่วยตำรวจพลร่มที่ค่ายนเรศวร และพระราชทานสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆ นำไปใช้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนในถิ่นทุรกันดาร

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อขึ้นครองราชย์ต่อ ได้ทรงสืบสานพระปณิธานของเสด็จพระบิดา และปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่อทุกประการ

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ได้พระราชทานโฉนดที่ดินให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โฉนดที่ดินค่ายพระราม 6 อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 1,244 ไร่ และโฉนดที่ดินค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 770 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานและเพื่อประโยชน์ในทางราชการ

วันที่ 1 ตุลาคม 2561 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนโดยตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร ได้เข้าสำรวจพื้นที่ว่างเปล่าด้านติดถนนเพชรเกษม

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้มีคำสั่งที่ 380/2561 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการและพัฒนาพื้นที่ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

โดยบูรณาการตำรวจพลร่ม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ร่วมดำเนินงานโครงการร่วมพัฒนาพื้นที่ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อดำเนินการตาม “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสเรื่องเศรฐกิจพอเพียง พระราชทานในวโรกาสต่างๆ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนทั่วไป ดังนี้

“ปรัชญาเศรฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาชี้แนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับตั้งแต่ ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินการไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์

ความพอเพียงหมายถึง พอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันทั้งในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก

ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการมาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน

ในขณะเดียวกันจะต้องเสริมพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความรอบรู้ที่เหมาะสม

ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุและสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุด กรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข
ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

โครงการร่วมพัฒนาพื้นที่ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อดำเนินการตาม "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.เพื่อเป็นการน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

2.เพื่อเป็นแหล่งกระจายสินค้าทางเกษตรอินทรีย์ ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดสารเคมี

3.เพื่อเป็นแหล่งสาธิตหรือเยี่ยมชมการทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

4.เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหรือแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติสำหรับนักท่องเที่ยว

5.เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนและครอบครัว โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก

6.เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโครงการพระราชดำริ

7.เพื่อน้อมนำแนวทางตามหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน

กลุ่มเป้าหมาย ข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนและครอบครัว โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ประชาชนในพื้นที่และรอบเขตพื้นที่ดำเนินโครงการที่สมัครเป็นสมาชิก โครงการพระราชดำริ นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม

วิธีดำเนินการแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ ขั้นเตรียมการขั้นปฏิบัติการ และขั้นติดตามประเมินผล

ขั้นเตรียมการ แต่งตั้งคณะกรรมการ ประชุมจัดทำ (Master Plan) กำหนดพื้นที่นำร่อง 3 พื้นที่ บริเวณค่ายนเรศวร บริเวณค่ายพระราม 6 และศูนย์อำนวยการโครงการพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ออกแบบร้านค้าเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่นำร่องและจำหน่ายสินค้าของหน่วยที่ดำเนินงาน ตามแนวทาง "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ประสานงานขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน

ขั้นปฏิบัติการ ก่อสร้างอาคาร สถานที่ บริหารจัดการด้านเกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร ฝึกอบรมผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรอินทรีย์ และการดำเนินการในร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การให้ความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ขั้นติดตามและประเมินผล ติดตามประเมินผลการดำเนินการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพทุก 1 เดือน

เชิงปริมาณ จำนวนผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายและมีผู้ซื้อสินค้าในร้าน/เดือน จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการในโครงการ/เดือน

เชิงคุณภาพ ระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ระดับความพึงพอใจผู้เข้าร่วมโครงการ และระดับการมีส่วนร่วมในแต่ละกิจกรรมของโครงการ

สำหรับงบประมาณเบิกจ่ายจากงบประมาณของราชการ และขอรับการสนับสนุนและขอรับการบริจาคจากเอกชน

พื้นที่ดำเนินการ ค่ายนเรศวร ค่ายพระรามหก และศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ผลที่คาดว่าจะได้รับ มีดังนี้

1.พื้นที่ว่างเปล่าได้รับการพัฒนาตามแนวทาง "หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

2.ประชาชนที่สัญจรไปในเส้นทางถนนเพชรเกษม ได้มีจุดพักรถ และได้มีโอกาสซื้อสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตราฐานระดับสากล ราคาไม่แพง ปลอดสารเคมี

3.ช่วยส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีรูปแบบและการจัดการที่เหมาะสมแก่การดำเนินชีวิต

4.ส่งเสริมการค้าปลีกแบบยั่งยืน เกี่ยวกับสินค้าทางการเกษตรด้วยการส่งเสริมด้านการผลิตให้มีคุณภาพที่สม่ำเสมอ

5.ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ตามแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

6.ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้สามารถดำเนินการแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน

7.เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายกับกำลังพลและประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ

8.เป็นจุดกระจายสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพจากโครงการพระราชดำริและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ใกล้เคียง

ผู้รับผิดชอบโครงการ หน่วยงานของรัฐ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานภาคเอกชน มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

การดำเนินการตามโครงการร่วมพัฒนาพื้นที่ฯ ที่ค่ายนเรศวร ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 โดยให้แต่ละหน่วยรับผิดชอบและดำเนินการดังนี้

กรมโยธาธิการและผังเมืองก่อสร้างอาคารบริการนักท่องเที่ยว อาคารนิทรรศการ อาคารร้านอาหาร อาคารห้องน้ำ อาคารรับรองอาคารขยะ ลานจอดรถยนต์ และลานอเนกประสงค์ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง (จัดแสดงแนวคิดโครงการพระราชดำริ ร.9 เช่น ฝายชะลอกั้นเก็บน้ำ แปลงเกษตร) ถนน คลอง สะพาน ในโครงการ และป้ายโครงการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ

กิจกรรมดำเนินการด้านเกษตร ปรับพื้นที่ สร้างแหล่งน้ำระบบ

จ่ายน้ำสร้างโรงเรือน ทางเดินภายในโครงการ สร้างสะพาน สร้างถังเก็บน้ำ

กิจกรรมด้านนาข้าว การเกษตร ปศุสัตว์ และประมงด้านนาข้าว จัดทำนาข้าว ปลูกข้าว แปลงสาธิต ตลอดจนสีข้าวส่งมอบให้โครงการ

ด้านการเกษตร ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ปลูกแปลงผักในโรงเรือนกางมุ้ง การเพาะเห็ดในโรงเรือน ติดตั้งอุปกรณ์ให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์ในบริเวณพื้นที่ปลูกต้นไม้

ด้านปศุสัตว์ จัดให้มีการเลี้ยงไก่ไข่ จำหน่ายไข่ไก่ให้ตำรวจในค่ายนเรศวร และประชาชนทั่วไป ปลูกถั่วลิสงเพื่อเป็นอาหารไก่

ด้านประมง เลี้ยงปลาในหนองน้ำ เลี้ยงปลาในนาข้าว

การดำเนินงานกิจกรรม กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร (ตำรวจพลร่ม) ได้จัดข้าราชการตำรวจสนับสนุนการปฏิบัติงานในโครงการ โดยร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียนรู้ด้านวิชาการและฝึกปฏิบัติในการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ดังนี้

ร่วมกิจกรรมปักดำนาข้าว เกี่ยวข้าวในแปลงนาสาธิต เรียนรู้การปลูกข้าวด้วยวิธีโยนต้นกล้าข้าวในแปลงนา เพาะเลี้ยงก้อนเห็ดนางฟ้าในโรงเรือน การผสมปุ๋ย ปลูกต้นไม้ หญ้าแฝก พัฒนากำจัดวัชพืช

การเลี้ยงไก่ไข่ เก็บเกี่ยวผลผลิตปลานวลจันทร์ และกุ้งกรามก้าม โดยผลผลิตปลานวลจันทร์ทะเลจะดำเนินการแปรรูป พร้อมทั้งจำหน่ายกุ้งกรามก้ามสด

ปรับภูมิทัศน์รอบโครงการ ฝึกอบรมพืชไร่และพืชหลังนา การทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์เพื่อบำบัดคุณภาพน้ำและลดค่าปริมาณแอมโมเนีย

เปิดกิจการร้านค้าสวัสดิการ ร้านกาแฟ "คาลิบู” ภายในอาคารบริการนักท่องเที่ยว

ได้มีการกำหนดแนวทางการศึกษาดูงานแก่คณะที่มาเยี่ยมชมแนวทางการขายสินค้าและบริการ การบริหารโครงการ และการรักษาความปลอดภัยและการจราจร

ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจกิจการ โครงการร่วมพัฒนาพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อดำเนินงานตาม "หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เข้าเยี่ยมชมการดำเนินการ และซื้อผลิตภัณฑ์ของโครงการได้ทุกวัน เวลา 08.30 น.-17.00 น. ณ บริเวณโครงการร่วมพัฒนาฯ ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ

ตำรวจสวนสนาม

การสวนสนาม คือพิธีชุมนุมพลของกองทหาร เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมเพรียง ความสง่าผ่าเผย และอานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์