เงินหยวนท้าทายดอลลาร์ หนักขึ้นในทุกเวทีโลก

เงินสกุลหยวนของจีนกำลังจะมาทดแทนดอลลาร์ของสหรัฐฯ จริงไหม?

ข่าวคราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้เห็นสัญญาณอะไรบางอย่างที่ชัดขึ้น เช่น

 1.ซาอุดีอาระเบียพิจารณารับเงินหยวนจากจีนในการซื้อขายน้ำมัน

  2.จีนและฝรั่งเศสตกลงจะค้าขาย LNG ครั้งแรกโดยใช้เงินหยวน

 3.รัสเซียพิจารณาใช้เงินหยวนของจีนเป็นสกุลเงินสำรอง

4.ซาอุดีอาระเบียร่วมมือกับจีนสร้างโรงกลั่นมูลค่า  83.7 พันล้านหยวนจีน (กว่า 400,000 ล้านบาท)

5.จีนและบราซิลตกลงที่จะใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน

สถิติล่าสุดบอกว่า เปอร์เซ็นต์ของเงินสำรองทั่วโลกในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 72% ในปี 1999 เป็น  59% ในปัจจุบัน

ทำให้เกิดคำถามเดิมที่ว่าอิทธิพลเบ็ดเสร็จของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงหรือไม่กำลังจะได้คำตอบที่น่าสนใจมากขึ้นอีก

ไม่ต้องแปลกใจอีกต่อไปว่าเงินหยวนจะมีบทบาทสูงขึ้นในเวทีการค้าโลก

สังเกตได้จากที่ธนาคารกลางจีนพยายามกระตุ้นให้คู่ค้าของจีนหันมาใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น

ปักกิ่งมีเป้าหมายว่าในระยะกลาง (ไม่ต้องรอถึงระยะยาว) จีนจะต้องพยายามทำให้สถานภาพของดอลลาร์ถูกเงินหยวนท้าทายอย่างแน่นอน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งก็คงมาจากเรื่องสงครามยูเครน

เพราะเมื่อตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ก็เท่ากับเป็นการผลักดันให้มอสโกต้องหันมาหาจีนเพิ่มขึ้น

และเมื่อเห็นตะวันตกสั่งอายัดเงินสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียในธนาคารตะวันตก ก็ยิ่งทำให้หลายประเทศต้องทบทวนนโยบายเรื่องการกระจายเงินสำรองของตัวเองมากขึ้น

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเพิ่งประกาศระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ไปเยือนมอสโกเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาว่า ตอนนี้การค้ากว่า 1 ใน  3 ของโลกก็หันมาใช้เงินหยวนกันแล้ว

ปูตินบอกว่า ยิ่งวันก็จะเห็นชาวโลกหันมาใช้เงินหยวนและรูเบิลของรัสเซียมากขึ้น

รัสเซียบอกว่าจะเพิ่มปริมาณเงินสำรองในรูปสกุลเงินหยวน

และจะเพิ่มการค้ากับจีนโดยจะชำระค่าสินค้าระหว่างกันผ่านหยวนและรูเบิล

แม้แต่ธนาคารรัสเซียหลายแห่งก็เริ่มหันมาเสนอบริการลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นสกุลเงินหยวน แทนที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์และสกุลเงินยูโร

ตัวเลขล่าสุดชี้ว่า เงินหยวนมีส่วนแบ่งการตลาดในเวทีการค้าโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.2%

เท่ากับเป็นเงินสกุลที่ถูกใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก

รองจากเงินสกุลดอลลาร์ ยูโร และปอนด์สเตอร์ลิง

เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการที่หลายประเทศหันมาเพิ่มสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลเป็นเงินสกุลจีน

อีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนเกื้อจีนคือ การที่ข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ 1 มกราคมปีนี้ จะผลักดันให้การใช้เงินหยวนระหว่างจีนและชาติสมาชิกเพิ่มสูงขึ้น

ถามว่า เงินสกุลอะไรที่ยังครองความนิยมในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศของชาติต่างๆ คำตอบคือ

ดอลลาร์ยังมีสัดส่วนที่สูงถึง 59.1% ตามมาด้วยยูโรที่  20.5% เงินเยน 5.8% เงินปอนด์สเตอร์ลิงที่ 4.8%

ขณะที่เงินหยวนยังมีสัดส่วนอยู่เพียง 2.7% เท่านั้น

ตัวแปรที่อาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้ก็คือ การคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก

เพราะหลายประเทศบอกว่าต้องมีการทบทวนนโยบายของการกระจายการถือครองเงินสำรองไปยังสินทรัพย์และเงินสกุลอื่นๆ มากขึ้น

เป็นบทเรียนของการบริหารความเสี่ยงในอนาคตที่สำคัญสำหรับทุกประเทศ

อีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะทำให้บทบาทของหยวนคึกคักขึ้นคือ ข้อเสนอที่จะตั้งระบบการโอนเงินข้ามประเทศของจีนที่เรียกว่า CIPS (Cross-Border  Interbank Payment System)

ให้เป็นทางเลือกแทนระบบ SWIFT ของชาติตะวันตก

คำถามต่อมาก็คือว่า อินเดียจะเข้าร่วมกับจีนและรัสเซียในการทำให้ดอลลาร์ลดความสำคัญในตลาดโลกหรือไม่ เพราะถ้าอินเดียกระโดดลงมาเล่นเกมนี้ด้วยรับรองว่าสนุกแน่ๆ

หลังเกิดสงครามยูเครน รัสเซียขายก๊าซและน้ำมันให้จีนกับอินเดียในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก...ณ “ราคามิตรภาพ” เสียด้วย

นั่นย่อมทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างอินเดียกับจีนและรัสเซีย

ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจีนได้เริ่มพัฒนาเงินหยวนในรูปแบบดิจิทัลที่เรียกว่า Central Bank  Digital Currency (CBDC) มาตั้งแต่ปี 2014

ปักกิ่งได้ให้ประชาชนเริ่มใช้ CBDC มากขึ้นตามลำดับ (เหมือนที่ไทยเราเตรียมจะทดลองใช้ในเร็วๆ นี้)

ซึ่งนั่นจะเสริมศักยภาพของจีนที่จะเสนอบริการเงินสกุลดิจิทัลเป็นหยวนได้อีกทางหนึ่ง

เป็นไปได้ไหมว่า เทคโนโลยีทางการเงินของจีนแซงหน้าหลายประเทศแม้แต่สหรัฐฯ ไปแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

ดังนั้น ถ้าในวันข้างหน้าความต้องการเงินดอลลาร์ลดลง อิทธิพลบารมีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่สามารถกำหนดทิศทางการเงินโลกก็จะลดลงตามไปด้วย

หากฟังคำแถลงนโยบายเศรษฐกิจและการเงินจากนายกฯ คนใหม่ หลี่ เฉียง ก็จะเห็นว่าได้ปรับนโยบายเปิดกว้างสำหรับต่างประเทศและเอกชนอย่างน่าสนใจยิ่ง

นโยบายการทูตและเศรษฐกิจเชิงรุกของจีนภายใต้สี  จิ้นผิง ยุคที่ 3 และนายกฯ หลี่ เฉียง ที่ได้ชื่อว่ามีความเข้าใจเอกชนมาตลอดนั้น อาจจะเป็นแรงส่งอีกด้านหนึ่งที่จะทำให้เงินสกุลหยวนของจีนได้ผงาดในเวทีระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

อีกไม่นานเราจะเห็นการแข่งขันระหว่างหยวนกับดอลลาร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้นไปอีก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สี จิ้นผิงกอดปูติน: ส่งสัญญาณ ‘นี่คือระเบียบโลกใหม่ที่มี 2 ขั้ว’

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “สองสหาย” แห่ง “ระเบียบโลกใหม่” ต้องการจะบอกชาวโลกว่ายุคสมัยแห่งการมีโลกที่สหรัฐฯและตะวันตกเป็นผู้กำหนด ทิศทางการเมืองระหว่างประเทศนั้นกำลังสิ้นสุดลง

จีนกังวลโครงการท่าเรือในพม่า ขณะที่การสู้รบในยะไข่ยังเดือด

สมรภูมิที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในพม่าวันนี้คือรัฐยะไข่ที่กองทัพอาระกันสามารถเอาชนะทหารรัฐบาลพม่าในหลายแนวรบ ขณะที่ยังมีความซับซ้อนของการเมืองท้องถิ่นและโยงไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของจีนด้วย

ปูตินปลดรัฐมนตรีกลาโหม: ปรับยุทธศาสตร์สงครามใหม่?

ข่าวที่สร้างความแปลกใจไม่น้อยสำหรับคนที่ติดตามเรื่องราวของรัสเซียกับสงครามยูเครนมากว่า 2 ปี คือการที่ปูตินเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมและเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ

เมื่อกัมพูชากับเวียดนามขัดแย้งเรื่อง ‘คลองฟูนันเตโช’ ไทยยืนตรงไหน?

ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับเวียดนามว่าด้วยโครงการสร้างคลอง “ฟูนันเตโช” ในกัมพูชาที่สนับสนุนโดยทุนจีนกำลังทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงไทยต้องจับตาดูเพื่อไม่ให้ลามเป็นความขัดแย้งของภูมิภาค