รถถัง Leopard ของเยอรมนี สุมไฟหรือดับไฟสงคราม?

ทำไมยูเครนจึงเรียกร้องขอให้เยอรมนีส่งรถถังประจัญบาน Leopard (เสือดาว) มาอย่างต่อเนื่อง?

และทำไมรัฐบาลเยอรมนีจึงลังเลมาตลอด?

คำตอบคือ ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนเห็นว่ารถถังเยอรมันจะสามารถทำให้รัสเซียหยุดยั้งการรุกต่อในสมรภูมิยูเครนได้

เพราะรัสเซียส่งรถถัง T-90 ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ารถถังเก่าสมัยสหภาพโซเวียตที่ยูเครนใช้อยู่ในสนามรบทุกวันนี้

และนายกรัฐมนตรีเยอรมัน Olaf Scholz ก็พยายามซื้อเวลา เพราะไม่ต้องการให้ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียมีข้ออ้างว่าเยอรมนีกำลังเปิดศึกโดยตรงกับมอสโก

แต่ผู้นำเยอรมันก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากตะวันตกอย่างหนักว่าจะเปิดไฟเขียวสำหรับรถถังประจัญบานของเยอรมันที่จะส่งไปยังยูเครนหรือไม่

การประชุมผู้แทนจากกว่า 50 ประเทศที่ฐานทัพอากาศ Remstein ที่เยอรมนีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาจบลงโดยไม่มีคำมั่นอะไรจากเยอรมนีในเรื่องนี้

ถ้อยแถลงสาธารณะของรัฐมนตรีชั้นนำของเยอรมันในช่วงไม่กี่วันมานี้ บ่งชี้ว่าจุดยืนของเบอร์ลินอาจจะกำลังเปลี่ยนไป แต่ตัวนายกฯ เองซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสูงสุดยังอ้ำๆ อึ้งๆ อยู่

นายกฯ โชลซ์เป็นผู้กุมอำนาจการตัดสินใจเรื่องนี้แต่เพียงผู้เดียว

แต่เป็นการตัดสินใจที่ยากเย็นไม่น้อย

เพราะการตัดสินใจครั้งนี้ต้องพิจารณาผลพวงทางทหารและการเมืองในฐานะเยอรมนีมีประชากรมากที่สุดและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป

หากส่งรถถังของตนยังสนามรบยูเครนก็ต้องเตรียมตั้งรับการเผชิญหน้ากับรัสเซีย

อีกทั้งเขายังมีอำนาจในการอนุมัติหรือยับยั้งการส่งออกซ้ำของรถถัง Leopard ที่ผลิตในเยอรมัน ซึ่งใช้งานโดยกองทัพ 13 กองทัพทั่วยุโรป

เป็นที่รู้กันว่าเขาเป็นสไตล์ที่ “ระมัดระวัง” มาก ต้องฟังเสียงของหลายๆ ฝ่าย

จึงเป็นที่มาของความลังเลใจที่มีมาหลายเดือนแล้ว

แรกเริ่มตอนที่รัสเซียเพิ่งบุกเข้ายูเครนนั้น Scholz ประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการป้องกันและความมั่นคงของเยอรมนีครั้งใหญ่

เพื่อตอบโต้การรุกรานเพื่อนบ้านของปูติน

แต่สำหรับยูเครนแล้วดูเหมือนความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ยังช้าไปและน้อยไป

เพราะเยอรมนีถือว่าเป็นพันธมิตรที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรป 

ประเทศยุโรปอื่นที่มีชายแดนติดกับยูเครนและกังวลถึงเป้าหมายท้ายสุดของปูติน เช่น โปแลนด์ และประเทศแถบบอลติกก็เห็นว่าเยอรมนีขาดความจริงจังและจริงใจในเรื่องนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ดมิโตร คูเลบา ออกมาวิพากษ์ผู้นำเยอรมนีอย่างไม่เกรงใจ

“มันเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกันเสมอ : ตอนแรกก็จะบอกว่า 'ไม่' ก่อน จากนั้นก็พยายามหาข้ออ้างปกป้องการตัดสินใจอย่างดุเดือด แต่สุดท้ายก็เอ่ยว่า 'ใช่' เท่านั้น” 

“เรายังคงพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลเยอรมันถึงทำเช่นนี้กับตัวเอง”

ความหงุดหงิดของยูเครนต่อเยอรมนีคือ : ตกลงจะเอาไงกันแน่?

ผู้อาวุโสในพรรค Social Democratic Party (SPD) ของ Scholz พยายามออกมาปกป้องเจ้านาย

“ผมไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องเลวร้าย” ไมเคิล รอธ หัวหน้าคณะกรรมการกิจการต่างประเทศของรัฐสภาเยอรมนีให้สัมภาษณ์วิทยุเยอรมันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

“ท่านเพียงแต่ต้องการดำเนินการอย่างระมัดระวัง ในลักษณะที่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าสังคม [เยอรมัน] แตกแยกในเรื่องนี้” 

โดยอ้างว่าจากการหยั่งความเห็นของคนเยอรมัน "ไม่มีเสียงข้างมากอย่างชัดเจน" ที่สนับสนุนการส่งรถถังไปยังยูเครน

เหตุผลที่ผู้นำเยอรมนีแสดงความกังวลหลายครั้งที่ผ่านมาคือ มีความห่วงว่าหากเยอรมนีส่งรถถังทรงพลังให้ยูเครนก็จะถูกมองว่ากำลังสุมไฟ เพิ่มความขัดแย้งและยั่วยุปูติน 

เพราะปูตินเคยขู่ว่าอาจหันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์หากมอสโกรู้สึกว่ากำลังถูกตะวันตกคุกคามความอยู่รอดของตน

จุดยืนของผู้นำเยอรมันเรื่องส่งอาวุธไปยังยูเครนได้เริ่มปรับเปลี่ยนไปตั้งแต่เริ่มสงคราม 

แรกเริ่ม เขาบอกว่าจะไม่ส่งอาวุธหนักใดๆ ไปให้เลย 

โดยอ้างว่าเยอรมนีจะไม่ “ดำเนินการโดยลำพัง” ในเรื่องนี้

แต่ผ่านไประยะหนึ่ง เบอร์ลินก็เริ่มส่งมอบรถหุ้มเกราะ ปืนครกอัตตาจร และระบบป้องกันภัยทางอากาศให้ยูเครน

มาชะงักก็ตรงเรื่องรถถัง Leopard นี่แหละ

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำเยอรมัน และโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าจะส่งมอบยานรบทหารราบ Bradley ที่ผลิตในสหรัฐฯ และ Marder ที่ผลิตในเยอรมันไปให้ยูเครน

ความเคลื่อนไหวเช่นว่านี้มีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ประกาศว่าฝรั่งเศสจะจัดหารถหุ้มเกราะ AMX-10 

ซึ่งนักวิเคราะห์ทางทหารบางคนมองว่าเป็น "รถถังเบา" ของฝรั่งเศส คล้ายกับ Bradley ของสหรัฐฯ แก่กองกำลังยูเครน

อังกฤษสำทับและเพิ่มแรงกดดันต่อเยอรมนีด้วยการประกาศ ว่าลอนดอนกำลังดำเนินแผนการส่งรถถังชาลเลนเจอร์ 2 จำนวนหนึ่งให้กรุงเคียฟ

ต่อมาก็มีแรงกดดันเพิ่มจากประธานาธิบดี Andrzej Duda ของโปแลนด์ที่ออกข่าวว่าจะส่งรถถัง Leopard 2 จำนวน 14 คัน ไปยังกองทัพยูเครน “ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศ” 

แต่ตามข้อตกลงเดิมนั้นประเทศไหนจะส่งรถถังเยอรมัน Leopard ที่ผลิตโดยเยอรมนีจะต้องได้รับการอนุมัติจากเยอรมัน 

นักวิเคราะห์ทางทหารบอกว่า ที่ยูเครนระบุอยากได้ Leopard ของเยอรมนีนั้น เพราะเชื่อว่าเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับยูเครน เพราะมีน้ำหนักเบาและดูแลรักษาง่ายกว่ารถถัง Abrams ที่ผลิตในอเมริกา

ถึงวันนี้วอชิงตันก็ยังลังเลที่จะส่ง Abrams ให้ยูเครนอ้างว่าเพราะดูแลและซ่อมบำรุงยาก

รถถังในคลังแสงของยูเครนวันนี้ส่วนใหญ่เป็นรุ่นเก่าที่ผลิตในสมัยสหภาพโซเวียต

นับไปนับมา รถถังของยูเครนมีจำนวนมากกว่าและอำนาจการยิงด้อยกว่ารถถังรัสเซีย

เชื่อกันว่ารถถัง Leopard มีทั้งหมดกว่า 2,000 ชุด ที่เก็บไว้ในคลังแสงทั่วยุโรป 

ประธานาธิบดีเซเลนสกีเชื่อว่า ถ้ายูเครนได้สัก 300 คัน ก็สามารถช่วยเอาชนะรัสเซียได้

รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมันคนใหม่ Boris Pistorius บอกว่า เบอร์ลินพร้อมที่จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วหากมีความเห็นพ้องต้องกันในหมู่พันธมิตร

แต่ก็แทงกั๊กต่อว่า “ผมไม่สามารถบอกได้ว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับรถถัง (Leopard) จะเกิดขึ้นเมื่อใด...”

เยอรมนีตกอยู่ในฐานะลำบาก กลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพราะแม้จะได้ส่งความช่วยเหลือทางทหารให้กับยูเครนจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังถูกพันธมิตรวิพากษ์ซ่ายังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ จึงไม่ส่งรถถังประจัญบานไปให้ยูเครนตามคำร้องขอ

ถ้ายูเครนแพ้สงคราม เยอรมนีก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำให้รัสเซียเหลิงและได้เปรียบ

แต่ถ้ายูเครนชนะในที่สุด พันธมิตรก็จะบอกว่าน่าจะพิชิตได้เร็วกว่านี้ถ้าเยอรมนีไม่เล่นเกมซื้อเวลา

เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้