
มีประเด็นถกเถียงกันเรื่องการเชิญวิทยากรไปบรรยายให้นักศึกษาสถาบัน ที่ชื่อของสถาบันเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ แต่พฤติกรรม ทัศนคติ และอุดมการณ์ทางการเมืองของคนที่ได้รับเชิญเป็นวิทยากรเป็นเช่นไรนั้น ชัดยิ่งกว่าชัด จนทำให้คนจำนวนมากมองเห็นว่าสถาบันไม่น่าเชิญให้เขาเป็นผู้บรรยายในประเด็นเรื่องการจัดการสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องการกระจายการบริหาร และการกระจายทรัพยากร
ที่คนเข้าท้วงติงก็เพราะว่าเขามองว่าผู้บริหารสถาบันน่าจะมีทางเลือกในการกำหนดผู้บรรยายในเรื่องนี้ โดยเป็นบุคคลที่รู้เรื่องที่ต้องบรรยาย และไม่เป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างที่ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็นเรื่อง
Controversial หมายความว่า มีทั้งคนเห็นด้วย และคนไม่เห็นด้วย นอกจากนั้นแล้วคนที่ทางสถาบันเชิญไปบรรยายนั้น อาจจะเป็นคนที่มีภาพลักษณ์ต้องการทำการเมืองแบบใหม่
แต่หลายคนก็ตั้งคำถามว่า แล้วเขาได้ทำงานอะไรที่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายการบริหาร และการกระจายทรัพยากร จะบอกว่าเป็นนักวิชาการด้านนี้ก็ไม่ใช่ จะบอกว่ามีผลงานทางด้านนี้ก็ไม่เห็น แต่ที่แน่ๆ เขามีประเด็นที่ทำให้หลายคนมองว่าเขาไม่เหมาะสมที่จะเป็นวิทยากรในหัวข้อดังกล่าว ณ สถาบันดังกล่าว
เขาเป็นผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 พฤติกรรมของเขาหลายปีที่ผ่านมาแสดงความเป็นปรปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์มาตลอด ในขณะที่สถาบันแห่งนี้ใช้พระนามของพระมหากษัตริย์เป็นชื่อของสถาบัน ถ้าจะเรียนรู้การเมืองใหม่ไม่จำเป็นต้องใช้คนที่โดนคดีอาญา 112 ทั้งนี้เราเชื่อว่าในประเทศไทยยังมีคนที่สามารถบรรยายหัวข้อนี้ได้เป็นอย่างดีตั้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการที่จบและสอนด้านนี้ในคณะรัฐศาสตร์ของหลายๆ มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่เคยทำหน้าที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจบริหารและการกระจายทรัพยากรที่มีผลงานเชิงประจักษ์อยู่หลายคน ทั้งนักการเมือง และข้าราชการประจำ
จากการวิเคราะห์พฤติกรรมของพวกเขาที่แสดงออกหลายๆ ครั้ง หลายๆ กรณี ทำให้หลายคนเป็นห่วงว่าสิ่งที่เขาจะพูดให้นักศึกษาฟังนั้น จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องแค่ไหน จะเป็นไปตามหลักวิชาการ และการประยุกต์ใช้วิชาการนั้นด้วยปัญญาหรือไม่ หรือว่าจะเป็นการบรรยายที่ใส่ทัศนคติและจุดยืนทางการเมืองของเขาให้นักศึกษาฟังแบบไม่ครบมิติ แต่ให้สอดคล้องกับความต้องการทางการเมืองของผู้บรรยาย จริงๆ แล้ว นอกเหนือจากความเป็นจริงที่ว่าสถาบันน่าจะมีทางเลือกในการเชิญผู้บรรยายแล้ว ยังมีวิธีการอื่นที่จะทำให้นักศึกษาเรียนรู้เรื่องดังกล่าวได้
นักศึกษาส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร มีทั้งความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถในการวิเคราะห์ ทางสถาบันสามารถหาผู้บรรยายมาทำหน้าที่เป็นผู้นำการสัมมนาหัวข้อนี้ หลังจากบรรยายแล้วก็ให้นักศึกษาไปค้นคว้าหาเรื่องราวดังกล่าวบนพื้นที่ Social Media ที่มีความคิดเห็นของผู้คนที่หลากหลาย รวมทั้งของคนที่ทางสถาบันเชิญไปบรรยายด้วยก็ได้ แล้วให้นักศึกษานำเอาเรื่องราวที่ค้นคว้าหามาได้ ใช้เป็นข้อมูลในถกอภิปรายเชิงวิเคราะห์ แต่ละคนผ่านประสบการณ์มามากมายย่อมทำได้ และน่าจะทำได้ดี มีประโยชน์มากกว่าการฟังบรรยายจากคนคนเดียวที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองสมัยใหม่อย่างไร การอ้างว่าการเชิญเขามาบรรยายนั้น ต้องการให้นักศึกษาได้รับรู้การคิดต่าง เพราะการแสดงออกของเขานั้น ไม่อาจจะเรียกว่าคิดต่าง แต่เรียกว่าคิดอย่างไร ก็นิยามกันเอาเองเถิด แต่ที่แน่ๆ ความคิดของเขานั้น หลายประเด็นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสถาบันหลักของประเทศ
ราชกิจจาฯ ประกาศชัดเจนว่า วิทยากรของสถาบันแห่งนี้ต้องเป็นคนที่ไม่มีปัญหาด้านจริยธรรม ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าการที่ผู้คนจำนวนหนึ่ง (และน่าจะเป็นจำนวนมากด้วย) ไม่อยากให้เขาไปบรรยายที่สถาบัน พวกเขาไม่ได้ใช้อารมณ์ในการประเมิน แต่ใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นเหตุผลในการแสดงจุดยืน ดังนั้นไม่ควรจะพูดว่า "ให้ใจร่มๆ" เพราะมันเป็นการกล่าวหาว่าเป็นการใช้อารมณ์ ในความเป็นจริง คนที่ตัดสินไปแล้วว่าคนที่ได้รับเชิญไม่มีความเหมาะสมนั้น พวกเขาไม่ได้มีอคติหรือใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุผลเชิงประจักษ์ว่าคนที่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายนั้นต้องคดี 112 ที่ถูกยื่นฟ้องแล้ว และมีพฤติกรรมเชิงประจักษ์ที่ไม่เหมาะสมมากมาย
ฟังการให้สัมภาษณ์ตัวแทนซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงแล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้สึกรำคาญใจพอควร ในลีลาการสื่อสารของผู้บริหารที่ควรมีวุฒิภาวะในการแสดงออกมากกว่าที่ได้ยิน ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมท่านจึงคิดว่าคนที่กำลังสอบถามท่านใช้อารมณ์ ด้วยการบอกให้ผู้สัมภาษณ์ทำใจร่มๆ สำนวน “ใจร่มๆ” สื่อความหมายว่าผู้ให้สัมภาษณ์กำลังใช้อารมณ์ ไม่ได้ใช้เหตุผล คนที่ได้ฟังการสัมภาษณ์ในคืนนั้น น่าจะพออนุมานได้ว่าใครคือคนที่ใช้อารมณ์มากกว่ากัน จะเป็นผู้สัมภาษณ์หรือผู้ถูกสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ถามได้ตรงใจประชาชนส่วนใหญ่ที่มีความสงสัยว่าทำไมสถาบันจึงเลือกที่จะเชิญบุคคลดังกล่าวไปบรรยายเรื่องดังกล่าว แต่ละคำถามเป็นการแสวงหาคำอธิบายว่าทำไมจึงเลือกที่จะเชิญบุคคลดังกล่าว
- เขามีความชำนาญในเรื่องที่พูดในฐานะนักวิชาการที่สอนหรือทำวิจัยด้านนี้?
- เขามีผลงานเชิงประจักษ์ในเรื่องที่เขามาบรรยายมากน้อยแค่ไหน?
- เขามีประสบการณ์ที่ได้ทำงานในเรื่องที่เขามาบรรยายจนเกิดผลสำเร็จเป็นตำนานหรือเปล่า?
- เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นคนเก่งในเรื่องดังกล่าวในวงกว้าง เป็นข่าวให้ได้ยินมาตลอด?
- เขาเขียนตำราเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจนเป็นที่นิยม ใช้อ้างอิงทางวิชาการอย่างหลากหลาย?
ถ้าเขาคนนั้นไม่ได้มีคุณสมบัติอย่างที่ว่า ก็ไม่น่าจะเชิญเขามาให้เกิดประเด็นปัญหา เพราะว่าในการหาคนมาบรรยายเรื่องดังกล่าว ถ้าผู้จัดใช้ความพยายาม และใช้ความคิดไตร่ตรองให้ถ้วนถี่กว่านี้ เราเชื่อว่าน่าจะมีตัวเลือกอีกมากมาย และน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ทั้งในแง่ของความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และเรื่องของการเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วน หรือไม่ขัดกับข้อความที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสถาบันดังกล่าว การไปกล่าวหาโดยนัยๆ ว่าคนสัมภาษณ์ใช้อารมณ์นั้น อาจจะทำให้คนตีความว่าที่พูดเช่นนั้นเพราะหาคำตอบที่ดีพอไม่ได้ เช่น คำถามที่ว่าใครเป็นคนมีดำริที่จะเชิญผู้บรรยายคนดังกล่าว หรือทำไมถึงเชิญ และในคราวหน้าจะมีการเชิญแบบนี้อีกไหม คำตอบที่เราได้ยินนั้น ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นกับการตัดสินใจเลือกวิทยากรคนดังกล่าวเป็นผู้บรรยาย และเราก็ยังมองเห็นว่าหัวข้อดังกล่าวนั้นทางสถาบันน่าจะมีตัวเลือก โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้บริการของคนที่มีความนิยมแยกเป็นสองกระแสที่เรียกว่า Controversial อย่างชัดเจนเช่นนี้ และถ้าจะขอถามดังๆ อีกสักข้อว่า ในการบรรยาย เขาไม่ได้พูดในเชิงหาเสียงให้กับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดเลย หรือเปล่า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ของจริง...ของแถม
ตอนนี้พรรคก้าวไกลกำลังเคลื่อนไหวหนักมากในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม บัดนี้ได้ยื่นร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาไปแล้ว เหตุผลในการผลักดันกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อสร้างความปรองดอง
แด่...คนปลูกต้นไม้ 'ดาบวิชัย สุริยุทธ'
โดยสีสัน บรรยากาศ ของบ้านเฮาช่วงนี้...อย่างน้อยคงพอช่วยให้การโหยหวน ครวญคราง เนื้อร้อง-บทเพลงรุ่นเก๋าๆ กึกๆ ของบรมครู อย่างปรมาจารย์นักประพันธ์เพลง คุณครู ล้วน ควันธรรม
ไม่มี 'ฮันนีมูน'
หากไม่มีเรื่อง "ตั๋วผู้กำกับ" ที่เผลอหลุดมาจากฟากฝ่ายการเมือง จนการแต่งตั้งตำรวจระดับ รองผู้บังคับการ (รองผบก.)-สารวัตร (สว.) วาระประจำปี 2566 ถูกจับตาเรื่องเส้นสาย ถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส
ไม่ Wow ดร.เสรี แหวะ Soft Power สาดน้ำทั้งเดือน
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์แนวคิด Soft Power เล่นสงกรานต์ทั้งเดือนว่า "ประกาศออกมา คงนึกว่าจะ
ดร.เสรี ฟาดโง่ระดับไหน เล่นสงกรานต์ทั้งเดือน
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า โง่ระดับไหน ถึงจะให้เล่นสงกรานต์ทั้งเดือน ไม่ต้องทำงานทำการกันเลยสินะ แบบนี้
'ดร.เสรี' ฟาดรัฐบาลเศรษฐา หาเงินไม่ได้ ใช้เงินเปลือง ทำเศรษฐกิจประเทศตกต่ำ
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ตอนลุงตู่อยู่เศรษฐกิจไม่ได้วิกฤต ไม่ได้ดำดิ่งลงเหว แต่เพื่อไ