แจกเงิน? ดีจริงเหรอ

จากการที่ได้คลุกคลีทำข่าวในแวดวงเศรษฐกิจมาอย่างยาวนานพอสมควร ก็เห็นว่าเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางภาครัฐใช้นั้น หลักๆ ก็มีอยู่ 2 ด้านด้วยกัน ก็คือ นโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน

แน่นอน หากถามความเข้าใจของประชาชนแล้ว เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจเรื่องนโยบายการเงินมากกว่า เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว นั่นก็คือ เรื่องการปรับขึ้นและลดดอกเบี้ย โดยหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบงก์ชาติก็แค่มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยถูกลง ต้นทุนทางเศรษฐกิจก็ถูกลง คนก็กล้าลงทุน จับจ่ายใช้สอย แต่หากเห็นว่าเศรษฐกิจร้อนแรง หรือมีเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ก็ใช้การขึ้นดอกเบี้ยเป็นกลไกชะลอความร้อนแรง ดังที่เห็นและเกิดขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน

ขณะที่ นโยบายการคลัง จะเป็นนโยบายเกี่ยวกับการใช้จ่ายและรายได้ของรัฐ ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้กลไกเกี่ยวกับการใช้จ่ายนี้มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อาทิ การใช้งบประมาณอัดลงไปในระบบ การทำงบประมาณแบบขาดดุลการคลัง การลดหย่อนภาษี หรืองดจัดเก็บภาษี ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อกระตุ้นให้เงินไหลคืนกลับไปยังประชาชน ให้มีการใช้จ่าย

แน่นอน การกระตุ้นเศรษฐกิจของเครื่องมือทั้งสองมีความแตกต่างกันพอสมควร และมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสม

และในบรรยากาศการหาเสียงในช่วงนี้ หลายคนก็ได้เกาะติดนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งหลักๆ ก็มาพร้อมกับการทำประชานิยม แจก-เพิ่มสวัสดิการนู่นนี่ให้ บางพรรคถึงขนาดบอกว่าจะแจกเงินดิจิทัลถึง 10,000 บาทให้คนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป

จริงๆ ในเชิงการช่วงชิงกระแสก็เรียกได้ว่าสร้างเสียงฮือฮาและแรงกระเพื่อมต่อประชาชนจำนวนมาก ตอนนี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าการแจกในลักษณะนี้เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้าหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนไม่ใช่นักกฎหมายก็เลยไม่สามารถไปฟันธงตรงนี้ได้

แต่หากมองในแง่เศรษฐกิจแล้ว นโยบายนี้มันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อจริงๆ หรือไม่ และทำได้จริงหรือไม่

อันดับแรก วัตถุประสงค์ที่ทางพรรคการเมืองระบุว่าการแจกเงินดังกล่าวต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉุกเฉิน และกระตุ้นกำลังซื้อ

ซึ่งเมื่อมาดูในความเป็นจริง เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะฝืดเคืองจริงหรือไม่ ซึ่งมองด้วยใจเป็นธรรมจริงๆ ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยเองไม่ได้อยู่ในช่วงขาลง แต่เป็นช่วงขาขึ้นด้วยซ้ำ เห็นได้จากช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาการใช้จ่ายก็คึกคัก อย่างที่หอการค้าระบุว่า เมื่อรวมทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะมีเงินสะพัดกว่าแสนล้านบาท

ขณะที่ การท่องเที่ยวก็มีการฟื้นตัวแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และปีนี้ก็คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะทะลุ 25-26 ล้านคนด้วยซ้ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็จับจ่ายใช้สอยเอาเงินเข้าประเทศอยู่แล้ว

จะมีติดขัดบ้างก็เรื่องของการผลิตเพื่อส่งออก เพราะในประเทศตะวันตกหลายแห่งเจอภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจฝืดเคือง ดังนั้นการส่งออกก็จะกระทบบ้าง แต่เรื่องส่งออกก็จะไปเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าชาวบ้าน ร้านค้า ตลาดทั่วไป

ดังนั้น แค่ข้อแรกก็ยังไม่เห็นความจำเป็นในการต้องทุ่มเงินจำนวนมหาศาลถึง 550,000 ล้านบาท (นับ 55 ล้านคน) มาใช้กับโครงการที่เรียกว่าแจกให้ใช้กันฟรี ที่ดูแล้วน่าจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แน่นอน มันอาจจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ระยะยาวไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

ประการสำคัญ อันดับแรก จะหาเงินจากไหนกว่า 550,000 ล้านบาทมาใช้ดำเนินโครงการ ซึ่งทุกวันนี้รัฐบาลก็แบกหนี้สาธารณะจากการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว จากการกู้มาแจกช่วงโควิดที่ผ่านมา และเข้าใจว่างบ 67 มีวงเงินให้ปรับใช้เพียง 200,000 ล้านบาท ถ้ามีการกู้เพิ่มจริงก็จะดันหนี้สาธารณะทะลุไปถึง 64.16% ของจีดีพี ซึ่งก็เสียวินัยการเงิน การคลัง กระทบไปยังเรตติ้งต่างๆ ที่จะตามมาจากมุมมองต่างชาติ ซึ่งจะกระทบไปยังเสถียรภาพระยะยาวอีก และการปั๊มเงินลงไปในระบบ จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อซ้ำอีกหรือไม่ ก็ยังเป็นคำถาม

และที่สำคัญเลย เมื่อแจกและใช้งบหมดแล้วใน 6 เดือน งบที่ละเลงไป 500,000 ล้านบาท ซึ่งนำมาพัฒนาโครงการ โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากมาย ก็อาจจะทำพื้นฐานของประเทศชะงักงันได้ อันนี้ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกันดู

ที่สำคัญ การเพิ่มกำลังซื้อมีได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องแจกเงิน แต่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ใช้เงิน ผ่านกระบวนการทางภาษี หรือการเพิ่มแรงจูงใจบางอย่างก็สามารถทำได้ นโยบายอย่าง ช้อปดีมีคืน หรือแม้กระทั่งหวย ใบเสร็จร้านค้าของบางพรรค ซึ่งก็กระตุ้นการจับจ่ายได้เช่นกัน นี่ก็ลองฝากไปคิดดูว่า แจกเงิน มันดีจริงๆ หรือไม่.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท