ฮามาสผู้เสียสละกับจุดจบทวิรัฐ

เสียงไซเรนดังขึ้นตอนเช้าตรู่วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2023 ตรงกับงานเฉลิมฉลองของชาวยิว จุดเริ่มการสูญเสียครั้งใหญ่ของอิสราเอลในรอบหลายทศวรรษ ในเวลาไม่ถึงชั่วโมงจรวดหลายพันลูกยิงใส่อิสราเอล Iron Dome ที่ว่าดีเลิศไม่สามารถสกัดจรวดได้ทั้งหมด กองกำลังฮามาสนับร้อยฝ่าแนวกั้นเข้าสู่ตัวเมืองบ้านเรือนคนอิสราเอล ประชาชนหนีตายกันจ้าละหวั่น เสียงร้องไห้ของเด็กๆ ได้ยินกันทั่ว หลายคนโดนจับเป็นตัวประกัน ไม่มีที่ใดปลอดภัย เฉพาะวันแรกวันเดียวอิสราเอลตายหลายร้อย บาดเจ็บเป็นพัน สื่อทั่วโลกเสนอข่าวอันน่าตกตะลึง พวกฮามาสโห่ร้องความสำเร็จ

ภาพ: นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู
เครดิตภาพ: https://www.timesofisrael.com/knesset-okays-war-cabinet-pm-saturday-most-horrible-day-for-jews-since-holocaust/

ย้อนรอยการลุกฮือครั้งที่ 2:

การรบกับอิสราเอลครั้งนี้ กลุ่มฮามาส (Hamas) ใช้เหตุผลคล้ายกับการลุกฮือครั้งที่ 2 (Second Intifada) หรือการลุกฮือแห่งอัล-อักซอร์ (Al-Aqsa Intifada

การลุกฮือครั้งที่ 2 เริ่มต้น 28 กันยายน 2000 เมื่อเอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) หัวหน้าพรรคลีคูด (Likud) เดินทางไปที่เขตวิหารศักดิ์สิทธิ์ Temple Mount หรือ al-HARAM AL-SHARIF ที่ตั้งของมัสยิดอัล-อักซอร์ในเขตเมืองเก่าเยรูซาเล็ม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยราว 1,000 นาย และได้เดินรอบมัสยิดอัล-อักซอร์

การเดินรอบดังกล่าวถูกตีความว่าอิสราเอลต้องการยึดครองปาเลสไตน์ อีกทั้งเป็นพฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ทางศาสนาด้วยเนื่องจากเป็นมัสยิดที่มุสลิมถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดลำดับที่ 3

การปะทะรุนแรงด้วยอาวุธสงคราม อิสราเอลส่งทหารรุกเข้าไปในเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ปิดล้อมบ้านพักของยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) ประธานองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO ปัจจุบันคือ PA) ที่เมืองรามัลเลาะห์ เท่ากับว่าเป็นการปิดล้อมไม่ให้นายอาราฟัตหนี จนกระทั่งถูกวางยาพิษด้วยพอโลเนียม-210 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ในครั้งนั้นอิสราเอลได้โอกาสส่งทหารเข้าเขตเวสต์แบงก์ยึดครองพื้นที่ต่างๆ ทำลายอาคารและโครงสร้างฝ่ายความมั่นคงของพวกอาราฟัตทั้งหมด

การลุกฮือครั้งที่ 2 เริ่มต้นตุลาคม 2000 สิ้นสุดในปี 2004 มีข้อมูลว่าชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตทั้งสิ้น 3,040 คน เป็นเด็กว่า 500 คน บ้านเรือนกว่า 2,700 หลังถูกทำลาย ส่วนอิสราเอลเสียชีวิตทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน สิ่งที่ตามมาคือชาวอิสราเอลใช้ชีวิตอย่างหวาดผวา ต้องระแวดระวังภัยตลอดเวลา รัฐบาลแก้ไขด้วยสร้างกำแพงเป็นรั้วตลอดพรมแดน ด้านเศรษฐกิจอิสราเอลเสียหายหนัก ต้องกู้เงินจากสหรัฐจำนวนมาก

เทียบกับการลุกฮือครั้งที่ 2 ครั้งนี้ผู้ก่อการใหญ่คือฮามาส ฝ่ายฮามาสกล่าวว่าพวกตนพร้อมรับทุกสถานการณ์ รวมทั้งสงครามเบ็ดเสร็จ เราพร้อมทุกอย่างเพื่ออนาคตและเสรีภาพของเรา ด้านเนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอลกล่าวว่า ฮามาสต้องรับผิดชอบ จะตามทำลายให้สิ้นซาก

ชิงลงมือก่อนกวาดล้างให้สิ้น:

ในมุมมองอิสราเอลจะไม่ปล่อยให้กลุ่มฮามาสลงมืออีก ไม่ยอมให้คนอิสราเอลเสียชีวิตเพราะฮามาสเป็นฝ่ายกระทำ แนวทางที่เป็นไปได้คือต้องปราบปรามให้สิ้นซาก ซึ่งในทางปฏิบัติได้แค่บั่นทอนไปเรื่อยๆ หวังว่าการทำเช่นนี้ฮามาสจะไม่ฟื้นตัว มีแต่จะอ่อนแรงและอาจสลายไปในที่สุด

การปราบปรามบั่นทอนเช่นว่าอาจอธิบายด้วยหลักชิงลงมือก่อน (preemption) คือจะโจมตีเล่นงานก่อน ไม่รอให้ถูกโจมตี ด้วยความเชื่อที่ว่าตนมีสิทธิและความชอบธรรมที่จะชิงโจมตีประเทศใดๆ ที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อตนเอง การชิงลงมือก่อนเป็นการป้องกันตนเองรูปแบบหนึ่ง

นับจากนี้รัฐบาลอิสราเอลสามารถใช้เหตุฮามาสโจมตีอิสราเอลครั้งนี้เป็นความชอบธรรม บั่นทอนทำลายฮามาสไปอีกนานหลายปี ดังที่นายกฯ เนทันยาฮูกล่าวว่าจะลงมือต่อทุกจุด และด้วยกำลังทุกอย่าง รัฐบาลจะทำทุกอย่างให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก

ปิดล้อม-ไล่ล่าไม่สิ้นสุด:

ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลเนทันยาฮูใช้กลศึกปิดล้อมเมือง ควบคุมทางเข้าออกทุกทาง ทั้งทางบกทางเรือทางอากาศ ควบคุมการติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ตัดเสบียงน้ำกับอาหารให้มีแค่พอกินพอใช้สำหรับแต่ละวัน นำความทุกข์ยากแก่ชาวกาซาทุกคน

การควบคุมในภาพกว้างคือควบคุมเศรษฐกิจสังคมไม่ให้เติบโต แค่มีชีวิตอยู่รอดเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่าฉนวนกาซาคือคุกขนาด 365 ตร.กม. ควบคุมประชากร 2.3 ล้านคน (ข้อมูล 2023-กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ 1,568 ตร.กม. ใหญ่กว่ากาซาราว 5 เท่า)

คำอธิบายอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ การชี้ว่าปาเลสไตน์คืออาณานิคมอิสราเอล ในความหมายรัฐบาลอิสราเอลเป็นผู้ควบคุม เมืองกาซาเป็นอาณานิคมที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด พร้อมสังหาร ทำลายสิ่งที่บ่งบอกว่าอาจคุกคามอิสราเอล

แต่ไหนแต่ไรหลายคนพูดเรื่องการควบคุมเมืองทำให้ชาวปาเลสไตน์ต้องทนทุกข์ แต่สำหรับคนอิสราเอลบางส่วนเห็นว่ายังทำ “น้อยเกินไป” ปล่อยปละละเลยให้ปาเลสไตน์ทำตามอำเภอใจ บางคนเห็นว่าต้องให้ฝ่ายอิสราเอลเท่านั้นที่มีอำนาจควบคุมปาเลสไตน์ทั้งมวลจึงจะไม่ลักลั่น ไม่สองมาตรฐาน ทุกอย่างอยู่ภายใต้ระบบเดียว ไม่เปิดช่องให้ผู้ก่อการร้ายลงมือต้นเหตุความไม่สงบในพื้นที่ การที่ฮามาสสามารถเปิดศึกครั้งนี้เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าที่ผ่านมายังควบคุมน้อยเกินไป ที่ผ่านมาคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ ต้องเข้มงวดกว่านี้ ในครั้งนี้ที่กลุ่มฮามาสสามารถรุกเข้ามา คนอิสราเอลล้มตายจำนวนมาก หลายคนเห็นว่านายกฯ เนทันยาฮูควรรับผิดชอบด้วยการลาออก

รัฐบาลอิสราเอลน่าจะเข้าควบคุมอีกนานแสนนานจนกว่าจะพอใจ

ถ้ายึดแนวทางที่สหรัฐใช้ไล่ล่าอัลกออิดะห์ กองทัพอิสราเอลจะใช้หน่วยรบพิเศษ ใช้เครื่องโดรนโจมตีสังหารทุกคนที่น่าสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ไม่ว่าเป้าโจมตีอยู่ที่ประเทศใด ใช้โดรนโจมตีขณะเดินทาง ขณะนอน หรือในงานต่างๆ แม้ในงานแต่งงาน งานศพ ซึ่งในช่วงที่สหรัฐทำนั้นมีหลายกรณีที่เสียชีวิตพร้อมกันจำนวนมาก ที่น่าเศร้าคือบางกรณีเป็นความเข้าใจผิด รวมความว่าผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตมากมายจากการปราบปราม

อิสราเอลอาจทำเช่นนี้กับฮามาส คือไล่ล่าไม่สิ้นสุด ไม่ใช่แค่การกวาดล้างเมืองกาซา ไม่ว่าพวกฮามาสอยู่ที่ใดเวลาใดในโลก จนกว่ารัฐบาลอิสราเอลจะพอใจ แต่เป็นไปได้เช่นกันว่าอิสราเอลอาจไล่ล่าเพียงไม่นานแล้วยุติ สงครามครั้งนี้เป็นอีกครั้งของหลายครั้งที่ผ่านมา ต่างฝ่ายต่างบรรลุวาระของตน

จุดจบทวิรัฐ:

ถ้ามองเหนือเหตุการรบรายวัน จรวดบินว่อนเต็มท้องฟ้า กองกำลังฮามาส รถถังอิสราเอล จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตาย หนึ่งในประเด็นอันเป็นหัวใจความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์คือแนวทางทวิรัฐ (Two-State Solution) ที่น่าจะถึงจุดจบแล้ว รัฐบาลอิสราเอลสามารถใช้เหตุการณ์นี้ประกาศเลิกแนวทางทวิรัฐอย่างเด็ดขาด หรือไม่ประกาศแต่ดำเนินตามแนวทางนี้ ทุกวันนี้รัฐบาลเนทันยาฮูไม่แสดงท่าทีชัดเจนต่อแนวทางนี้อยู่แล้ว พวกไซออนิสต์ไม่อยากให้เกิดแน่นอน ต้องการให้มีแต่รัฐอิสราเอลเท่านั้น เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของประเทศอิสราเอลเพียงหนึ่งเดียว

สงครามกับฮามาสคือการทำลายเมืองกาซา เข้าควบคุมถาวร (อาจไม่พูดเช่นนี้ตรงๆ แต่ควบคุมไม่สิ้นสุด) เหลือเพียงเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ที่โดนรุกล้ำพื้นที่ทุกปี เลื่อนเจรจาสันติภาพ เลื่อนการสร้างทวิรัฐ (เลื่อนไปเรื่อยๆ เท่ากับมีประเทศอิสราเอลเพียงหนึ่งเดียว)

ทุกวันนี้นักวิชาการบางท่านเห็นว่าข้อตกลงสันติภาพออสโล (Oslo Peace Accords) มาถึงทางตันแล้ว ควรเจรจาทำข้อตกลงใหม่ (ข้อตกลงสันติภาพออสโลชูแนวทางทวิรัฐ อิสราเอลต้องทยอยมอบอำนาจการดูแลพื้นที่คืนแก่ PLO (ปัจจุบันคือ PA) ท้ายที่สุดจะเกิดรัฐปาเลสไตน์ มีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง) มาบัดนี้รัฐบาลอิสราเอลสามารถอ้างว่าต้องควบคุมกาซาด้วยตัวเอง เพื่อความสงบสุขของทั้งอิสราเอลกับกาซา รวมทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง

บางทีอิสราเอลควรขอบคุณฮามาสกับผู้สนับสนุนฮามาสที่ช่วยเปิดศึกครั้งนี้ ถ้าคิดให้ลึกอาจพบคำตอบว่าหลายฝ่ายได้ประโยชน์บนความสูญเสียของทั้งอิสราเอล ฮามาส และประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะพวกฮามาส บางคนอาจคิดว่านี่คือทางออกที่ดีที่สุด สงครามคือสิ่งที่ “ถูกสร้างขึ้นมา”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า