คนมีน้ำใจในเซาเปาโล

 

รถบัสวิ่งออกจากสถานีขนส่งนานาชาติฟอซดูอีกวาซู (Rodoviaria Internacional de Foz do Iguacu) เวลา 19.00 น. ระยะทางจากเมืองฟอซดูอีกวาซูถึงนครเซาเปาโลประมาณ 1 พันกิโลเมตร คนขายตั๋วระบุว่าจะใช้เวลาเดินทาง 16 ชั่วโมง ถึงที่หมายเวลา 11.00 น.

เมื่อคืนนี้ระหว่างการจอดพักรถที่ศูนย์อาหารแห่งหนึ่งผมรอดพ้นการตกรถมาได้อย่างหวุดหวิดดังที่ได้เล่าไป เช้านี้แวะจอดที่ศูนย์อาหารอีกครั้ง ผมเข้าห้องน้ำแล้วก็ออกมารอใกล้ๆ จุดรถจอด มีเวลาเยอะมากจึงเอาโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล็งถ่ายรูปไปทั่ว ผู้หญิงคนหนึ่ง

อายุคาดเดาลำบาก รูปร่างอวบอ้วน อาสาถ่ายรูปให้ผมยืนคู่กับรถบัส ความเป็นกันเองแบบนี้ผมรู้สึกได้ทันที นี่คือบราซิล 

ตอนกลับขึ้นรถมีคนส่งเสียงแซวผมอีกรอบ นำโดยกลุ่มผู้ชายหลังรถ คงประมาณว่า “รอบนี้ขึ้นรถเร็วไปหน่อยนะ” หรือ “คงไม่ได้กินอะไรเลยสิท่า”

ผมไม่ได้กินอะไรแม้แต่กาแฟเพราะกลัวจะปวดท้องแล้วระยะเวลาการเข้าห้องน้ำอาจลากไปจนหมิ่นเหม่ให้เสี่ยงตกรถอีก เนื่องจากเป็นที่พิสูจน์แล้วว่าโชเฟอร์จะขับรถออกไปทันทีเมื่อคิดว่าพร้อมโดยไม่มีการนับจำนวนผู้โดยสาร ส่วนการใช้ห้องน้ำบนรถบัสสำหรับถ่ายหนักนั้นดูจะไม่ค่อยสะดวก เพราะแคบและรถค่อนข้างโคลงเคลง

บรรยากาศในรถตอนใกล้ถึงเซาเปาโลมีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างน่าประหลาด ผู้โดยสารเริ่มพูดคุยกันข้ามที่นั่ง สาววัยรุ่นนั่งคนละฝั่งกับผมหันมามองเหมือนอยากจะทักทายพูดคุย แต่เธอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้และคงรู้ว่าผมพูดโปรตุเกสไม่ได้เช่นกัน อยู่ๆ เธอก็ล้วงไมโครโฟนพกพาออกมาจากกระเป๋าถือแล้วเริ่มร้องเพลง ไมโครโฟนนี้ให้เสียงดังแปลกๆ ออกไปทางแหบๆ ผมเชื่อว่าเสียงจริงๆ ของเธอคงจะไพเราะไม่น้อย

คนในรถปรบมือให้จังหวะ ใครที่ร้องได้ก็ร้องคลอไปด้วย แต่คนที่ดูจะสนุกมากกว่าใครก็คือเจ๊ที่ถ่ายรูปให้ผมก่อนหน้านี้ ผ่านไปสองสามเพลงแกไปขอไมโครโฟนมาจากสาววัยรุ่น แล้วเดินร้องไปทั่วรถ พร้อมทั้งเอาไมโครโฟนจ่อที่ปากคนนั้นคนนี้ โดยเฉพาะพวกผู้ชายหลังรถ    

ระหว่างที่เจ๊นักร้องกำลังให้ความบันเทิงแก่ผู้ร่วมทาง สาวน้อยเจ้าของไมโครโฟนใช้แอปแปลภาษาพิมพ์สอบถามข้อมูลของผม ทำนองว่าผมเป็นใคร มาจากไหน จะไปไหน ตอนท้ายๆ ผมถามกลับไปว่า “คุณเป็นนักร้อง หรือกำลังจะเข้าไปประกวดร้องเพลงในเซาเปาโลหรือเปล่า ?” เธอตอบว่า “ฉันแค่ชอบร้องเพลงเท่านั้นแหละ”  

คอนเสิร์ตบนรถบัสของสาววัยรุ่นและเจ๊เจ้าเนื้อดำเนินไปเรื่อยๆ มีคนเข้ามาพูดคุยกับผมด้วยหลายคนแต่คุยกันไม่รู้เรื่อง ต้องใช้แอปแปลภาษาบางครั้ง ชายหนุ่มสองสามคนหลังรถเริ่มเข้ามาผูกมิตร และแล้วตอนเวลาเที่ยงตรง ช้ากว่ากำหนด 1 ชั่วโมง รถก็เข้าจอดที่ Barra Funda หนึ่งในสถานีขนส่งหลักของนครเซาเปาโล

ลงจากรถ รับกระเป๋าสัมภาระแล้ว สองหนุ่มที่นั่งอยู่หลังรถผู้เป็นแกนนำแซวผมเรื่องขึ้นรถช้าตั้งแต่เมื่อคืนกลับกลายเป็นพวกที่เป็นห่วงเป็นใยอย่างจริงจัง กลัวผมไปที่พักไม่ถูก ผมศึกษามาแล้วว่าต้องนั่งรถไฟใต้ดิน หรือเมโทร 2 ต่อก็จะถึงสถานีใกล้ที่พักในเขต Pinheiros ตอนนี้ก็แค่เดินไปสถานีเมโทร Barra Funda แต่สองหนุ่มขอให้ผมรอพวกเขาครู่หนึ่ง พอรับกระเป๋าเสร็จ แยกทางกับพวกที่มาด้วยกัน แล้วทั้งคู่ก็เดินนำผมไปยังสถานีเมโทร พาเข้าช่องจำหน่ายตั๋ว

ตอนเข้าคิวซื้อตั๋ว คนหนึ่งพิมพ์ข้อความลงในโทรศัพท์ของเขาเป็นภาษาโปรตุเกส ผมล้วงโทรศัพท์ออกมาแล้วพิมพ์ประโยคนั้นซ้ำลงในแอปแปลภาษา ได้ความว่า “มีคนรอคุณอยู่ที่เซาเปาโลหรือไม่” ผมหันไปตอบ “โน” เขาออกท่าทางแปลกใจมากที่ผมเดินทางโดยพูดภาษาโปรตุเกสไม่ได้ แถมยังไม่มีเพื่อนอีกต่างหาก

ภายในรถไฟใต้ดิน Metrô de São Paulo

ผมได้ตั๋วรถไฟใต้ดินมาแล้ว ราคา 4.40 เรียล พวกเขาทั้งสองก็เช่นกัน พอเดินไปถึงหน้าประตูหมุนทางเข้ารถไฟใต้ดิน พวกเขาถามผมว่ามีหน้ากากอนามัยเหลือบ้างมั้ยเพราะเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปหากไม่สวมหน้ากาก ผมมีหน้ากากผ้าสำรองอยู่ 1 ชิ้น ยื่นให้และพูดภาษาสเปนขั้นพื้นฐาน “Solo uno” พอเห็นว่ามีชิ้นเดียวทั้งคู่ก็ปฏิเสธ แล้วดึงผมไปหาเจ้าหน้าที่เมโทรคนหนึ่ง พูดบางอย่าง ทำนองฝากฝัง แล้วพวกเขาก็เดินจากไป ผมคิดว่าน่าจะไปหาซื้อหน้ากากอนามัย

เจ้าหน้าที่ยื่นแผ่นพับแผนที่รถไฟใต้ดินให้ผม อธิบายด้วยภาษาอังกฤษที่พอฟังเข้าใจ ความจริงเรื่องโดยสารรถไฟใต้ดินนี่เป็นเรื่องที่ผมถนัด มีหลักการง่ายๆ 3 ข้อ คือขึ้นให้ถูกสาย ขึ้นให้ถูกฝั่ง และออกให้ถูกประตู

ระบบรถไฟใต้ดินของนครเซาเปาโล (Metrô de São Paulo) มีอยู่ด้วยกัน 6 สาย ผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 5,300,000 คนต่อวัน ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยที่สุดในละตินอเมริกา ติดอันดับต้นๆ ระบบรถไฟที่ดีที่สุดในโลก ในด้านความสะอาดก็ติดอันดับโลกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีรถไฟเขตเมือง (Companhia Paulista de Trens Metropolitanos : CPTM) อีก 7 สาย ผู้โดยสารเฉลี่ยมากกว่า 2 ล้านคนต่อวัน รวมแล้ว 2 ระบบขนส่งนี้ให้บริการครอบคลุมระยะทาง 380 กิโลเมตร นี่คือเมืองที่มีประชากรประมาณ 22 ล้านคน มากที่สุดในละตินอเมริกา และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก

ผมนั่งสายสีแดงจากต้นสาย สถานี Barra Funda ไป 3 สถานี เปลี่ยนเป็นสายสีเหลืองที่สถานี Republica โดยเดินไปรอรถที่ชานชาลาฝั่งที่เขียนว่า Villa Sonia เพราะ Villa Sonia คือสถานีสุดท้ายของทิศทางที่ผมจะมุ่งหน้าไป (หากขึ้นที่ฝั่งชานชาลาไปสถานี Luz ก็เท่ากับขึ้นผิดทันที) นั่งไป 2 สถานีถึง Oscar Freire กว่าจะออกจากสถานีได้ต้องขึ้นบันไดเลื่อน 4 – 5 รอบ ตัวรางและชานชาลาคงขุดลงไปลึกมาก ออกประตูที่ถูกฝั่งบนถนน Av. Reboucas แล้วเดินขึ้นหน้าไปประมาณ 300 เมตร เดินเข้าซอย Rua Alves Guimaraes อีก 100 เมตร ถึงที่พักที่จองไว้ตั้งแต่เมื่อช่วงค่ำวานนี้  

เห็นได้ชัดว่าเพิ่งแปลงบ้านแบบทาวน์เฮาส์ให้กลายเป็นเกสต์เฮาส์ เจ้าของชื่อ “ไตส์” อายุประมาณ 40 – 45 ปี เธอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ผมมั่นใจว่าเธอกล่าวออกมาว่า “เจ๋งไปเลย คุณพูดโปรตุเกสไม่ได้ ฉันก็พูดอังกฤษไม่ได้” เราต้องสื่อสารกันด้วยแอปแปลภาษา

แคบหมูบราซิล เรียกว่า Torresmo

ผมออกไปซุปเปอร์มาร์เก็ตหน้าปากซอย ซื้ออาหารสำเร็จรูปจำพวกไก่อบ ซูชิ แซนด์วิช นม และน้ำผลไม้ กลับมากินที่เกสต์เฮาส์ แล้วนอนงีบไปพักใหญ่ ตื่นราว 4 โมงเย็น สอบถามไตส์ถึงร้านแลกเงินที่ให้ราคายุติธรรม เธอแนะนำร้าน Day Cambio ในห้าง Shopping Eldorado ผมนั่งรถไฟใต้ดินไปทางฝั่ง Villa Sonia ผ่าน 1 สถานีถึง Faria Lima จากสถานี Faria Lima เดินประมาณ 1 กิโลเมตร ผ่านถนน Rua Cardeal Arcoverde บาร์เบียร์จำนวนมากกำลังมีการตั้งโต๊ะบนบาทวิถี

ร้านแลกเงินอยู่ชั้นใต้ดิน ผมเช็กอัตราแลกเปลี่ยนจากอินเตอร์เน็ต 1 ดอลลาร์เท่ากับ 5.15 เรียล ร้านนี้ให้ 4.85 เรียล แต่ดูคะแนนรีวิวจากผู้ใช้งาน ร้านนี้ได้รับสูงกว่าทุกร้านในห้าง ผมจึงต้องแลกที่ร้านนี้ พอแลกดอลลาร์เป็นเงินเรียลเสร็จ สอบถามพนักงานว่า “รับเงินเปโซโคลอมเบียไหม ?” เธอตอบว่ารับ แต่เรตต่ำกว่าปกติประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ ผมจึงไม่แลก และถามต่อ “รับเงินเปโซอาร์เจนตินาไหม ?” เธอยิ้มแล้วตอบ “โน” ผมหัวเราะออกมา เธอก็ระเบิดหัวเราะเช่นกัน

หลังจากกาแฟ 1 ถ้วยผมเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างเพื่อหาซื้อแชมพู ระหว่างที่ใช้แอปในมือถือส่องคำแปลตามขวดผลิตภัณฑ์อยู่นั้นก็ได้ยินเสียง “You need any help?” หันไปเจอผู้หญิงใบหน้าเอเชียตะวันออก อายุประมาณ 25 ปี เธอพูดภาษาอังกฤษต่อ “เห็นคุณกำลังใช้มือถือส่องแปลภาษาอยู่ก็อยากจะช่วย” ผมบอกว่ากำลังหาแชมพู เธอก็เดินนำไปโซนแชมพู

ผมนึกว่านักท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่ เธอเป็นชาวบราซิล บรรพบุรุษอพยพมาจากญี่ปุ่น เธอเกิดในบราซิล เธอว่าแม้แต่คุณย่าของเธอก็เกิดในบราซิล ในเซาเปาโลมีคนเชื้อสายญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากที่สุดในบราซิล และทั้งบราซิลมีประชากรเชื้อชาติญี่ปุ่นถึงประมาณ 2 ล้านคน นอกจากในญี่ปุ่นแล้วก็ไม่มีประเทศไหนจะมีชาวญี่ปุ่นอยู่มากขนาดนี้  

คริสต์ศตวรรษที่ 19 กาแฟเริ่มเป็นสินค้าส่งออกหลักของบราซิลโดยแรงงานในไร่กาแฟส่วนใหญ่เป็นแรงงานทาสผิวดำ แต่ใน ค.ศ. 1850 บราซิลได้ออกกฎหมายห้ามค้าทาส และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานก็ได้มีมาตรการจูงใจให้ชาวยุโรปย้ายถิ่นฐานเข้ามายังแดนกาแฟ และชาวยุโรปที่ลงเรือข้ามทวีปมาส่วนใหญ่คือชาวอิตาเลียน แต่ปรากฏว่าเมื่อมาถึงแล้วพวกเขาถูกกดค่าแรงและได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีนัก สุดท้ายรัฐบาลอิตาลีก็ออกกฎหมายห้ามสนับสนุนการอพยพไปยังบราซิล

ขณะที่ในญี่ปุ่นซึ่งกำลังอยู่ในยุคฟื้นฟูเมจิ มีการยกเลิกระบบแคว้นศักดินา ยึดอำนาจและดินแดนจากบรรดาไดเมียว (เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1868) ส่งผลให้หลายพื้นที่ชนบทของญี่ปุ่นประสบปัญหาความยากจน และการอพยพไปยังสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียของคนที่ไม่ใช่ชนผิวขาวเริ่มถูกกีดกัน ชาวญี่ปุ่นจึงหันหน้าไปทางอเมริกาใต้ ปลายทางหลักคือบราซิลและเปรู

การอพยพลงเรือเที่ยวแรกของชาวญี่ปุ่นไปยังบราซิลเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1908 จากนั้นก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง ค.ศ. 1917 – 1940 มีชาวญี่ปุ่นเดินทางมายังบราซิลมากกว่า 164,000 คน โดย 3 ใน 4 ของทั้งหมดลงหลักปักฐานในรัฐเซาเปาโล พื้นที่หลักของการปลูกกาแฟในบราซิล และไม่นานต่อมาคนญี่ปุ่นจำนวนมากก็ได้เป็นเจ้าของไร่กาแฟ

ปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในรัฐเซาเปาโลประมาณ 1.6 ล้านคน สำหรับนครเซาเปาโลซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ มีย่านของชาวญี่ปุ่นชื่อว่า Liberdade โดยนอกจากชาวญี่ปุ่นแล้วก็ยังมีชุมชนชาวเอเชียชาติอื่นด้วย อาทิ จีน และเกาหลี  

สาวญี่ปุ่นน้ำใจงามยืนคุยอยู่อีกครู่ จึงทราบว่าที่เธอพูดภาษาอังกฤษได้ดีมากเพราะเธอเรียนจบทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ เธอว่าไม่ค่อยมีโอกาสพูดภาษาอังกฤษ และถ้าไม่ได้พูดนานๆ ก็อาจจะพูดไม่คล่อง เธอถามจนแน่ใจว่าผมไม่ต้องการความช่วยเหลือใดๆ เพิ่มอีก จึงค่อยแยกไป

บรรยากาศของร้าน Bar do Gonzaga

ออกจากห้าง Shopping Eldorado ผมเดินย้อนกลับทางเดิม แล้วก็แวะที่ร้านชื่อ Bar do Gonzaga ลูกค้าเริ่มแน่นร้าน น่าจะเป็นร้านยอดนิยมของหนุ่มสาวในละแวกนี้ โต๊ะเกือบทั้งหมดวางอยู่นอกร้านบนบาทวิถี ตอนผมมาถึงมีโต๊ะบนบาทวิถีว่างอยู่โต๊ะเดียวเท่านั้น ผมเข้าไปสั่งเบียร์คราฟต์มา 1 ขวด จ่ายเงิน 14 เรียลหรือประมาณ 100 บาทแล้วไปนั่งรอที่โต๊ะ บริกรหนุ่มผมยาวมาเสิร์ฟพร้อมแก้วขนาดเล็กเท่าๆ กับแก้วของบาร์ในเกาหลี

ยิ่งเวลาผ่านไปคนยิ่งแน่น มีการวางโต๊ะกินพื้นที่ลงไปบนถนน ตอนนี้ประมาณ 3 ทุ่มแทบไม่มีรถวิ่งผ่าน ลูกค้าทยอยมาไม่ขาดสาย พวกที่ไม่มีโต๊ะนั่งก็ยอมจับกลุ่มยืนดื่มเบียร์คุยกัน ดูแล้วก็น่าแปลกใจ ร้านไม่มีดนตรีสด เพลงเปิดจากเครื่องเล่นได้ยินเสียงเพียงเบาๆ เท่านั้น ผมสงสัยว่าคนชอบร้านนี้ก็คงเพราะเครื่องดื่มราคาถูก เจ้าของร้านเป็นกันเอง และหนุ่มสาวนัดมาพูดคุยกันมากกว่าจะมาฟังเพลง

อาคารสำนักงานใหม่เอี่ยมชื่อ Faria Lima Plaza ในเขต Pinheiros

        

หมดเบียร์ขวดที่ 2 ผมเดินออกจากร้านไปบนถนนเส้นเดิม พอใกล้ถึงสถานีเมโทร Faria Lima ติดกับสวนสาธารณะ Largo da Batata เห็นบรรยากาศคึกคักยิ่งกว่าถนน Rua Cardeal Arcoverde เลยเดินสำรวจรอบๆ ก่อนจะลงเอยที่ร้านชื่อ Vila Coqueiros IV มีนักดนตรีเล่นกีตาร์อคูสติกร้องเพลงบราซิล ราคาเครื่องดื่มแพงกว่าร้านก่อนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์   

ยิ่งดึกอากาศยิ่งหนาว ระหว่างนั่งฟังเพลงมีหญิงสาวหน้าสวยหุ่นดีคนหนึ่งเดินผ่านหน้าร้าน เธอสวมกางเกงขายาว แต่เปิดหลัง เปิดไหล่ และเปิดอก เสื้อแจ็กเก็ตกันหนาวถอดออกไปคาไว้ที่เอว มีผู้หญิงอีก 2 คนเดินประกบซ้าย-ขวา เธอเดินผ่านอยู่ 2 รอบ แต่ผู้คนไม่ได้แสดงความฮือฮาออกมาเท่าใดนัก ผมไม่เข้าใจเจตนาของการเดินเปลือยท่อนบนแบบนี้เลย จนตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจ

ตอนกลับไปถึงที่พักผมว่าจะถามไตส์แต่ก็ลืมสนิท หยิบไวน์อาร์เจนตินาที่ติดกระเป๋ามาด้วยเปิดรินใส่แก้ว 2 ใบ นั่งดื่มนั่งคุยกันผ่านแอปแปลภาษาในห้องอาหารของเกสต์เฮาส์ ไตส์ยังไม่นอนเพราะกำลังรอรับผู้เข้าพักคนหนึ่งที่จะเดินทางมาเช็กอินดึกเป็นพิเศษ

หัวข้อการสนทนามาหยุดที่เรื่องฟุตบอล เหตุการณ์นัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 1998 ไตส์บอกสาเหตุที่โรนัลโดป่วยกะทันหันถึงกับมีอาการชักเกร็งน้ำลายฟูมปากก่อนลงสนามประมาณ 24 ชั่วโมงเพราะคู่หมั้นของเขาในเวลานั้นนอกใจไปเล่นชู้กับนักข่าวทีวีของบราซิลรายหนึ่ง ผมอึ้งไปเลย ไม่เคยได้ยินข่าวนี้มาก่อน เธอว่าโลกไม่รู้ แต่คนบราซิลรู้

ผมจะเขียนถึงเรื่องนี้ในตอนที่กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลของบราซิลอีกประมาณ 3 – 4 ตอนข้างหน้าครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อยากช่วย...อยากเชียร์...แต่เพลียแล้วนะ

ในคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เราตกใจเมื่อเห็นผลของการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 ได้ สส. 151 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยมาเป็นที่ 2 ได้ สส. 141 ที่นั่ง ส่วนพรรคที่เขาเรียกขานกันว่าเป็นพรรคอนุรักษ์หรือพรรคหนุนเผด็จการนั้น ได้จำนวน สส.ห่างไกลจาก 2 พรรคนี้มาก ภูมิใจไทยที่ได้จำนวน สส.มาเป็นที่ 3

ยุคพระอาทิตย์ 7 ดวง

ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่...แต่เผอิญไปป่วย หรือ อาพาธ อยู่ประมาณ 3 เดือน คือระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปีพุทธศักราช 2535 หรือประมาณ 35 ปีมาแล้ว

หึ่ง! เชือด 'นายพล' อีก

ดูเหมือนจะเป็นหน่วยงานแห่งความหวัง หน่วยงานที่พึ่งสำคัญ ในการจะกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้งของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. หลังจาก บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์

จะมาจากแหล่งไหน....ก็ไม่สบายใจทั้งนั้น

ก่อนการเลือกตั้ง เมื่อมีการหยั่งเสียงคะแนนนิยมว่าก้าวไกลมีคะแนนชนะเพื่อไทย ความร้อนรนกลัวแพ้ บนเวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทยก็มีการประกาศทันทีว่าจะแจกเงินดิจิทัล

ความแตกต่างระหว่าง'มนุษย์'กับ'สัตว์เดียรัจฉาน'

คำพูด บทสนทนา ในบทละครเรื่องพระเจ้า Richard ที่ 3 ของคุณปู่ William Shakespeare ที่กลายมาเป็นคำคม เป็นวาทะ อันถูกนำไปเอ่ยอ้างคราวแล้ว คราวเล่า คือคำพูดประโยคที่ว่า

ประวัติศาสตร์สีกากี

ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของ "กรมปทุมวัน" ที่มีการเซ็นคำสั่งให้ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับ "รอง ผบ.ตร." ออกจากราชการไว้ก่อน ผลพวงจากการต้องคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์