รัสเซียบุกยูเครนเป็นแรง จูงใจให้ปักกิ่งยึดไต้หวันไหม?

ถ้ารัสเซียยึดยูเครน, จีนจะบุกไต้หวันหรือไม่?

เป็นโจทย์ที่นักการทูตและนักการทหารของหลายประเทศตั้งเป็นประเด็นถกแถลงกันอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียส่งทหารบุกยูเครนกว่าสองปีมาแล้ว

วันนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ชัดเจน

ผู้นำไต้หวันใช้กรณีรัสเซียกับยูเครนเป็นข้อเรียกร้องให้ทั้งโลกจับตาปักกิ่ง

แต่ผู้นำจีนยืนยันว่ายูเครนกับไต้หวันเป็น “คนละเรื่อง” เพราะจีนย้ำว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

แต่ยูเครนเป็นรัฐของตัวเอง มิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

แม้ว่าถ้าฟังปูตินแถลงบ่อยๆ จะได้ความเข้าใจว่า รัสเซียอ้างประวัติศาสตร์ว่ายูเครนก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของมหาอำนาจรัสเซียเหมือนกัน

นักยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมของสหรัฐฯ เคยเตือนว่า จีนอาจใช้การเบี่ยงเบนความสนใจจากสงครามในยูเครนเพื่อเริ่มปฏิบัติการทางทหารต่อไต้หวัน

มะกันมักจะอ้างว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนมุ่งมั่นที่จะเข้าควบคุมเกาะไต้หวันมาตลอด จึงประมาทไม่ได้เป็นอันขาด

เมื่อปลายปีก่อน สหรัฐฯ ประกาศแพ็กเกจความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 12,000 ล้านบาท) ให้ไต้หวัน

เพื่อตอกย้ำความเชื่อว่า หากรัสเซียยึดยูเครน จีนก็จะมี “แรงจูงใจ” ที่จะส่งทหารเข้ายึดไต้หวันได้

คำประกาศช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่จากวอชิงตันให้ไต้หวันครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการส่งมอบอาวุธไปยังไต้หวันจากคลังอาวุธของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดี โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภา

ไต้หวันมักจะอ้างว่าจีนมีแผนลับที่พร้อมจะถล่มไต้หวันได้ตลอดเวลา

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเผยแพร่สารคดีแปดตอนโดยสถานีโทรทัศน์ CCTV ของทางการที่มีชื่อว่า “Chasing Dreams”

เป็นสารคดีที่ตอกย้ำถึงความพร้อมของกองทัพจีนที่จะโจมตีไต้หวัน

แต่นักวิเคราะห์แบ่งเป็นสองค่าย

ค่ายหนึ่งเชื่อว่าจีนบุกแน่ แต่อีกค่ายหนึ่งแย้งว่าจีนอาจจะเพียงแค่ขู่ เอาเข้าจริงๆ ก็คงไม่กล้าเสี่ยง

ค่ายที่เชื่อว่าสงครามยูเครนทำให้สงครามไต้หวันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย อ้างว่ากรณียูเครนทำให้เห็นถึงความล้มเหลวของการคุกคามของการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เพื่อขัดขวางรัสเซียจากการรุกราน

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เชื่อว่าอำนาจของสหรัฐฯ ซึ่งอ่อนแอลงจากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ กำลังถดถอยต่อเนื่อง

ปูตินเชื่อว่าอเมริกาภายใต้โจ ไบเดน ไม่ต้องการทำสงครามกับรัสเซียที่มีคลังแสงนิวเคลียร์เป็นอันดับหนึ่งของโลก

ปูตินมองว่าการถอนตัวของชาวอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร่งรีบและร้อนรนในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าสหรัฐฯ หมดความกระหายที่จะเข้ามาแทรกแซงทางทหารในต่างประเทศ

แต่ไหนแต่ไรมาสหรัฐฯ อาศัยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันฝ่ายตรงข้าม เช่น อิหร่าน รัสเซีย และจีน

แต่ปูตินมั่นใจว่าการที่ยุโรปต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียจะป้องกันไม่ให้ยุโรปบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรร้ายแรงต่อรัสเซีย

นโยบายอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งใน "ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์" ต่อไต้หวัน

นอกจากนี้ มีข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ง่ายๆ ที่ว่า ไต้หวันเป็นเกาะ จึงป้องกันได้ง่ายกว่ายูเครน

สำหรับคนไต้หวัน การที่ปูตินบุกยูเครนแสดงให้เห็นว่าผู้นำรัสเซียสามารถทำสงครามได้ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลที่ดี

จนถึงขณะนี้ ยูเครนยังสามารถสกัดไม่ให้รัสเซียยึดครอง

แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่แสนสาหัสในแง่ของการสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจที่พังทลาย

คำถามคือชาวไต้หวันจะเต็มใจจ่ายราคาอันหนักอึ้งเช่นนี้เพื่อรักษาเอกราชทางการเมืองของตนหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าสหรัฐฯ ต้องทุ่มช่วยเหลือยูเครนอย่างหนักเช่นนั้น จะยังมีเรี่ยวแรงยันกับจีนเรื่องไต้หวันหรือไม่

สี จิ้นผิง อาจมองว่าอาวุธที่อาจขายให้ไต้หวันได้ถูกส่งไปยังยูเครนแล้ว

แต่มองอีกแง่หนึ่งก็มีปัจจัยที่ทำให้สงครามจีน-ไต้หวันมีน้อยกว่าที่หลายคนคิด

การที่รัสเซียไม่สามารถยึดยูเครนได้อย่างรวดเร็วตามแผนที่วางเอาไว้นั้น ก็อาจทำให้สี จิ้นผิง ต้องคิดหนักว่าการบุกไต้หวันอันไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

เหตุผลหนึ่งก็คือความก้าวหน้าด้านอาวุธ โดรนและขีปนาวุธรุ่นล่าสุดที่สามารถทำลายเครื่องบิน เรือ และรถถังได้

ส่งผลให้การรุกรานไต้หวันมีความเสี่ยงต่อจีนมากขึ้น              

ยิ่งไปกว่านั้น อาวุธของรัสเซียโดยทั่วไปดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าอาวุธของอาวุธอื่นๆ ของ NATO

และต้องไม่ลืมว่าคลังแสงของจีนก็อาศัยการออกแบบของรัสเซียค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ สงครามยูเครนยังเป็นแรงผลักดันให้พันธมิตรยุโรปรวมตัวกันเหนียวแน่นขึ้น

ในปี 2019 ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง พูดถึง NATO ว่า "สมองตาย"

หลังจากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย พันธมิตรก็ได้เพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม

ทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ก็สมัครเป็นสมาชิก ฟินแลนด์เข้าร่วมกับ NATO อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนเมื่อปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

แต่การสนับสนุนของจีนต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้ยุโรปเต็มใจที่จะเข้าร่วมกับสหรัฐฯ มากขึ้นในการต่อต้านความพยายามของจีนในการครองภาคส่วนสำคัญของการค้าโลก

อีกด้านหนึ่ง สงครามยูเครนยังได้รวมพันธมิตรหลักในเอเชียหนาแน่นขึ้น

ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมการคว่ำบาตรรัสเซีย

ดูเหมือนจีนต้องการยุติสงครามยูเครน แต่อยู่ในเงื่อนไขที่มอสโก พันธมิตรยอมรับได้

การที่จีนไม่ร่วมประณามการรุกรานของรัสเซีย ทำให้ปักกิ่งตกอยู่ในฐานะที่ยากต่อการมีบทบาทในฐานะตัวกลางเพื่อสันติภาพ

เกือบทุกฝ่ายยอมรับว่าไม่มีคำตอบง่ายๆ สำหรับคำถามที่ว่าสงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่อความตั้งใจของปักกิ่งเกี่ยวกับไต้หวันอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ คือมันทำให้ทุกฝ่ายเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าเดิมพันนั้นสูง และหากประเมินผิดก็ถูก “ลงโทษ” อย่างหนักกว่าที่คาดคิดมากนัก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น