'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

 “หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหากคำนวณเป็นระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะอยู่ที่ราว 90.9% ต่อจีดีพี โดยสามารถจำแนกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ สัดส่วน 33.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด, สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ 17.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ คิดเป็น 27.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ได้เคยให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนว่า เป็นสิ่งที่น่าห่วง และเป็นภาพที่เรียกว่าอันตราย เพราะสะท้อนภาพหนี้ครัวเรือนไทยที่วิ่งเร็วต่อเนื่อง

ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 1.8% หรือไม่เกิน 2% ในปีนี้ และการที่จะทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยลดลงมาอยู่ในระดับที่ 80% นั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ “ไม่ง่าย”

ทั้งนี้ ยังมีหนี้ที่มองไม่เห็นและพร้อมระเบิด คือ “หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์” ที่ปล่อยกู้สมาชิกกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งที่ทำงานอยู่และเกษียณ รวมกว่า 8 แสนล้านบาท และกลุ่มนี้ยังขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ รวมกว่า 6 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็น 1.4 ล้านล้านบาท

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น จากการเก็บข้อมูลของเครดิตบูโรมีทั้งสิ้น 1.05 ล้านล้านบาท อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ 1.04 ล้านล้านบาท และยังมีหนี้กลุ่มกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่ค้างชำระ 30-90 วัน ซึ่งต้องยอมรับว่าอันตรายสุดๆ เพราะยังไหลมาเรื่อยๆ โดยข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2566 พบว่า หนี้กลุ่ม SM อยู่ที่ราว 6.1 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าในอีก 12 เดือนข้างหน้า หนี้เสียจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 1.2 ล้านล้านบาท และหนี้กลุ่ม SM ก็จะมียอดใกล้เคียงที่ราว 8 แสนล้านบาท

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หนี้ตัวเรือนไทยปี 2567 อาจจะชะลอลง แต่สัดส่วนต่อจีดีพียังอยู่ในระดับสูงที่ 90.7% โดยหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน แต่ยอดคงค้างหนี้ยังคงสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันครัวเรือนยังคงพึ่งพาเงินกู้มาบริหารจัดการสภาพคล่องประจำวัน ขณะที่การก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ (บ้านและรถยนต์) ชะลอลงมากในปี 2566 ตามกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยครัวเรือนที่ก่อหนี้เพิ่มน่าจะเป็นครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง และ/หรือเป็นครัวเรือนที่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาประคองสภาพคล่องและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

โดยข้อสังเกตพบว่า หนี้ในกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นลูกหนี้ของผู้ประกอบการนอนแบงก์ โดยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของพอร์ตนอนแบงก์ขยายตัว 4.6% และ 17.9% ตามลำดับ ส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นที่นอกเหนือจากหนี้ในกลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังเร่งตัวขึ้นเร็ว สวนทางการก่อหนี้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น หนี้บ้านและหนี้เพื่อการประกอบอาชีพที่เติบโตในอัตราชะลอลง และหนี้รถที่หดตัวลง ขณะที่เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ออมทรัพย์ยังเติบโตต่อเนื่อง และสูงกว่าเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินประเภทอื่น

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดของสถิติหนี้ครัวเรือนไทยที่ 95.5% ที่เห็นในช่วงไตรมาส 1/2564 จากผลกระทบของโควิด-19 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีอาจมีแนวโน้มชะลอลงในระยะข้างหน้า หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว และหนี้สินภาคครัวเรือนเริ่มโตช้าลง แต่ก็จะยังคงไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพีได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้

อย่างไรก็ดี แนวโน้มปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าหนี้ครัวเรือนอาจจะโตต่ำกว่าระดับ 3% โดยมียอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2567 อยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.7% ต่อจีดีพี ภายใต้สมมุติฐาน Nominal จีดีพี ปี 2567 เติบโตในอัตราประมาณ 3.6% ชะลอลงจากระดับ 91.3% ต่อจีดีพีในปี 2566 เพราะครัวเรือนส่วนใหญ่น่าจะชะลอการก่อหนี้ก้อนใหม่ ท่ามกลางความกังวลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีวงเงินต่อสัญญาค่อนข้างสูง เช่น สินเชื่อบ้านและรถยนต์.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เก้าอี้ร้อนฉ่า

ถือเป็นประเด็นร้อนหลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกมากดดัน ล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต