ตำรวจสวนสนาม

การสวนสนาม คือพิธีชุมนุมพลของกองทหาร เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมเพรียง ความสง่าผ่าเผย และอานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ ให้เกียรติแก่ผู้เป็นประธานในพิธี ซึ่งจะได้ดูแถวทหารที่ตั้งอยู่คือ ตรวจพลสวนสนาม และดูการเดินแถวของทหารเหล่านั้น

ตำรวจก็มีการจัดพิธีสวนสนาม เนื่องในพิธีสำคัญๆ เช่น ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนแสดงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเหล่าข้าราชการตำรวจ

การเดินสวนสนามเป็นการฝึกของตำรวจท่าบุคคลมือเปล่า ตั้งแต่เข้ารับการอบรมเป็นนายตำรวจ หรือตำรวจชั้นประทวน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรง ความพร้อมเพรียง และวินัยอันดีของผู้รับการฝึก เป็นการฝึกปฏิบัติต่อเนื่องมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

กรมตำรวจ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน ได้มีการจัดพิธี สวนสนามเนื่องในวันตำรวจ วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ในอดีตที่ผ่านมามี การจัดพิธีสวนสนามครั้งสำคัญๆ รวม 5 ครั้ง ดังนี้

ครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2495 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรม ตำรวจในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร   มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธี และพระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยต่างๆ ของตำรวจ และมีการสวนสนามของตำรวจและนักเรียนนายร้อยตำรวจ ที่ลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า)

นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของตำรวจไทยที่ไม่เคยมีมาก่อน  เป็นศุภมิตรอันดียิ่ง และพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อตำรวจทั้งปวง  พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บรรดาตำรวจทั้งหลายด้วย 

พระบรมราโชวาทพระราชทาน  ตอนหนึ่งความว่า “ให้ตำรวจยึดมั่นในคำปฏิญาณ เป็นตำรวจที่ดี เป็นที่ไว้วางใจของคนทั่วไป ตำรวจทุกชั้นมีเกียรติเสมอเหมือนกันหมด ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง ตำรวจต้องรักษาความสงบภายในประเทศ และป้องกันความไม่สงบที่อาจมาจากนอกประเทศด้วย ฯลฯ”

ในการนั้น ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2495 พล.ท.หลวงสุรณรงค์ สมุหราชองครักษ์ ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมตำรวจ ความว่า

 “เนื่องในโอกาสที่กรมตำรวจได้จัดให้มีการสวนสนามของหน่วยตำรวจต่างๆ นั้น ในวันเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานธงให้แก่หน่วยตำรวจเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม นั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรเห็นการสวนสนามของหน่วยตำรวจแล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งว่า ได้กระทำไปด้วยความเข้มแข็ง องอาจ และพร้อมเพรียงดียิ่ง น่าชม ตลอดจนการจัดระเบียบงานได้เรียบร้อยดีเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างมาก

ข้าพเจ้าจึงขออัญเชิญพระราชกระแสนี้ เพื่อขอได้แจ้งให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกฝ่าย ทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาทุกนาย ได้ทราบพระราชกระแสนี้โดยทั่วกันด้วย”

ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2496 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจ ณ ลานพระราชวังดุสิต ซึ่งมีการจัดขบวนสวนสนามของตำรวจด้วย

ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ตอนหนึ่งความว่า “ขอให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการของแต่ละท่านด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ให้คำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติบ้านเมืองอันเป็นประโยชน์ส่วนรวม เพื่อบรรลุผล ความสงบสุขของประชาราษฎร์ และความรุ่งเรืองของชาติ ฯลฯ”

ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นับเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามเฉพาะพระพักตร์ครั้งแรกที่ย้ายโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาตั้งที่สามพราน

ทอดพระเนตรการสวนสนามและรับการถวายความเคารพจากขบวนสวนสนามของเหล่าข้าราชการตำรวจหน่วยต่างๆ

ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ตอนหนึ่งความว่า “…โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นหลักสำคัญของบ้านเมือง เพราะประชาราษฎร์จักได้อาศัยเป็นที่พึ่งยามมีทุกข์ร้อน ก็แหละ บุคคลที่จะให้ผู้อื่นพึ่งพาอาศัยด้วยนั้น จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาดี มีวิชาการ และเป็นผู้มีศีลธรรมอันดีทุกประการ…”

ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2545 เนื่องในโอกาสโรงเรียนนายร้อยตำรวจสถาปนาครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของข้าราชการตำรวจ และนักเรียนนายร้อยตำรวจที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ตอนหนึ่งความว่า “…ตำรวจทำหน้าที่ สำคัญและกว้างขวางมาก คือต้องทำหน้าที่ทั้งทางด้านการปกครอง คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุขตลอดจนสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งทางด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมผู้กระทำผิด

รวมทั้งการปกป้องแผ่นดินไทยเมื่อมีภัยคุกคามอีกด้วย นับว่ามีภาระหนัก มีความรับผิดชอบสูง เพราะต้องเผชิญกับปัญหานานา และต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตตลอดเวลา…”

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2550 เมื่อครั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้จัดให้มีพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของเหล่าข้าราชการตำรวจทุกหน่วย และนักเรียนนายร้อยตำรวจ ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพมหานคร

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และวันตำรวจ ประจำปี พ.ศ.2550

เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดีถวายเป็นพระราชสักการะแด่พระองค์ท่าน ที่ได้ทรงสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้ง พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นประธานอำนวยการฝ่ายพิธีสวนสนาม และแต่งตั้ง พล.ต.ท.เอก อังสนานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นประธานกรรมการฝ่ายสวนสนาม

พล.ต.อ.วงกตได้นำเทปวีดิทัศน์การสวนสนามในพิธีต่างๆ ของต่างประเทศมาให้ศึกษา โดยให้คำแนะนำ วางแนวทาง การจัดขบวนสวนสนาม ให้มีการสวนสนามของนักเรียนนายร้อยตำรวจซึ่งปฏิบัติเป็นประจำทุกปี และการสวนสนามของหน่วยตำรวจทุกกองบัญชาการและขบวนอื่นๆ

พ.ต.อ.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและจัดรูปขบวนสวนสนามในพิธีสวนสนามของหน่วยงานตำรวจต่างๆ ดังกล่าว

ได้มีการประชุมมอบหมายให้ผู้แทนแต่ละหน่วยไปฝึกซ้อมกำลังพล แต่ละกองบัญชาการ ณ ที่ตั้ง และนำมาประกอบขบวนในวันฝึกซ้อมใหญ่และวันจริงตามลำดับ

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และ พล.ต.อ.วงกต ได้ควบคุมกำกับดูแลการฝึกซ้อมด้วยตนเอง กำลังพลตำรวจจากหน่วยต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมฝึกซ้อมอย่างเข้มแข็ง ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ

ในวันพิธี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ผู้เข้าร่วมพิธีประกอบด้วยแขกรับเชิญต่างๆ  เช่น คณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ เอกอัครราชทูตทุกประเทศ และผู้บังคับบัญชาตำรวจทุกระดับจำนวนมาก

กำหนดการ เริ่มด้วยพิธีถวายพระพรชัย พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน และพิธีสวนสนามของขบวนสวนสนามตำรวจหน่วยต่างๆ ทุกหน่วย

การสวนสนามแบ่งออกเป็น 3 องก์  องก์แรก “เล่าขานตำนานตำรวจไทย”,  องก์ที่ 2 “เกริกก้องเกรียงไกรตำรวจกล้า”, องก์ที่ 3 “พิทักษ์รักษ์ ราชา…ข้าฯ พร้อมยอมพลี”

องก์แรก “เล่าขานตำนานตำรวจไทย” ตำรวจเป็นตำรวจของพระมหา กษัตริย์ ปฏิบัติหน้าที่ตามพระบรมราชโองการ

แสดงให้เห็นถึงหน้าที่ในการปกป้องดูแล และรักษาความสงบสุขในราชอาณาจักร ยามเมื่อพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์เสด็จประพาสตามพระราชอัธยาศัย กรมกองตำรวจฝ่ายต่างๆ จะมีหน้าที่ออกลาดตระเวน ตรวจตรา และปกป้องอันตรายต่างๆ นานา

กองตำรวจซ้าย กองตำรวจขวา จะทำหน้าที่ตำรวจเดินเท้าขนาบข้างขบวนเสด็จ

และยังมีกองกำลังตำรวจอีกหลายกองมีหน้าที่ตำแหน่งเฉพาะที่ จัดรูปแบบตามกฎมณเฑียรบาลเพื่อให้ขบวนเสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์มีความอารักขาที่ปลอดภัยและสมพระเกียรติ

ขบวนแรก ตำรวจสมัยพระบรมไตรโลกนาถ กำลังพลจากตำรวจภูธร จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 156 นาย แต่งกายแบบตำรวจโบราณสมัยนั้น ม้า 5 ตัว

ขบวนที่ 2 ตำรวจสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พล.ต.ต.นเรศ นันทโชติ (ยศขณะนั้น) แต่งกายแสดงเป็นสมเด็จพระนเรศวรฯ ประทับนั่งบนช้าง กำลังพลจากตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี จำนวน 450 นาย แต่งกายแบบตำรวจโบราณสมัยนั้น ม้า 5 ตัว ช้าง 2 เชือก

ขบวนที่ 3 ตำรวจสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ (ยศขณะนั้น) แต่งกายแสดงเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ขี่ม้า กำลังพลจาก ตำรวจภูธรสระบุรีและนนทบุรี 250 นาย แต่งกายตำรวจแบบโบราณสมัยนั้น ม้า 18 ตัว

ขบวนสุดท้าย ตำรวจในยุครัตนโกสินทร์ กำลังพลจากตำรวจภูธรนนทบุรี จำนวน 150 นาย แต่งกายตำรวจโบราณ สมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 8 และต้นรัชกาลที่ 9 (พ.ศ.2475-พ.ศ.2500) ม้า 5 ตัว

องก์ที่ 2 “เกริกก้องเกรียงไกรตำรวจกล้า” เป็นขบวนสวนสนามของตำรวจไทยยุคปัจจุบัน

แสดงให้เห็นความสามารถ ความพร้อม สมรรถนะ และความเกรียงไกรของทุกหน่วยงาน ฝ่ายสนับสนุน และส่วนบริการฝ่ายต่างๆ ในอันที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์ปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสวัสดิภาพให้แก่ประชาชน

ขบวนสวนสนามชุดนี้ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1.การแสดง “Hello Police” ในลักษณะนิทรรศการ ประชาสัมพันธ์ กิจการของหน่วยปฏิบัติการ หน่วยสนับสนุน และหน่วยบริการต่างๆ บริเวณรอบสนามกีฬา (Statics Display) ระหว่างเวลา 13.00-16.00 น. (ก่อนงานในสนามกีฬา)

2.การแสดงป้องกันตัวตามวัฒนธรรมของแต่ละภาค (ภาคเหนือ การแสดงแบบล้านนา ภาคกลางแบบแม่ไม้มวยไทย ภาคใต้แบบมวยไชยา และปัญจักสีลัต)

3.รูปขบวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์นำขบวนของทุกหน่วย รถ หน่วยพิเศษ และอุปกรณ์พิเศษ เช่น รถ EOD, รถ K9, รถ X-Ray, รถสื่อสารดาวเทียม ฯลฯ ตำรวจร่วมขบวนจำนวนกว่า 1,000 นาย

องก์ที่ 3 “พิทักษ์รักษ์ ราชา…ข้าฯพร้อมยอมพลี” เป็นขบวนสวนสนามของกองบัญชาการหน่วยกำลังทุกหน่วย

แสดงให้เห็นความเข้มแข็ง ความพร้อมเพรียงของเหล่าข้าราชการตำรวจ ซึ่งต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา

และพร้อมทั้งน้อมเกล้าศิระกรานถวายความจงรักภักดี ถวายสัตย์ปฏิญาณตน ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อรับใช้ใต้เยื้องพระยุคลบาท เป็นข้าราชการตำรวจในแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี

พล.ต.ต.อารีย์ อ่อนชิต (ยศขณะนั้น)เป็นผู้บังคับกองผสม และขบวนสวนสนามกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธร 1-9 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กำลังพลรวมกว่า 5,000 นาย

พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและการสวนสนามครั้งนี้ เป็นการจัดการสวนสนามของตำรวจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สวยงาม ต่อหน้าประชาชนนับแสนคนที่เข้ามาชมในบริเวณสนามราชมังคลากีฬาสถาน และถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ.2559 เนื่องในวันตำรวจ ทุกวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ได้มีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าธงชัยเฉลิมพล และสวนสนามที่บริเวณลานศรียานนท์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โดยมีอธิบดีตำรวจ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี เป็นการสวนสนามเฉพาะนักเรียนนายร้อยตำรวจ

บางครั้งในสมัย พล.ต.อ.สมชาย ไชยเวช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้มีการจัดให้ข้าราชการตำรวจทุกหน่วยในสังกัดกรมตำรวจเข้าร่วมสวนสนามกับนักเรียนนายร้อยตำรวจด้วย วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ได้มีการจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและ สวนสนามของตำรวจที่ลานศรียานนท์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในช่วงเวลาบ่าย

ขณะนั้นก็ได้ทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 นำความเศร้าโศกเสียใจมาสู่พี่น้องประชาชนและข้าราชการตำรวจทุกนาย

ในปีต่อมา (พ.ศ.2560) วันตำรวจ วันที่ 13 ตุลาคม ก็เปลี่ยนแปลงเป็น วันที่ 17 ตุลาคม เพื่อให้ความสำคัญต่อวันสวรรคตของพระองค์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ต่อเหล่าข้าราชการตำรวจและพสกนิกรชาวไทย และงดการสวนสนามของตำรวจที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจมาจนถึงทุกวันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ