ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

การกระโดดร่มเป็นการรบแขนงหนึ่ง แนวคิดคือ การส่งกำลังลงหลังแนวข้าศึก กำลังพลจะขาดการสนับสนุน ต้องฝึกทักษะ การดำรงชีพ การรบนอกแบบ และการรบพิเศษต่างๆ

ตำรวจพลร่มจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกสมัยพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ โดยช่วงปี พ.ศ.2495-2496 ได้จัดให้มีการฝึกอบรมพลร่มขึ้นที่ค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี เป็นการฝึกกระโดดร่มเป็นหน่วยแรกของประเทศไทย

โดยมีพันตำรวจเอกเจมส์ วิลเลียม แลร์ (บิล แลร์) ร้อยตำรวจเอกจอห์น เอลดอน เชอรี (แจ็ก เชอรี) และร้อยตำรวจเอกเจฟเฟอสัน เดวิด ชีค (เจฟ ชีค) เป็นครูฝึกชาวอเมริกัน ทั้งสามท่านต่อมาได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ และได้รับพระราชทานยศ

พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ อดีตเสนาธิการทหาร กองทัพบก นายทหารนักเขียน ได้เคยบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับกำเนิดตำรวจพลร่มและทหารพลร่มไว้ว่า

"กำเนิดทหารพลร่มรับช่วงต่อมาจากตำรวจพลร่ม ซึ่งพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ได้จัดตั้งค่ายฝึกที่บริเวณเขาสะพรึ่ง บ้านน้ำจั้น อ.เมือง จว.ลพบุรี ต่อมาเขาสะพรึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นเขาเอราวัณ เพราะภูเขามีลักษณะเหมือนช้างสามเศียรนอนอยู่

ตำรวจพลร่มได้ครูฝึกจากการช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา จำได้ว่าการกระโดดร่มจากเครื่องบินลำเลียงแบบโบราณ ตำรวจนายหนึ่งพอพ้นจากประตูเครื่องบินร่มก็กาง แต่ปรากฏว่าลมพัดหวนพาร่มไปติดกับหางเครื่องบิน ถ้าแก้ไขไม่สำเร็จ ตำรวจนายนั้นต้องประสบชะตากรรมอย่างแน่นอน

เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินวิทยุติดต่อกับนักบินให้บินย้อนทวนกระแสลมบินวนอยู่หลายครั้ง ในที่สุดร่มก็หลุดออกจากหางเครื่องบิน แถมร่มยังกางแบบสมบูรณ์แบบ ตำรวจนายนั้นรอดตาย ชื่อ "ประเสริฐ กวางแก้ว” เป็นตำรวจพลร่มค่ายนเรศวรจนเกษียณ

ตำรวจพลร่มอยู่ที่เขาเอราวัณจนถึงปี พ.ศ.2496 จึงโอนค่ายฝึกแห่งนี้ให้กองทัพบก แล้วตำรวจก็ไปบุกเบิกค่ายฝึกพลร่มใหม่ที่อำเภอหัวหินประจวบคีรีขันธ์”

พลเอกนิพนธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เคยเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำรวจพลร่ม ความว่า "พันตำรวจเอกเจมส์ วิลเลียม แลร์ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังหรือทำให้เกิด "พลร่ม” ขึ้นในประเทศไทย โดยแท้จริง ซึ่งหากจะกล่าวอย่างเป็นทางการ ก็ต้องถือว่าพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นผู้ให้กำเนิดตำรวจพลร่ม”

พันตำรวจเอกเจมส์ วิลเลียม แลร์ จากหน่วยงานข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา (CIA) เกิดในรัฐโอคลาโฮมา จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Texas A&M และผ่านการฝึกกระโดดร่มที่ฟอร์ด เบนนิ่ง จอร์เจีย เคยไปปฏิบัติงานเป็นทหาร กองทัพบกสหรัฐ ประจำการที่อังกฤษและเยอรมนี

ปี พ.ศ.2494 เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำโครงการเพิ่มขีดความสามารถให้ตำรวจไทย เป็นผู้เริ่มวางแผนการฝึก หาที่ตั้งหน่วยฝึกประสานงานจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ สนับสนุนฝึกตำรวจพลร่ม เป็นนักรบกองโจรเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พลตำรวจเอกเผ่าเห็นว่าตำรวจพลร่มสามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายได้รวดเร็ว จึงได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยตำรวจพลร่มขึ้น โดยมีความมุ่งหมาย 2 ประการ

1.เตรียมกำลังตำรวจ เมื่อพร้อมที่จะปฏิบัติการต่อต้านหน่วยรบแบบกองโจร ตำรวจในสหพันธรัฐมลายูปฏิบัติอยู่เวลานั้น

2.เตรียมกำลังตำรวจ โดยจัดให้ฝึกอบรมตำรวจพลร่มไว้ให้พร้อมที่จะสนับสนุนงานของกองทัพต่างๆ ในยามสงคราม

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2496 หน่วยตำรวจพลร่มได้ถือกำเนิดขึ้นที่ค่ายนเรศวร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สังกัดกองบังคับการยานยนต์ หรือยานเกาะ (ตำรวจรถถัง) จเรตำรวจ

การก่อตั้งค่ายนเรศวรในขั้นแรกนั้น มีกำลังตำรวจทั้งสิ้น 100 นาย ต่อมารับสมัครบุคคลภายนอก ซึ่งมีภูมิลำเนาในภาคต่างๆ จำนวน 4 ภาค โดยคัดเลือกผู้ที่มีคุณวุฒิในการศึกษาระดับสูงและมีความรู้ทางด้านภาษาอื่นๆ เป็นพิเศษ

หลักสูตรการฝึกประกอบด้วย วิชายุทธวิธีการรบแบบกองโจร วิชาอาวุธพิเศษต่างๆ วิชาระเบิดทำลาย วิชาวางกับดักระเบิด วิชายังชีพในป่า วิชาการติดต่อสื่อสาร และการกระโดดร่ม

การฝึกอบรมเน้นหนักให้ตำรวจมีความรู้ความชำนาญและสามารถที่จะปฏิบัติการได้ดังนี้

1.เสริมกำลังให้กรมตำรวจได้อย่างรวดเร็ว ในทุกสภาพของภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศ

2.ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับตำรวจท้องที่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลเส้นทางคมนาคม

3.ปฏิบัติภารกิจพิเศษที่หน่วยตำรวจทั่วไปปฏิบัติได้ไม่ทันท่วงที เช่น การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในท้องถิ่นที่อยู่ไกลเส้นทางคมนาคม

ตำรวจพลร่มต้องฝึกการรบในป่า รู้จักการดำรงชีพในป่าเขาทุรกันดาร เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อทดสอบเครื่องสนามและอาวุธต่างๆ ว่าจะมีความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศเพียงใดในการปฏิบัติงานในป่า ที่บริเวณป่าทึบ ริมแม่น้ำห้วยสัตว์ใหญ่ กิ่งอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

การฝึกในป่านั้น ตำรวจพลร่มทุกคนต้องเดินผ่านหมู่บ้านเผ่ากะเหรี่ยงและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เห็นความยากจนอดอยาก เจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ จึงได้จัดตั้งชุดพัฒนาการให้การช่วยเหลือประชนเหล่านั้น พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

ปี พ.ศ.2496-2500 พลตำรวจเอกเผ่าได้สั่งการให้ตำรวจพลร่มไปปราบปรามจีนฮ่อที่ลักลอบค้าฝิ่นและยาเสพติดที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ชายแดนไทย ลาว และพม่า ตั้งค่ายพักที่วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

กำลังส่วนหนึ่งได้เดินทางไปทางอากาศ โดยการกระโดดร่มลงที่สนามบินเชียงใหม่ สร้างความตื่นเต้นประทับใจให้กับชาวเชียงใหม่เพราะเพิ่งเคยเห็นการกระโดดร่มเป็นครั้งแรก

ผลการปฏิบัติได้ทำการจับกุมการลักลอบค้าฝิ่นกว่า 70 ครั้งและปฏิบัติภารกิจที่สำคัญมาก คือการกระโดดร่มลงตามแนวชายแดนเพื่อลาดตระเวนสำรวจสภาพภูมิประเทศ

จนพูดกันว่า "ไม่มีพื้นดินส่วนไหนของเมืองไทยที่ตำรวจพลร่มไม่รู้จัก” บางส่วนก็เดินลาดตระเวนโดยทางเท้า หาข่าว รายงานสภาพความเป็นอยู่ หมวดเสนารักษ์ได้ช่วยรักษาพยาบาล ช่วยชีวิตประชาชนในท้องที่ห่างไกลคมนาคมจำนวนมาก

พ.ศ.2503 มีการเปลี่ยนแปลงการจัดหน่วยราชการของกรมตำรวจใหม่ ยุบกองบังคับการยานยนต์ ยกฐานะหน่วยตำรวจพลร่มเป็นกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ “กก.สอ.”

พันตำรวจตรีประเนตร ฤทธิฤาชัย เป็นผู้บังคับหน่วยเป็นคนแรกขึ้นการบังคับบัญชากับฝ่ายสนับสนุนภูธรชายแดน กองบัญชาการตำรวจภูธร (ชายแดน) กระทรวงมหาดไทย

กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดภารกิจ ดังนี้

1.เป็นหน่วยปฏิบัติการของกรมตำรวจ เป็นหน่วยสนับสนุนเคลื่อนที่เร็วของกองบัญชาการตำรวจชายแดน ปฏิบัติการในยามฉุกเฉิน

2.เตรียมที่จะส่งกำลังพร้อมอุปกรณ์และวิทยุสื่อสารโดดร่มลงเสริมกำลังไม่ว่าจุดใดในประเทศไทย

3.เตรียมส่งหน่วยพยาบาลพร้อมอุปกรณ์สื่อสารโดดร่มลงจุดใดๆ ในประเทศไทยเพื่อเตรียมการรักษาพยาบาลราษฎรในกรณีเกิดโรคระบาดหรือได้รับบาดเจ็บสาหัสในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถเข้าไปถึงปฏิบัติการได้ทันท่วงที

4.ประสานการปฏิบัติกับกระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเครื่องเวชภัณฑ์และเสบียงอาหารทางอากาศให้กับประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร

พ.ศ.2515 กรมตำรวจได้จัดตั้งกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และให้กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ เป็นหน่วยในสังกัด

พ.ศ.2529 กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

พ.ศ.2548 กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ ยกฐานะเป็นกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ

พ.ศ.2552 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ประกอบด้วยฝ่ายอำนวยการ และกองกำกับ 1-5

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระเมตตาแก่ตำรวจพลร่มอย่างยิ่ง และทรงพระราชทานความช่วยเหลือด้านต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติของหน่วยนี้เกิดประสิทธิ์ภาพมากมายนานัปการ

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2496 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิดค่ายนเรศวรเป็นครั้งแรก ทอดพระเนตรการแสดงโดดร่มและสาธิตการใช้อาวุธพิเศษ ในการรบด้วยยุทธวิธี การรบแบบกองโจรของตำรวจพลร่ม จึงถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนาค่ายนเรศวร

วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2510 ได้พระราชทานรถแทรกเตอร์ดี 4 ให้ตำรวจพลร่ม เพื่อบุกเบิกและพัฒนาเส้นทางจากหัวหินไปยังห้วยมงคลและหนองพลับ เกิดโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ อันเป็นโครงการตามพระราชดำริ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนที่ป่าละอูดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เดือนเมษายน พ.ศ.2510 ได้พระราชทานเครื่องบินแบบบีเกิล ฮัลกี้ เครื่องยนต์เดี่ยว จำนวน 1 ลำ ให้ตำรวจพลร่มใช้ในภารกิจต่างๆ อาทิ นำหมอ พยาบาลและเวชภัณฑ์ ไปช่วยรักษาประชาชน บินส่งกำลังทางอากาศ บินติดต่อสื่อสาร บินทิ้งของและนำผู้เชี่ยวชาญการเกษตรไปให้ความรู้ด้านเกษตรแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลการคมนาคม

วันที่ 3 ตุลาคม 2510 ได้พระราชทานรถจี๊ป จำนวน 6 คัน เพื่อใช้ปฏิบัติงานในโครงการพระราชทานความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อำเภอหัวหินและจังหวัดใกล้เคียง

วันที่ 27 เมษายน 2520 ได้เสด็จฯ เปิดศาลสมเด็จพระนเรศวร ณ กก.สอ.ตชด.ค่ายนเรศวร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของเหล่าตำรวจพลร่ม และตำรวจตระเวนชายแดน

วันที่ 15 กันยายน 2535 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ทรงเยี่ยมตำรวจพลร่ม จำนวน 4 นาย ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับกับกองกำลังติดอาวุธไม่ปรากฏสัญชาติ ขณะลาดตระเวนพิสูจน์ทราบการลักลอบปลูกพืชยาเสพติด และตัดไม้ทำลายป่าตามแนวชายแดนไทย-พม่า

พระราชทานเงินและสิ่งของ และทรงรับสั่งว่า บุตร-ธิดาของข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตจะทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยให้การศึกษาทุกคน

พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ได้บันทึกบรรยายไว้ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระเมตตาและทรงห่วงใยตำรวจพลร่มมาก ทั้งสองพระองค์จะเสด็จฯ ทรงเยี่ยมตำรวจพลร่ม ที่ค่ายนเรศวร อ.หัวหิน เป็นประจำ บางครั้งก็เสด็จฯ ไปเยี่ยมตำรวจพลร่มที่ไปปฏิบัติงานอยู่ในป่าเขาที่ห่างไกล ท้องถิ่นทุรกันดารและเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง”

พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ที่มีพระเมตตาพระราชทานสิ่งของต่างๆ การเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมหน่วย เยี่ยมตำรวจพลร่มในสถานที่ต่างๆ ประทับอยู่ในหัวใจของตำรวจพลร่ม รวมตลอดถึงครอบครัวภรรยาและบุตร มิรู้เลือน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตลอดไป

พระบาทสมเด็จพระวชิราเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ได้เข้ารับการฝึกเป็นนักเรียนพลร่ม เข้าค่ายฝึกกระโดดร่มภาคพื้นดิน ตามหลักสูตรของกรมตำรวจ ณ ค่ายนเรศวร หัวหิน ระหว่างวันที่ 12–20 พฤษภาคม 2514

พลตำรวจเอกวสิษฐได้บันทึกความภาคภูมิใจที่มีต่อ "ทูลกระหม่อมชาย” ไว้ในหนังสือ "รอยพระยุคลบาท” ดังนี้

“ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2514 มีเหตุการณ์สำคัญที่จะต้องบันทึกไว้ ทูลกระหม่อมชาย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงสำเร็จการฝึกหลักสูตรพลร่ม จากค่ายนเรศวร หรือ กก.สอ.ตชด. ทูลกระหม่อมชายทรงพิสูจน์ความเป็นชายชาตรีของพระองค์ด้วยการรับการฝึกเช่นเดียวกับตำรวจพลร่มและร่วมกับตำรวจพลร่ม ทรงผ่านการฝึกทั้งภาคพื้นดินและทั้งอากาศด้วยคะแนนยอดเยี่ยม”

ภายหลังที่สำเร็จการฝึกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 ได้เสด็จฯ ไปประดับเครื่องหมายนักกระโดดร่มกิตติมศักดิ์พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ที่ค่ายนเรศวร

พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลรายงานมีใจความสำคัญว่า

“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงเป็นนักกระโดดร่มที่พระปรีชาสามารถและอาจหาญ สนพระทัยในกิจการของตำรวจพลร่ม ทั้งในรายละเอียดทางเทคนิคและทางทฤษฎี ตลอดระยะเวลาแห่งการฝึกอบรม ทรงสามารถปฏิบัติการได้ครบถ้วนไม่ผิดพลาด

ค่ายนเรศวรจะได้ประโยชน์จากการที่ทรงเป็นแบบอย่างนี้อย่างใหญ่หลวง และการที่ทรงได้เข้าฝึกฝนในค่ายนเรศวรของตำรวจพลร่ม ย่อมเป็นศุภนิมิตและมิ่งขวัญของเหล่าตำรวจทุกคน เป็นสัญลักษณ์แสดงให้ปรากฏถึงความเป็นนักรบนักปกครองได้อย่างดีเด่น เป็นแบบฉบับที่ตำรวจทุกคนที่จะได้ยึดเหนี่ยวเตือนใจในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดสันติสุขแด่ทวย

บาทสืบไป”

วันที่ 22-23 มิถุนายน 2523 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร ทรงกระโดดร่มจากเครื่องบิน C-47 และเฮลิคอปเตอร์ แบบเบลล์ 212 ของกองทัพเรือ โดยตำรวจพลร่มคอยถวายงานที่ภาคพื้นดิน ณ สนามบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน (ค่ายพระราม 6) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้พระกรุณาพระราชทานโฉนดที่ดินค่ายนเรศวร เนื้อที่รวมประมาณ 770 ไร่ ให้ตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อเป็นที่ฝึกปฏิบัติงานและเพื่อประโยชน์ในทางราชการ

ปัจจุบันตำรวจพลร่มได้ยกฐานะเป็นหน่วยงาน กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งอยู่ที่ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับงาน ด้านถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะและบุคคลสำคัญ การรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดน ป้องกันปราบปรามการก่อการร้าย การป้องกันประเทศ และสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ส่วนราชการประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ และ 5 กองกำกับการ กองกำกับ 1 (รบพิเศษ), กองกำกับ 2 (กิจการพิเศษ), กองกำกับ 3 (การต่อต้านก่อการร้าย), กองกำกับ 4  (การฝึก), กองกำกับการ 5 (ป้องกันและระงับอัคคีภัย)

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-ปัจจุบัน ตำรวจพลร่มซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จัวหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสียชีวิตไปแล้ว 13 นาย บาดเจ็บอีก 36 นาย

ตำรวจพลร่มยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ด้วยความเสียสละอดทน แม้จะเสี่ยงภัยเพียงใด จะต้องบาดเจ็บสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อไปเท่าใดก็ตาม

เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน นำมาซึ่งความสงบร่มเย็นในพื้นที่ปลายด้ามขวานทองของไทย ขอสดุดีเหล่าตำรวจพลร่มผู้กล้า ผู้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อเป็นชาติพลี

กว่า 70 ปีที่ตำรวจพลร่มได้ก่อกำเนิดและจัดตั้งขึ้น ได้มีการพัฒนาและปฏิบัติภารกิจสำคัญๆ อย่าง "อาจองธำรงศักดิ์ น้อมใจภักดิ์พระจักริน” เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและบ้านเมือง และประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนชาวไทย จนถึงทุกวันนี้และต่อไปในอนาคต

หมายเหตุ ขอขอบคุณ พ.ต.อ.ศุภวัฒน์ ศรีชัยชนะ ผกก.ตชด. 34 ประสานงานและสนับสนุนข้อมูล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ

ตำรวจสวนสนาม

การสวนสนาม คือพิธีชุมนุมพลของกองทหาร เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมเพรียง ความสง่าผ่าเผย และอานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์