หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านเวียดนาม-ไบเดน

ความสัมพันธ์รอบด้านเวียดนาม-สหรัฐเริ่มปี 2013 จากข้อตกลง “Vietnam–U.S. Comprehensive Partnership” ในสมัยรัฐบาลโอบามามุ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ร่วมมืออย่างกว้างขวาง ต่างยอมรับระบอบการปกครองของกันแต่กัน เคารพอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ข้อตกลง ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน’ (Comprehensive Strategic Partnership) ฉบับกันยายน 2023 เป็นฉบับสมัยรัฐบาลไบเดน ยกระดับความสัมพันธ์ให้สูงขึ้นอีก มีสาระสำคัญดังนี้

ประการแรก ความสัมพันธ์ทางการเมืองกับการทูต

ทั้ง 2 ประเทศตั้งใจผูกสัมพันธ์การเมืองกับการทูตลงลึกกว่าเดิม สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ส่งเสริมความร่วมมือระดับหน่วยงานของกันและกัน เคารพกฎหมายซึ่งกันและกัน

ภาพ: ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับนายกฯ เวียดนาม ฝั่ม มิญ จิ๊ญ
ที่มา: https://en.baochinhphu.vn/technology-innovation-and-investment-to-become-new-pillar-of-viet-nam-us-relations-111230911192718987.htm

ประการที่ 2 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

ปี 2022 การค้าทวิภาคีมีมูลค่า 138,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุดของเวียดนาม ครอบคลุมสารพัดสินค้า ตั้งแต่สิ่งทอ รองเท้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนเวียดนามนำเข้าฝ้าย ถั่วเหลือง เป็นที่หมายการลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐ อีกทั้งเวียดนามเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลไบเดนและสหรัฐกำลังให้ความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงนี้

ข้อนี้เป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ทวิภาคี เอื้ออำนวยให้ต่างฝ่ายต่างลงทุน เปิดตลาดต่อกัน จัดการเงื่อนไขกับข้อกีดขวางต่างๆ สหรัฐชื่นชมเวียดนามปฏิรูปเศรษฐกิจแบบตลาด ดำเนินนโยบายการเงินกับอัตราแลกเปลี่ยนที่โปร่งใส ช่วยให้มั่นใจระบบสถาบันการเงินเวียดนาม รัฐบาลสหรัฐยินดีให้ความช่วยเหลือเต็มที่

ทั้งคู่จะส่งเสริมระบบการค้าระหว่างประเทศที่ไม่เลือกปฏิบัติ มีความยุติธรรม รวมทุกฝ่ายเข้าด้วยกันอย่างเสมอภาค โปร่งใส ควบคู่กับองค์การการค้าโลก ชื่นชมความก้าวหน้าของกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) อีกทั้งเคารพสิทธิแรงงาน

ประการที่ 3 ด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง

ทั้งคู่ตระหนักถึงความสำคัญของเสถียรภาพกับสันติภาพโลก การช่วยเหลือเมื่อเผชิญภัยพิบัติ จะวางระบบสื่อสารระหว่างกระทรวงกลาโหมจนถึงระดับหน่วยงาน ร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพในกรอบของสหประชาชาติ แพทย์ทหาร บังคับใช้กฎหมายทางทะเล ส่งเสริมขีดความสามารถป้องกันทางทะเล การป้องกันชายฝั่ง การประมงผิดกฎหมาย เพิ่มศักยภาพเวียดนามด้านการตรวจตราทางทะเลและอื่นๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วม

ทั้งคู่เห็นพ้องส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย การร่วมทำงานของหน่วยงานยุติธรรม หน่วยการข่าวความมั่นคงยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับทะเล โจรสลัด การค้ามนุษย์ การฟอกเงิน ยาเสพติด สารเคมีที่เป็นภัย อาชญากรรมไซเบอร์ ต่อต้านก่อการร้าย ลัทธิสุดโต่งทุกรูปแบบ สอดคล้องกฎบัตรสหประชาชาติ

จะร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เข้มข้นขึ้น ซื้อขายอาวุธระหว่างกัน สหรัฐจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถป้องกันประเทศของเวียดนามตามความจำเป็น

ประการที่ 4 ความร่วมมือด้านอื่นๆ

สหรัฐจะเพิ่มการฝึกทักษะแรงงานไฮเทค ยอมรับว่าเวียดนามมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เร่งส่งเสริมด้านนี้ ให้เวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกด้านเซมิคอนดักเตอร์ เป้าหมายคือผลิตเพื่อป้อนตลาดสหรัฐ ตามหนังสือ Memorandum of Cooperation on Semiconductor Supply Chains, Workforce and Ecosystem Development

ความร่วมมือนี้เป็นกลไกที่สหรัฐจะถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝึกอบรมทักษะ ให้เวียดนามสามารถป้อนเซมิคอนดักเตอร์ตรงตามความต้องการของตน

จะส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาด้านดิจิทัล รวมทั้งโครงข่ายสื่อสาร 5G วิจัยร่วมกัน ฝึกอบรมหลากหลายโครงการ เช่นจากความร่วมมือ Vietnam-U.S. Science and Technology Agreement for Research (VUSTAR)

นอกจากนี้ ทั้งคู่ให้ความสำคัญกับโลหะหายาก (Rare Earth Elements) สหรัฐจะช่วยพัฒนาแหล่งทรัพยากรนี้

ด้านการศึกษาและฝึกทักษะ ปัจจุบันนักเรียนนักศึกษาเวียดนามเกือบ 30,000 คนกำลังศึกษาต่อที่สหรัฐ (มากเป็นอันดับที่ 5) และอาจเพิ่มมากกว่านี้ สนับสนุนให้มหาวิทยาลัย 2 ฝ่ายร่วมงานวิจัย สหรัฐจะเพิ่มจำนวนทุนการศึกษา

ทั้งคู่จะช่วยแก้ไขความเสียหายอันเนื่องมาจากสงคราม (เวียดนาม) อันจะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ขจัดสารพิษที่ยังตกค้าง วัตถุระเบิดต่างๆ เพิ่มความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บพิการจากสงคราม พิสูจน์ศพทหารด้วยการตรวจ DNA รวมทั้งทหารอเมริกัน

วิเคราะห์: สงครามเวียดนามสร้างบาดแผลต่อชาวเวียดนามทั้งประเทศ ผลของสงครามยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ระเบิดจำนวนมากที่ยังไม่ระเบิด สารพิษตกค้าง จนถึงทุกวันนี้ยังต้องเยียวยารักษา

หลายปีที่ผ่านมา การติดต่อระหว่างประชาชนสองประเทศเพิ่มขึ้นมาก ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การติดต่อทางธุรกิจ วิชาชีพและการศึกษา จะลงลึกถึงระดับจังหวัด ชุมชน ให้ความสำคัญคนหนุ่มสาว ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การกีฬา

ทั้ง 2 ประเทศย้ำความสำคัญของการ ส่งเสริมและป้องกันสิทธิมนุษยชนตามกรอบรัฐธรรมนูญของตนและตามกฎระเบียบนานาชาติ จะพูดคุยอย่างเปิดอก สร้างสรรค์โดยใช้กลไก U.S. Human Rights Dialogue and Vietnam-U.S. Labor Dialogue สร้างความเข้าใจและลดช่องว่างต่อกันและกัน

ประการที่ 5 ประเด็นภูมิภาคกับโลก

ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมมือต่อประเด็นภูมิภาคกับโลกบนพื้นฐานได้ประโยชน์ร่วม ส่งเสริมการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ การพัฒนาภูมิภาคและโลก ยึดมั่นความร่วมมือในกรอบนานาชาติ เช่น สหประชาชาติ APEC, East Asia Summit, ARF, ADMM Plus และกลไกอื่นๆ ของอาเซียน ส่งเสริมพหุภาคีนิยม เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ สถาปัตยกรรมภูมิภาคที่อาเซียนเป็นแกนกลาง “มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก” (AOIP)

จะส่งเสริมแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ข่มขู่ ไม่ใช้กำลัง พร้อมกับส่งเสริมเสรีภาพการเดินเรือ การบินเหนือทะเลจีนใต้ เคารพเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) ที่ให้แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี หลักเดินเรือเสรีและการบินผ่านน่านน้ำเสรี ฯลฯ ยึดมั่น “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (code of conduct for the South China Sea หรือ COC) ของอาเซียน

ย้ำความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพ สันติภาพ การอยู่ดีมีสุข การพัฒนาอย่างยั่งยืนของ “อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” (ความร่วมมือของ 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า สปป.ลาว กัมพูชา จีน และเวียดนาม) เปิดรับความร่วมมือ Mekong-U.S. Partnership และอื่นๆ ในทางนี้ที่สหรัฐเกี่ยวข้องด้วย เช่น Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS)

วิเคราะห์: จะเห็นว่าเมื่อลงลึกสู่ประเด็นความมั่นคงต่างๆ เวียดนามกับสหรัฐตกลงใช้แนวทางและกลไกอาเซียนมากมาย

ข้อตกลง ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน’ ระหว่างเวียดนาม-สหรัฐจึงส่งเสริมและอยู่ภายใต้กรอบอาเซียนอย่างชัดเจน ไม่อาจตีความว่ากระทบความมั่นคงอาเซียน ควรตีความด้วยซ้ำว่าเวียดนามตอกย้ำบทบาทอาเซียน และหากตีความให้ไกลออกไปอีก ไม่น่าจะทำให้จีนกังวลเกินไปว่าเวียดนามเอนเอียงเข้าหาสหรัฐ

ต่อประเด็นเมียนมา เวียดนามกับสหรัฐย้ำความสำคัญและจะยึดมั่นจุดยืนฉันทามติ 5 ข้อของที่ประชุมผู้นำอาเซียน (Five-Point Consensus) ซึ่งเพิ่งทบทวนใหม่ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อกันยายน 2023 ขอให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เข้าสู่การหารืออย่างสร้างสรรค์

นับจากมีความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติเมื่อปี 1995 ความสัมพันธ์ของทั้งสองดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่างได้รับประโยชน์มหาศาล ข้อตกลง ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน’ ฉบับล่าสุดยกระดับความร่วมมือให้สูงขึ้นอีกและกำลังไปในทิศทางที่ดีขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า