เมื่อโรฮีนจากลายเป็นเรื่องของอาเซียน

หลายคนกำลังสนใจจุดยืนของอาเซียนต่อเมียนมาเรื่องความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับฝ่ายนางอองซาน ซูจี เอ่ยเรื่องที่อาเซียนแทรกแซงกิจการภายในเมียนมา

เป็นความจริงที่อาเซียนแทรกแซงกิจการภายในบางจุดบางประเด็น แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำมาหลายปีแล้วในกรณีผู้อพยพลี้ภัยโรฮีนจาการเข้าใจแนวทางอาเซียนต่อโรฮีนจาจะช่วยให้เข้าใจท่าทีอาเซียนต่อความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกองทัพเมียนมากับฝ่ายนางซูจี ดังนี้

โดยพื้นฐานแล้วรัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับโรฮีนจาเป็นพลเมือง รัฐบาลทหารเมียนมาเห็นว่าโรฮีนจาคือคนเบงกาลี (Bengalis) ที่อพยพเข้ามาในช่วงที่อังกฤษปกครองพม่า เป็นเรื่องผิดกฎหมายจึงปฏิเสธความเป็นพลเมืองของโรฮีนจา

การยึดว่าโรฮีนจาเป็นคนเบงกาลีหรือคนธากา (Dhaka) กำลังชี้ว่าพวกโรฮีนจาเป็นคนบังกลาเทศ หรือ “ประเทศของเบงกอล” (Country of Bengal) มีเมืองหลวงชื่อธากา (Dhaka)

ปี ค.ศ.1982 กฎหมาย Constitutional Act ที่ออกโดยรัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า ชาวโรฮีนจาไม่ใช่พลเมืองพม่า (non-citizens of Burma) เว้นแต่พวกที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบรรพบุรุษของตนได้อาศัยอยู่ในพม่าก่อนปี 1823 หรือก่อนที่อังกฤษเข้ายึดครองอาระกัน เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ขณะนี้

นอกจากนี้ควรเข้าใจด้วยว่า นางอองซาน ซูจี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันโด่งดัง ได้รับหลายรางวัลทั่วโลก ยังพยายามแสดงท่าทีเฉยเมยต่อการกดขี่ข่มเหงโรฮีนจา แต่ไหนแต่ไรท่าทีของพันธมิตรของเธอแสดงออกชัดเจน ดังเช่น กลุ่ม ‘8888 democracy movement’ ออกแถลงการณ์ว่า “โรฮีนจาไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยของเมียนมา ... ไม่ว่าจะทางกรรมพันธุ์ ทางวัฒนธรรมหรือทางภาษา โรฮีนจาไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติใดๆ ในเมียนมา”

ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายกองทัพหรือฝ่ายนางซูจีล้วนไม่ยอมรับโรฮีนจาว่าเป็นพลเมืองเมียนมา

ปี 2015 เมื่อเรือผู้อพยพโรฮีนจาแล่นเข้าฝั่ง หลายประเทศใช้วิธีให้อาหารกับน้ำแล้วผลักดันกลับไป กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มกล่าวหาว่าประเทศเหล่านี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน.

เรือมนุษย์ 2015:

ย้อนหลังปี 2015 เมื่อเรือผู้อพยพโรฮีนจาแล่นเข้าฝั่ง รัฐบาลหลายประเทศใช้วิธีให้อาหารกับน้ำจำนวนหนึ่งแล้วผลักดันกลับไป กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มกล่าวหาว่าประเทศเหล่านี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ควรที่จะรับโรฮีนจาเหล่านี้เข้าประเทศเป็นผู้อพยพลี้ภัย

การรับผู้อพยพสัก 1,000-2,000 คนไม่ใช่ปัญหา ที่คิดตรงกันคือ หากรับ 2,000 คนแล้ว อีกไม่นานจะมา 20,000 คน และกลายเป็น 200,000 คน จนสุดท้ายอาจเป็นโรฮีนจาทั้งหมดนับล้านคน และจะมีผู้อพยพอื่นๆ นอกเหนือโรฮีนจา

เรื่องไม่จบเท่านี้ เมื่อรับมาแล้วจะมีคนพูดต่อว่าดูแลพวกเขาดีหรือไม่ จะมีคนพูดว่าอาหารไม่พอ ขาดแพทย์ขาดยา ไม่มีโรงเรียน ครูไม่มีคุณภาพ กีดกั้นสิทธิเสรีภาพ อยู่อย่างไร้อนาคต

เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ยกตัวอย่าง กันยายน 2015 ผู้อพยพลี้ภัยในมาเลเซียชุมนุมประท้วงรัฐบาลมาเลย์ เหตุเนื่องจากพวกเขาไม่มีงานทำ ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลมากพอ ร้องขอความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ อยากได้รับสวัสดิการจากประเทศมาเลเซีย ผู้ลี้ภัยต่างด้าวเหล่านี้ครึ่งหนึ่งเป็นพวกโรฮีนจา

กฎหมายมาเลเซียถือว่าโรฮีนจาเป็นพวกคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย รอส่งออกจากประเทศ จึงไม่สามารถให้การศึกษาหรือให้งานทำ สิ่งที่โรฮีนจาต้องการมากที่สุดคือได้ทำงานตามกฎหมาย แต่ฝ่ายการเมืองมาเลย์กังวลว่าหากให้งานทำจะเป็นเหตุดึงให้โรฮีนจาเข้าประเทศเพิ่มขึ้นอีก ปัจจุบันมีเป็นแสนคนแล้ว

ประเทศที่รับผู้อพยพลี้ภัยตั้งแต่ต้น ต้องเผชิญการถูกตำหนิจากต่างชาติไม่สิ้นสุด

แรงกดดันจากนานาชาติ:

นายอันโตนิอู กุแตเรซ (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทางการเมียนมาระงับปฏิบัติการทางทหาร ยุติความรุนแรง ปฏิบัติตามหลักกฎหมาย เคารพสิทธิที่ทุกคนจะกลับสู่บ้านเกิดตัวเอง ขอให้โรฮีนจาได้ฐานะความเป็นพลเมืองหรือไม่ก็ได้รับฐานะทางกฎหมายเพื่ออนุญาตให้พวกเขาอยู่ในเมียนมาต่อไป

กันยายน 2017 นิกกี ฮาลีย์ (Nikki Haley) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า การกดขี่ข่มเหงขับไล่โรฮีนจาเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน (brutal) กวาดล้างชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง เห็นว่าเจ้าหน้าที่เมียนมาต้องรับผิดชอบ

ต่อมากระทรวงต่างประเทศสหรัฐประกาศว่ากองกำลังรัฐบาลเมียนมา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (ethnic cleansing) โรฮีนจา แถลงการณ์ระบุว่าชัดว่ากองกำลังเมียนมา กองกำลังความมั่นคง และคนท้องถิ่นชาวพม่าเป็นผู้กดขี่ข่มเหง ทำให้โรฮีนจาอพยพออกจากพื้นที่

บางคนเห็นว่าควรลงโทษผู้นำกองทัพเมียนมาเหมือนที่เคยทำกับบางประเทศ
ท่าทีอาเซียน:

สมาชิกอาเซียนหลายประเทศแสดงท่าทีมุ่งให้รัฐบาลเมียนมาจัดการปัญหาให้เรียบร้อย บางกรณีใช้ถ้อยคำรุนแรง เช่น มิถุนายน 2015 ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Tun Dr. Mahathir Mohamad) อดีตนายกฯ มาเลเซียถึงกับกล่าวว่าควรขับเมียนมาออกจากอาเซียน “ประเทศแบบนี้ทำให้พวกเราเสียชื่อ ดังนั้นถ้ายังต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ก็ออกจากอาเซียน” แม้ว่าจะเป็นเรื่องภายในประเทศแต่การฆ่าคนเป็นเรื่องรับไม่ได้

แถลงการณ์อาเซียนเมื่อ 24 กันยายน 2017 มีใจความสำคัญว่า รู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ (Rakhine State) ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ในระยะยาวต้องแก้ไขรากปัญหา

แถลงการณ์ประชุมสุดยอดอาเซียน 2021 ล่าสุดเอ่ยถึงประเด็นโรฮีนจาว่าอาเซียนยืนยันสนับสนุนช่วยเหลือเมียนมาด้านมนุษยธรรมต่อไป สนับสนุนการพัฒนารัฐยะไข่ ให้คนที่อพยพสามารถกลับตามความสมัครใจ ได้อยู่อย่างปลอดภัยมั่นคง มีศักดิ์ศรี ให้การคืนถิ่นเป็นไปตามข้อตกลงทวิภาคีระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศ แก้รากปัญหาความขัดแย้งของรัฐยะไข่

จะเห็นว่า จุดยืนล่าสุดของอาเซียนยังเป็นแนวทางเดียวกับสหประชาชาติ ดังเช่นที่นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเมื่อพฤศจิกายน 2019 ร้องขอให้รัฐบาลเมียนมาแก้รากปัญหาโรฮีนจา แก้ปัญหาผู้อพยพโรฮีนจาที่หนีไปอยู่บังกลาเทศให้กลับเมียนมาอย่างปลอดภัย ตามความสมัครใจและมีศักดิ์ศรี

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป:

สถานการณ์ส่วนใหญ่เหมือนเดิม ชาวโรฮีนจาร่วมล้านคนอยู่ในศูนย์ผู้อพยพที่บังกลาเทศ คนเหล่านี้ได้รับการดูแลพอประมาณ มีข่าวโรฮีนจาบางส่วนไม่พอใจชีวิตความเป็นอยู่ในค่ายลี้ภัย การเจรจาระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศไม่คืบหน้า ดูเหมือนว่าโรฮีนจาร่วมล้านคนนี้จะต้องอยู่ในค่ายลี้ภัยอีกนาน ออกลูกออกหลานกว่าแสนคนแล้ว บางส่วนพยายามเดินทางไปหางานทำต่างแดน

ณ วันนี้ประเด็นโรฮีนจาไม่เป็นภัยคุกคามอาเซียนเหมือนปี 2015 เพราะโรฮีนจาร่วมล้านคนไปกระจุกตัวในบังกลาเทศ บางส่วนยังเดินทางไปๆ มาๆ ทำงานในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ไม่ใช่เรือมนุษย์ดังเช่นอดีต (แม้พวกเขายังคงเดินทางด้วยเรือแออัดเต็มลำ แล่นไปมาตามแนวชายฝั่ง) ถูกทดแทนด้วยประเด็นประชาธิปไตยที่นานาชาติให้ความสำคัญมากกว่า และดูเหมือนว่าเป็นภัยคุกคามอาเซียนมากกว่าเก่า ท่ามกลางกระแสการช่วงชิงของชาติมหาอำนาจ

ไม่ว่าจะเรื่องโรฮีนจาหรือการเมืองเมียนมาจึงไม่ใช่เรื่องของเมียนมาอีกต่อไป อาเซียนต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้เรื่องบานปลายจนกระทบไปหมดทั้งภูมิภาค.

สภาพศูนย์รับผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ

เครดิตภาพ: https://www.unhcr.org/rohingya-emergency.html

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า

ศึกยูเครนสงครามที่รัสเซียจะไม่แพ้

สงครามยูเครนฝ่ายรัสเซียมีแต่ชนะกับเสมอ ส่วนยูเครนมีแต่เสมอกับแพ้ เพราะรัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าใกล้แพ้ ส่วนนาโตไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ช่วยยูเครนที่กำลังปกป้องประชาธิปไตยยุโรป

State of the Union 2024 ไบเดนลั่นกลองหาเสียง

คำแถลงนโยบายประจำปี 2024 เหมือนการหาเสียงมากกว่า ซึ่งไม่แปลกเพราะตรงกับปีเลือกตั้ง แม้ไม่เอ่ยว่าคำว่า “ทรัมป์” แต่ผูกประเด็นเข้ากับคู่แข่งการเมืองอย่างชัดเจน