ถ้าเราจะเป็น ‘ฮับโน่นฮับนี่’ เราต้องทำการบ้านอะไรบ้าง?

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศจะให้ไทยเป็น “ฮับ” ด้านต่างๆ รวมถึงด้านเทคโนโลยี เช่น  semi-conductors ทำให้เราต้องถามว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราที่เขาก็กำลังเดินแนวทางเดียวกันนี้กำลังทำอะไรอยู่

ล่าสุด ข่าวจากปีนังของมาเลเซียทำให้เราต้องลุกขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียดรอบด้าน เพราะใครก็ประกาศเป็น “ฮับ” ได้ แต่ใครจะทำสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จะมีความฝันและความทะเยอทะยานเพียงใด ถ้าไม่สามารถนำไปสู่การทำให้เกิดขึ้นจริงได้ก็เป็นเพียงคำมั่นสัญญาที่ต้องการจะสร้างภาพให้สวยงามเท่านั้น

ข่าวบอกว่ามีบริษัทต่างชาติที่สนใจจะมาลงทุนสร้าง “ชิป” ในไทยเป็นเจ้าแรกแล้ว เราก็กำลังรอคำยืนยันและรายละเอียดจากทางการอยู่

แต่เมื่อไม่กี่วันก่อนมีคำประกาศจากมาเลเซียว่า บริษัท Advantech ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อุตสาหกรรมของไต้หวันกำลังเพิ่มการลงทุนในด้านการผลิตและการปฏิบัติการอื่นๆ ในมาเลเซีย

และประกาศว่าจะสร้างให้เป็น “ศูนย์กลางระดับภูมิภาค” ในการให้บริการลูกค้าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทางบริษัทนี้จะนำไปเปิดศูนย์แบบเดียวกันนี้ในเม็กซิโกและตุรกีด้วย

หากตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้จะพบว่าคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์ Internet of Things ของ Advantech ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงระบบรถไฟความเร็วสูง

พอเกิดวิกฤตระหว่างประเทศ เพิ่มความตึงเครียดทางการเมืองไปทั่ว ทำให้เกิดปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทไต้หวันแห่งนี้ก็เริ่มยุทธศาสตร์ขยายกิจกรรมไปหลายๆ ประเทศ

เป็นแผนการที่จะขยายขอบเขตการผลิตไปทั่วโลก และเพิ่มการลงทุนทั้งในด้านการเงินและทรัพยากรบุคคล

เพื่อสร้างให้ตนกลายเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคเพื่อตอบสนองต่อลูกค้าที่ก็ต้องการจะกระจายธุรกิจและความเสี่ยงของตนเองเหมือนกัน

เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้เปิด “ศูนย์บริการร่วมแห่งใหม่” รวมไปถึงการเพิ่มสายการผลิตผ่านพันธมิตรการผลิตตามสัญญาในปีนังของมาเลเซีย

ใครไปปีนังช่วงหลังจะเห็นว่าเขากำลังจะยกระดับตัวเองให้เป็น Silicon Valley ของมาเลเซียอย่างคึกคัก นอกเหนือจากจะเป็นเกาะสำหรับนักท่องเที่ยวและเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับสากลด้วย

บริษัทไต้หวันแห่งนี้ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในมาเลเซียเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถด้านวิศวกรรมชั้นสูงมาตั้งรับกับการขยายงานของตนด้วย

ผู้บริหารของ Advantech เปิดตัวเองอย่างร้อนแรงในมาเลเซีย

"เรากำลังทุ่มเทความพยายามอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราทุ่มทุนเพื่อสร้างศูนย์บริการร่วมแห่งใหม่ของอาเซียนในปีนัง ... นี่คือกลยุทธ์สำคัญของเรา - ในการเลือกสถานที่อย่างรอบคอบและแผ่ขยายการเข้าถึงของเราไปยังทั่วภูมิภาค”  Vincent Chang กรรมการผู้จัดการของ Advantech ประจำภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคข้ามทวีปกล่าวกับ Nikkei Asia

"เราจะจำลองกลยุทธ์นี้ในเม็กซิโกและตุรกีในภายหลัง ดังนั้นโมเดลนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงต้องประสบความสำเร็จ”

น่าสนใจว่าบริษัทระดับสากลอย่างนี้ เวลาที่เขาวางแผน เขามองทั้งโลกเป็นแหล่งผลิตและตลาดไปพร้อมๆ กัน

เขาแบ่งตลาดเกิดใหม่ออกเป็น 4 ภูมิภาคกว้างๆ ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก อินเดีย ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา

ยอดขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 200% ในช่วงหกหรือเจ็ดปีที่ผ่านมา เพราะความต้องการจากบริษัทต่างๆ ที่ต้องการจะลดความเสี่ยงด้วยการกระจายห่วงโซ่อุปทานของตน เพราะไม่ต้องการจะถูกเหตุการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์มากระทบต่ออนาคตของธุรกิจของตน

เขามองถึงพลวัตของตลาดที่มีส่วนเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ  และจีน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน 'China+1'”

นั่นหมายความว่านโยบายของต่างชาติที่ไปลงทุนในจีนจะต้องคิดหาอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่จะกระจายความเสี่ยง และเป็น “หลุมหลบภัย” ในกรณีเกิดความขัดแย้งรุนแรงด้วย

เขาเลือกปีนังเพราะเคยเป็น 'ซิลิคอนแวลลีย์แห่งตะวันออก' ที่ต้องการจะฟื้นคืนบทบาทนี้อย่างคึกคัก

อีกทั้งยังมีห่วงโซ่อุปทาน หรือ suppliers ที่มีเทคโนโลยีสูงจำนวนมากรวมตัวกันที่นั่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เขามองว่าศูนย์บริการร่วมแห่งนี้จะตอบสนองความต้องการจากตลาดอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย

เขาเลือกปีนังด้วยเหตุผลอันใด?

ผู้บริหารของ Advantech ยอมรับว่ามาเลเซียไม่ใช่ตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่วัฒนธรรมและภาษาที่หลากหลาย รวมถึงบุคลากรคุณภาพสูงจะเป็นประโยชน์ต่อกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท

อีกทั้งยังสามารถจับมือกับซัพพลายเออร์ในท้องถิ่นเพื่อจ้างบุคคลภายนอกในการผลิตในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นหมายถึงความคล่องตัวในแง่ของคุณภาพของคนและเครือข่ายของ suppliers ที่มีประสิทธิภาพสูง

เขาตั้งเป้าที่จะขยายทีมวิศวกรในอาเซียน และในระยะยาวจะพัฒนากลุ่มผู้มีความสามารถระดับภูมิภาคที่ธุรกิจต่างๆ ของบริษัทสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

เขาจะสร้างคนอย่างไร?

หนึ่งในกลยุทธ์คือการทำบันทึกความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์มาเลเซีย เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการ "ปัญญาประดิษฐ์ของสรรพสิ่ง" ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในประเทศไทย เพื่อปลูกฝังผู้มีความสามารถในอุตสาหกรรม Internet of Things

เรามีสถาบันชั้นสูงในเรื่องเหล่านี้ที่ต่างชาติมองเห็นความสำคัญแล้ว อยู่ที่เราจะใช้ศักยภาพของเราเองให้เต็มที่กว่าที่ผ่านมาอย่างไรเท่านั้น

เขามีหลักคิดที่ว่า หากจะสำเร็จในระยะกลางและระยะยาวต้องสร้างบุคลากรที่เก่งขึ้นมาตลอดเวลา

การสร้าง “ทุนมนุษย์” หรือ human capital ต้องไม่มองว่าเป็น “ค่าใช้จ่าย” หากแต่เป็นการ “ลงทุน” เพื่ออนาคตและความยั่งยืน

ส่วนหนึ่งของแผนงานคือการเปิดกว้างให้นักศึกษาของสถาบั้นชั้นสูงของมาเลเซียมาเป็นนักศึกษาฝึกงานและวิศวกรของบริษัทได้ในอนาคตอันใกล้นี้

นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ของการรุกคืบของบริษัทในภูมิภาคที่มองเห็นอาเซียนเป็นโอกาสใหม่

ขณะที่เราพยายามจะสร้างตัวเองเป็น “ฮับ”  โน่น “ฮับ” นี่ สิ่งสำคัญคือต้องตอบคำถามเรื่อง supply chain และ human capital

สองเรื่องที่ผมยังมองไม่เห็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของรัฐบาลนี้ ขณะที่คนอื่นเขากระโดดเข้ามาใกล้บ้านเราพร้อมกับ “ปัจจัยที่ขาดไม่ได้” ค่อนข้างจะล้ำหน้ากว่าเราไปแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น