‘หากจะปกป้องสันติภาพ ก็จงเตรียมพร้อมทำสงคราม’!

เรากำลังก้าวเข้าสู่ “ยุคก่อนสงครามใหญ่จะระเบิด” หรือที่นายกฯ โปแลนด์เรียกว่า “Pre-war  Era” แล้วจริงหรือ?

ฟังดูเหมือนเริ่มมีความกริ่งเกรงว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เอามาพูดเพื่อขู่กันเล่นๆ เท่านั้น

คำว่า Pre-war น่ากลัวกว่า Post-war เพราะคำหลังหมายความว่าสงครามสิ้นสุดลงแล้ว เป็นยุคหลังสงครามที่ต้องมีการฟื้นฟูสร้างบ้านสร้างเมืองกันใหม่

แต่ Pre-war หมายถึงภาวะ “ก่อนสงครามจะเกิด” ซึ่งอาจจะมีสัญญาณในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้แม่นยำ

เพราะจะย้อนไปดูประวัติศาสตร์ว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์นำร่องเหมือนกันเสียทีเดียว

อะไรจะเป็นเหตุการณ์ที่จะชี้ชัดว่าจะนำไปสู่สงครามใหญ่จริงๆ ก็ไม่มีใครรู้

เพราะคำว่า Pre-war นั้นเอาเข้าจริงๆ ก็จะใช้ได้เมื่อเกิดสงครามแล้วเท่านั้นจึงจะระบุได้ว่าช่วงไหนคือ “ก่อนสงคราม”

เพราะถ้ามีสัญญาณ แต่ไม่มีสงคราม ก็ไม่เรียก Pre-war

แต่ถ้าจับสัญญาณไม่ได้ แล้วสงครามระเบิดขึ้น ก็จะใช้คำว่า Pre-war หลังจากสงครามเกิดตูมตามแล้วเท่านั้น

คำเตือนนี้มาจากนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ โดนัลด์ ทัสค์ ที่แถลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า

ภัยแห่งสงครามในยุโรปนั้นไม่ใช่เรื่องล้อเล่นหรือเป็นเพียงจินตนาการกันอีกต่อไป

แกบอกว่าภัยสงครามครั้งใหม่เป็นเรื่องที่เกิดได้จริงๆ

เพราะมีสัญญาณชี้ไปทางนั้นอย่างชัดแจ้งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 “สงครามไม่ใช่แนวคิดจากอดีตอีกต่อไป มันเป็นเรื่องจริง และมันเริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในขณะนี้คือ ทุกสถานการณ์เป็นไปได้ เราไม่ได้เห็นสถานการณ์เช่นนี้มาตั้งแต่ปี 1945 ทัสค์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับกลุ่มสื่อยุโรป LENA เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2488 ด้วยการยอมจำนนของเยอรมนีของฮิตเลอร์ และการทิ้งระเบิดของสหรัฐ ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ 

 “ฉันรู้ว่ามันฟังดูเลวร้าย โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่เราต้องคุ้นเคยกับความจริงที่ว่ายุคใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว นั่นคือยุคก่อนสงคราม ผมไม่ได้พูดเกินจริง มันชัดเจนขึ้นทุกวัน”

ความเห็นของอดีตประธานสภายุโรปคนนี้แสดงออกอย่างเปิดเผยไม่นานหลังจากวันครบรอบ 2 ปีของการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซีย

สงครามนี้เขย่ายุคแห่งสันติภาพในยุโรป และผลักดันประเทศต่างๆ ให้เร่งผลิตอาวุธอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทัสก์ย้ำอีกว่าไม่มีใครในยุโรปจะรู้สึกปลอดภัยหากเคียฟแพ้สงคราม

นายกรัฐมนตรีโปแลนด์กำลังต้องการกระตุ้นให้ยุโรปได้ลุกขึ้นมาตระหนักถึงภัยสงครามที่มองข้ามไม่ได้

เพราะแกกลัวว่าไม่มีใครตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการป้องกันร่วมกันอีกต่อไป

 “สหภาพยุโรปโดยรวมในฐานะองค์กรที่ทรงอำนาจ จะต้องเตรียมพร้อมทางจิตใจในการต่อสู้เพื่อความปลอดภัยของพรมแดนและดินแดนของเรา” แกย้ำ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความห่วงกังวลของผู้นำยุโรปเริ่มจะชัดมากขึ้นก็คงหนีไม่พ้นความหวาดหวั่นว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้แสดงจุดยืนที่ไม่ปลื้ม NATO เท่าใดนัก

แต่ผู้นำโปแลนด์บอกว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ “งานของเราคือการรักษาความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก”

มองทรัมป์ก็ต้องหันไปฟังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่เพิ่งยืนยันว่ามอสโกไม่มี “เจตนาก้าวร้าว” ต่อกลุ่มนาโต

ปูตินบอกว่าใครที่คิดว่ารัสเซียซึ่งมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจะโจมตีโปแลนด์ รัฐบอลติก และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเป็นสมาชิกของพันธมิตรนาโตนั้นเป็นเรื่อง “ไร้สาระโดยสิ้นเชิง”

แต่ก็เตือนว่าหากยูเครนใช้เครื่องบินรบ F-16 ของตะวันตกจากสนามบินในประเทศอื่นๆ ก็จะกลายเป็น "เป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าพวกมันจะอยู่ที่ใดก็ตาม"

นั่นแปลว่าปูตินทั้งขู่และปลอบตะวันตกพร้อมๆ กัน ด้านหนึ่งเขาบอกว่ายังไงก็ไม่โจมตีสมาชิกนาโต

แต่อีกด้านหนึ่งก็ขู่ว่าถ้าตะวันตกส่ง F-16 ให้ยูเครนก็พร้อมจะยิงสอยลงมาจากท้องฟ้าเหมือนกัน

นายกฯ โปแลนด์บอกว่าตอนนี้โปแลนด์จัดสรรงบประมาณด้านทหารเท่ากับ 4% ของ GDP และเรียกร้องให้ประเทศอื่นในสหภาพยุโรปบรรลุเป้าหมาย 2% ในเรื่องนี้ด้วย

แกยอมรับว่าการพูดถึงสงครามอย่างเปิดเผยเช่นนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ช่วยภาพลักษณ์ของเขา

 “ผมรู้ว่ามันฟังดูเลวร้าย โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่เราต้องทำความคุ้นเคยกับการมาถึงของยุคใหม่ ยุคก่อนสงคราม”

ตอนที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีโปแลนด์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2557 ทัสค์บอกว่าผู้นำยุโรปคนอื่นๆ เพียงไม่กี่รายนอกเหนือจากโปแลนด์และรัฐบอลติกตระหนักว่ารัสเซียอาจเป็นภัยคุกคามได้

วันนี้นายกฯ โปแลนด์กับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กลายเป็นผู้ถือธงนำหน้าเรียกร้องให้ประเทศยุโรปเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม

ด้วยคำขวัญยุคสงครามว่า

“หากต้องการรักษาสันติภาพก็จงเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม”!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป