ยกระดับมาตรฐานยานยนต์

หากพูดถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แน่นอนว่าเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ควบคุมและจัดระเบียบการขนส่งทางถนนภายในประเทศและระหว่างประเทศ จดทะเบียนและเก็บภาษีรถ และออกใบอนุญาตขับรถ พัฒนาระบบการขนส่งทางถนนและการใช้รถใช้ถนน ล่าสุดลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “ยกระดับพัฒนามาตรฐานยานยนต์” เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ของประเทศไทยสู่ระดับสากล ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

โดย จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. มองว่าภารกิจหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมให้การขนส่งทางถนนเป็นไปด้วยความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่มีความทันสมัย โดยในปีนี้เป็นปีที่กรมขนส่งทางบกครบรอบ 82 ปี ภายใต้แนวคิด “82 ปี กรมการขนส่งทางบก นวัตกรรมขนส่งทันสมัย สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน”

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการยกระดับด้านความปลอดภัยในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือและโครงการต่างๆ เช่น โครงการรณรงค์ความปลอดภัยรถ NGV โครงการความร่วมมือการรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนให้นำรถยนต์เข้าตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัย

ขณะเดียวกันได้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก รวมถึงนำเทคโนโลยี GPS ซึ่งเป็นนวัตกรรมดิจิทัลที่สำคัญมาควบคุม กำกับ ดูแล การเดินรถ ความเร็ว ชั่วโมงการทำงาน การขนส่งรถสาธารณะทุกประเภท เป็นต้น

นอกจากยังมีภารกิจสำคัญในการพัฒนายกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์ในประเทศไทยให้สอดคล้องตามข้อกำหนดทางเทคนิคในระดับสากล ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานสำหรับใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ยานยนต์ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาด้านมาตรฐานของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งถือเป็นภารกิจที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง

สำหรับความร่วมมือดังกล่าว โดยสองหน่วยงานเห็นพ้องต้องกันที่จะบูรณาการความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานยานยนต์ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการยกระดับพัฒนามาตรฐานยานยนต์” เพื่อกำหนดบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบในการพัฒนามาตรฐานยานยนต์ของประเทศไทยของแต่ละหน่วยงาน ในการพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ของประเทศไทยสู่สากล

ขับเคลื่อนการดำเนินการตามพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ บูรณาการในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จัดทำความร่วมมือด้านวิชาการ การพัฒนาองค์กรและบุคลากร รวมทั้งสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการส่งเสริมการดำเนินการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ จะเป็นก้าวที่สำคัญในการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ของประเทศไทยให้สอดคล้องเทียบเท่ามาตรฐานสากล ร่วมกันกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยในการใช้งาน ลดความซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกฎระเบียบ ข้อกำหนดทางเทคนิค และมาตรฐานต่างๆ อีกทั้งยังเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์และเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

ขณะที่ บรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์เดิมที่ใช้เครื่องยนต์เป็นยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งมีความท้าทายในเรื่องของความคาดหวังของประชาชนด้านประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการใช้ข้อกำหนดทางเทคนิคของผลิตภัณฑ์มาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน ชี้นำ หรือปกป้องอุตสาหกรรมของประเทศ

เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ สมอ.และ ขบ. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลยานยนต์และชิ้นส่วน จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ที่ผ่านมา สมอ.ได้มีความร่วมมือกับ ขบ.ผ่านการเข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะทำงานต่างๆ ระหว่างหน่วยงานของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในเวทีระดับภูมิภาคและระดับสากล เพื่อขับเคลื่อนภารกิจตามพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ.

 

กัลยา ยืนยง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เก้าอี้ร้อนฉ่า

ถือเป็นประเด็นร้อนหลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกมากดดัน ล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต