ศก.ไทยชะลอแม้ท่องเที่ยวฟื้น

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาใกล้เคียงปกติอย่างมาก การบริโภคและการลงทุนต่างๆ เริ่มฟื้นตัวดี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็กลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง แม้ว่าภาคการส่งออกดูเหมือนจะชะลอลงไปบ้าง จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่แผ่วตัวลง ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยหนุนจากภายนอกอีกด้วย ทำให้หลายฝ่ายก็มองว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น

แต่ในช่วงที่ผ่านมาสัญญาณเศรษฐกิจหลายอย่างเริ่มชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อ่อนแอลงกว่าที่ประเมินไว้ แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจอาจจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากตัวเลขนักท่องเที่ยว ซึ่ง KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ยังคงมุมมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงและไม่เท่ากัน และคาดว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวอาจจะเผชิญความท้าทายและมีทิศทางที่ชะลอตัวลง เกิดจาก 3 ปัจจัยหลักที่เปลี่ยนไปจากช่วงต้นปี คือ 1.รายได้จากภาคการท่องเที่ยวไม่กระจายไปภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ตามที่คาด

2.อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น การชะลอตัวลงของการปล่อยสินเชื่อและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคธนาคาร เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันที่อาจทำให้วัฏจักรสินเชื่อกำลังเปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง คือ หนี้ครัวเรือนของไทยที่ปรับสูงขึ้นเกินกว่า 80% ของจีดีพี เป็นระดับที่เริ่มจะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจ, การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยซึ่งสูงขึ้นมากกว่ารายได้ และปัญหาหนี้เสียในประเทศที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และการเติบโตของสินเชื่อเริ่มชะลอลง และจะทำให้แนวโน้มการบริโภคสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ ชะลอตัวลงตาม

3.การเปิดเมืองของจีนไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ดีตามที่ตลาดคาด โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดทั้งการบริโภคและการลงทุนของจีนมีสัญญาณชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยใน 2 มิติ คือ นักท่องเที่ยวจีนมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาได้ไม่ถึง 5 ล้านคนตามที่คาดไว้ และการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นช้า โดยยังคงประมาณการว่าการส่งออกทั้งปีของไทยจะติดลบที่ -3.1%

ขณะที่เงินเฟ้อไทยปรับตัวลงเร็วกว่าที่ประเมิน สะท้อนเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้า แม้ในช่วงต้นปีจะมีความกังวลว่าปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยจะค้างอยู่ในระดับสูงจากเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการส่งผ่านราคาจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่ประเมินไว้ค่อนข้างเร็ว สะท้อนว่าเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศไม่ได้เติบโตได้แข็งแกร่งมากนักในช่วงที่ผ่านมา แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวแล้วก็ตาม และมีการปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อในปีนี้ลงเหลือเพียง 1.8%

และแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงแสดงความกังวลด้านเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นในอนาคต แต่เศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนทำให้ KKP Research ประเมินว่าความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นมีน้อยและคงการคาดการณ์เดิมว่า ธปท.จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้อีกแค่ 1 ครั้งที่ 2.25%

อย่างไรก็ดี KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้ยังต้องระวังความเสี่ยงอีกอย่างน้อย 3 เรื่อง และจะทำให้เศรษฐกิจปรับตัวชะลอลงรุนแรงกว่าที่คาดได้มาก คือ 1.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงและดอกเบี้ยขาขึ้น จะกระทบต่อภาวะการเงินและภาระหนี้ในไทย ซึ่งอาจทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะการลดหนี้ หรือ Deleveraging cycle 2.เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงชะลอตัว แต่จากข้อมูลในอดีตความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากที่สุดยังมีอยู่ในช่วงกลางถึงปลายปี 2567 และจะกลับมากระทบกับภาคต่างประเทศของไทยได้ และ 3.ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีเลวร้าย เช่น หากมีการชุมนุมประท้วง ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เก้าอี้ร้อนฉ่า

ถือเป็นประเด็นร้อนหลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกมากดดัน ล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด