ตำรวจ ศชต.

ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา มากมายหลายเหตุการณ์ ยืดเยื้อเรื้อรัง มีการลอบฆ่ารายวัน ทั้งประชาชน พระสงฆ์ ข้าราชการ ครู ทหาร ตำรวจ การลอบวางระเบิด การลอบวางเพลิง เผาโรงเรียน สถานที่ราชการ สาธารณสมบัติ และสถานที่ต่างๆ

ล่าสุดเมื่อวานนี้ วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 00.10-00.20 น. คนร้ายได้วางแผนสร้างสถานการณ์ก่อความไม่สงบ ลอบวางเพลิง วางระเบิด ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น 7-11 และมินิบิ๊กซี รวม 18 แห่ง ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 เวลาประมาณ 21.15 น. คนร้ายลอบวางระเบิดแสวงเครื่องในรถบรรทุกขยะ 6 ล้อ แรงระเบิด ทำให้รถขยะเสียหายทั้งคัน อาคารป้อมหน่วยบริการประชาชน อาคารสำนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี สาขาปะนาเระ ได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุเกิดตำบลควน อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

และเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 เวลาประมาณ 02.00 น. คนร้ายได้ลอบใช้อาวุธปืนยิง ส.ต.ต.ธนกฤต ฤกษ์ดี ผบ.หมู่.นปพ.สภ.สุไหงโก-ลก ถึงแก่ความตาย ที่ ถนนทรายทอง 5 ตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม  4,555 คน (ตำรวจเสียชีวิต 417 คน) ผู้ได้บาดเจ็บ 11,244 คน (ตำรวจได้บาดเจ็บ 1,754 คน)

ย้อนประวัติศาสตร์ เดิมอาณาจักรปัตตานีก่อกำเนิดขึ้นก่อนอาณาจักรสยาม 500 ปี บริเวณพื้นที่ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาบางส่วน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูถิ่น (ยาวี) สื่อสารในชีวิตประจำวัน มีขนบธรรมเนียม ประเพณี เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

ด้วยความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณีประกอบกับลักษณะภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นและเปราะบางต่อเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ

พ.ศ.2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงยกทัพตีเมืองปัตตานีไว้ได้ ปัตตานีตกเป็นประเทศราชเมืองขึ้นในอำนาจของสยามตั้งแต่นั้นมา

พ.ศ.2445 พระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ปัตตานีก็ถูกรวมเป็นมณฑลปัตตานี เป็นส่วนหนึ่งของสยาม

ในปี พ.ศ.2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุบมณฑลปัตตานี เป็นจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

บางครั้งประชาชนชาวปัตตานีไม่พอใจต่อการปกครองสยาม มีการก่อกบฏ ต้องส่งกำลังไปปราบปราม

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรม บังคับให้ประชาชนสวมหมวก แต่งกายแบบไทย ทำตามวัฒนธรรมไทย ห้ามพูดภาษามลายู ฯลฯ รวมทั้งมีการกดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้มีการชุมนุมประท้วงการปกครองจากรัฐบาลเป็นระยะๆ

เมื่อวันที่ 25-28 เมษายน พ.ศ.2491 ได้เกิดเหตุกบฏดุซงญอ เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มชาวมุสลิมไทย เชื้อสายมลายู เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 400 คนและบาดเจ็บจำนวนมาก ที่ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส มีการจับกุมหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ในข้อหากบฏชาวมุสลิมบางส่วนอพยพไปมาเลเซีย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระราชหฤทัยและเข้าใจสภาพปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดี ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรเป็นประจำทุกปี พระราชทานโครงการพระราชดำริหลายโครงการ

พ.ศ.2516 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่เขาตันหยง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เพื่อประทับระหว่างเสด็จฯ เยี่ยมเยียนประชาชน ช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี

รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยได้กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะในลักษณะพื้นที่พิเศษ เพื่อคลี่คลายปัญหาความแตกต่างในเรื่อง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ภาพลักษณ์ที่มีแต่ความไม่สงบ

สภาพปัญหามีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน ทั้งในด้านสังคมวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง โดยเฉพาะความไม่เข้าใจกันและความหวาดระแวงในความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน

พ.ศ.2524 รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยพัฒนาจากศูนย์ประสานงานของการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต.) ของกรมการปกครอง รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล

เพื่อเร่งรัด กำกับ ดูแล ประสานงาน ผนึกกำลังและติดตามประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยงานฝ่ายพลเรือนและตำรวจในพื้นที่ มุ่งให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของนโยบายในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

เน้นหนักงานด้านสังคม จิตวิทยา การเมือง การปกครอง การพัฒนาประสิทธิภาพของข้าราชการ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และความร่วมมือในระดับท้องถิ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน

รวมทั้งประสานงานกับกองบัญชาการผสม พลเรือนตำรวจทหาร (พตท.43) ที่เป็นหน่วยงานอำนวยการ จัดตั้งขึ้นพร้อมกัน มีภารกิจในเรื่องการใช้กำลังป้องกันปราบปรามการก่อการร้ายทุกรูปแบบ

อดีตผู้อำนวยการ ศอ.บต. อาทิ นายอนันต์ อนันตกูล นายบัญญัติ จันทน์เสนะ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ฯลฯ

สำหรับตำรวจ หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัด (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส)

ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2503 กองบังคับการตำรวจภูธร เขต 9 สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธร ปี พ.ศ.2519 กองบังคับการตำรวจภูธร 12 สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 4 (แยกมาจากกองบัญชาการตำรวจภูธร)

ปี พ.ศ.2536 ตำรวจภูธร ภาค 9 ปี พ.ศ.2551 ศูนย์ปฏิบัติราชการชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และปี พ.ศ.2560 กลับมาเป็นตำรวจภูธร ภาค 9 จนถึงปัจจุบัน

ผู้บังคับบัญชาตำรวจในอดีตหลายท่าน มีความสามารถและรอบรู้ในเรื่องประวัติความเป็นมาของคนร้ายกลุ่มต่างๆ เสี่ยงภัยยิงปะทะต่อสู้กับคนร้ายหลายครั้ง เป็นตำนานของการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเล่าขานกันต่อๆ มา

อาทิ พล.ต.ท.พิงพันธ์ เนตรรังษี อดีต ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.กัมปนาท จินตวิโรจน์ พล.ต.ต.นคร พรหมชัย อดีต ผบก.ภ.12 พล.ต.ท.สาโรจน์ จินตวิโรจน์ อดีต ผบก.ภ.จว.นราธิวาส พล.ต.ท.ปัญญา เทียนศาสตร์

พล.ต.ท.ธานี ทวิชศรี อดีต ผบช.ภ.9 พล.ต.อ.บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ อดีตรอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ อดีตรอง ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.ธีรวุฒิ บุตรศรีภูมิ อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร.

พล.ต.ท.ธานี ทวิชศรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ได้เล่าให้ฟังว่า

"เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2517 มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดและทำร้ายเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดบ่อยครั้ง นำกำลังตำรวจชุดรถยนต์หุ้มเกราะชุดแรกของประเทศไทยลงไปปฏิบัติหน้าที่ ออกลาดตระเวนคุ้มครองตามเส้นทาง วนเวียน ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประสบเหตุถูกยิง 1 ครั้ง โดนระเบิด 2 ครั้ง

เคยดำรงตำแหน่ง สวญ.สภ.อ.สะบ้าย้อย จว.สงขลา อำเภอเดียวในประเทศไทย ที่มีทั้งผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โจรจีนคอมมิวนิสต์ และขบวนการโจรก่อการร้าย แหล่งซ่องสุมชุมโจร อยู่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับตำรวจในพื้นที่ตลอดเวลา ไม่ออกจากพื้นที่ไปไหนเลย

รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาของชาติ เกิดจากความไม่เข้าใจกัน เป็นปัญหาทับซ้อนกันระหว่างชนชาติ ระหว่างศาสนา ระหว่างเชื้อชาติ ต้องแก้ปัญหาด้วยการเจรจา คุยกันดีกว่ายิงกัน เพราะใช้วิธีนั้นแล้วไม่ได้ผล ยิงกันฆ่ากันมาเป็นร้อยปีแล้วปัญหาไม่หมดไป

ในปี พ.ศ.2547 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับ "ประวัติศาสตร์บาดแผล” สำคัญ 3 ครั้ง

วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 คนร้ายได้ปล้นปืนจำนวนมากที่ ค่ายกองพันทหารพัฒนา (ค่ายปิเหล็ง) อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ระเบิดชนวนเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดภาคใต้ ให้ทวีความรุนแรงขึ้น

วันที่ 28 เมษายน 2547 เหตุการณ์ "มัสยิดกรือเซะ” ที่จังหวัดปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 108 คน

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จว.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 84 คน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ในขณะนั้น ได้จัดตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า” (ศปก.ตร.สน.) ขึ้นที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธร ภาค 9 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2547

ศปก.ตร.สน. ทำหน้าที่อำนวยการ ควบคุมสั่งการของตำรวจทุกหน่วย เพื่อแก้ปัญหาและยุติสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วที่สุด

ประกอบกำลังพลตำรวจจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทุกหน่วย ลงไปในพื้นที่เพื่อทำงานสนับสนุนการปฏิบัติตำรวจในพื้นที่

พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในขณะนั้น เป็นผู้บังคับบัญชา ศปก.ตร.สน.เป็นคนแรก

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2551 รัฐบาลสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้” (ศชต.) เป็นหน่วยงานเทียบเท่ากองบัญชาการ รับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีลักษณะของการกระทำผิดเป็นการเฉพาะและการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่มีความแตกต่างจากในพื้นที่อื่นๆ

สมควรจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนราชการระดับกองบัญชาการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้เหมาะสม และเพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความคล่องตัว ต่อเนื่อง เป็นระบบ ยังผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.9 และ ผบ.ศปก.ตร.สน เป็นผู้ขับเคลื่อนและผลักดันแยกพื้นที่ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จัดตั้งกองบัญชาการใหม่ ในชื่อ "ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้” มีบทบาทอย่างมากในการคัดเลือก วางกำลัง ส่งเสริม ทั้งด้านงบประมาณ ขวัญกำลังใจกำลังพล

พล.ต.อ.อดุลย์ถือว่าเป็นแม่ทัพสีกากีคนสำคัญในภารกิจดับไฟใต้ ได้เคยกล่าวไว้ว่า

"ผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นเด็กดี เรียนหนังสือเก่งที่ถูกหลอกมาใช้ ถูกยืมมือ หากสงครามชนะแกนนำจะได้เป็นใหญ่ ระหว่างทางก็ยังได้เงินอีก เรื่องเหล่านี้ต้องแก้ไขที่การศึกษาและถอนความคิดความเชื่อ

สำหรับตำรวจเราต้องมีเรื่องร้องเรียนน้อยลง สูญเสียน้อยลง และจับกุมคนร้ายได้มากขึ้น สำคัญที่สุดคือต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นใจต่อรัฐ ให้พี่น้องประชาชนได้ศรัทธารัฐ เราไม่ต้องการให้เกิดกรณีแบบตากใบ หรือกรือเซะซ้ำอีก

เพราะรู้ดีกว่าฝ่ายตรงข้ามต้องการหาเหตุในลักษณะนั้นเพื่อยกระดับสถานการณ์ ฉะนั้นเราต้องระมัดระวังไม่ให้พลาดพลั้งแม้แต่นิดเดียว”

นับตั้งแต่ไฟใต้ปะทุขึ้นมา ตำรวจขาดขวัญ กำลังใจ ขอย้ายออกนอกพื้นที่ ต้องชักจูงใจให้ตำรวจอยูในพื้นที่ โดยเพิ่มเงินเบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มพิเศษ (พ.ส.ร.) ค่าครองชีพ สิทธินับเวลาราชการทวีคูณ (ปฏิบัติราชการ 1 ปี คิดเป็น 2 ปี) ส่งผลต่อขั้นเงินเดือน การขอขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ และลำดับอาวุโสในการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น

ในช่วงเวลานั้น ศชต.บริหารจัดการมีประสิทธิภาพเอกภาพ ในการบังคับบัญชาสูง ผู้ใต้บังคับบัญชามีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความภาคภูมิใจ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญ แต่งตั้ง ผบช.ศชต.โดยคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ไปปฏิบัติหน้าที่

อาทิ พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ (ผบช.ศชต.คนแรก)พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ (ผบช.ศชต.คนสุดท้าย)

พ.ศ.2560 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบรวมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดน (ศชต.) เข้ากับตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งเป็นรูปแบบเดิมก่อนก่อนแยกจัดตั้ง ศชต.ในปี พ.ศ.2551

สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เหตุผลว่าเพื่อให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชาและการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ขยายไปยังพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา บางครั้งขยายไปถึงภาคใต้ตอนบนและตอนในของประเทศ

อีกทั้งการบริหารกำลังพล การแต่งตั้งโยกย้าย จะทำได้ง่ายขึ้น การขยับขยายกำลังพลที่อ่อนล้า เสริมกำลังพลที่ขาด สามาถทำได้ด้วยอำนาจ "ผบช.ภ.9”

ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น

การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไม่ว่าจะมีโครงสร้างหรือหน่วยงานรับผิดชอบอย่างไร ต้องได้ผู้นำที่ดีมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนกำลังพลให้มีขวัญ กำลังใจ ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เสียสละ อดทน ไม่ย่นย่อต่ออุปสรรคนานัปการ

ขอชื่นชมและสดุดีนักรบสีกากีที่ปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์ปกปักรักษาด้ามขวานทอง พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย (ดับไฟใต้) ในพื้นที่แห่งนี้ให้ลุล่วงไปได้ในอนาคต

หมายเหตุ ขอขอบคุณ พล.ต.ต.ดุษฎี ชูสังกิจ รอง ผบช.ภ.9 ผู้สนับสนุนข้อมูล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ

ตำรวจสวนสนาม

การสวนสนาม คือพิธีชุมนุมพลของกองทหาร เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมเพรียง ความสง่าผ่าเผย และอานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์