ช่างกล้า...ช่างมั่น รับประกันด้วยตำแหน่ง

ในขณะที่ประชาชนผู้รักชาติ รักแผ่นดิน มีความเป็นห่วงเป็นใยว่าการเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเลใต้เกาะกูดตามที่มีการลงนามความเข้าใจร่วม (MOU) 44 อาจจะทำให้ไทยเสียดินแดนเหมือนครั้งที่เราเคยเสียเขาพระวิหาร เพราะไทยเราไปลงนามยินยอมให้กัมพูชาเอาเขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนกับ UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ในเวลานั้นไทยเราพลาดที่ไม่คัดค้านการกำหนดเขตแดนของกัมพูชาตามที่ฝรั่งเศสเคยกำหนดไว้ในเวลาที่ฝรั่งเศสได้กัมพูชาเป็นอาณานิคม

ในขณะที่รัฐบาลพยายามจะมีการเจรจากับกัมพูชาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเลใต้เกาะกูด โดยอ้างว่าไทยเราไม่มีวันที่จะเสียพื้นที่เกาะกูดแม้แต่ตารางนิ้วเดียว และบอกว่าเกาะกูดเป็นของไทย โดยที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าเราต้อง

ขอบคุณกัมพูชาว่าในการกำหนดเส้นเขตแดนนั้น เขาขีดเส้นเขตแดนเกาะกูดไว้ให้เรา การประกาศเช่นนี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่พูดเหมือนเราเป็นหนี้บุญคุณกัมพูชาที่ยอมขีดเส้นเขตแดนให้เกาะกูดเป็นของเรา ทั้งๆ ที่หากจะดูหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นได้ว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แล้ว สนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศไทย (ที่เป็นประเทศสยามในเวลานั้น) เมื่อ รศ.125 ฝรั่งเศสได้พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณที่เคยเป็นของไทยไป และดินแดนส่วนนี้ปัจจุบันก็เป็นของกัมพูชา และเกาะกูดเป็นของประเทศไทย

ต่อมากัมพูชาพยายามที่จะเอาเกาะกูดไปเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาในปี พ.ศ.2515 แต่ไทยเราไม่ได้ปล่อยเรื่องนี้ผ่านไป จึงมีพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 9 ทรงประกาศเขตไหล่ทวีปปี 2516 ยึดหลักตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 เป็นการปฏิเสธเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา และตั้งแต่นั้นมาเกาะกูดก็เป็นของไทย สิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเลใต้เกาะกูดก็เป็นของไทยมาโดยตลอด

จนถึงปี 2544 ในสมัยที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่รู้ว่ามีอะไรเป็นแรงจูงใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเวลานั้นจึงไปลงนามเซ็น MOU44 ที่เปิดโอกาสให้มีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลใต้เกาะกูด โดยการไปลงนาม MOU ดังกล่าวนั้น ก่อนจะไปลงนาม ก็ไม่ได้ผ่านสภาแต่อย่างใด และเมื่อมีข้อตกลงกันแล้ว ก็ไม่มีการนำเสนอให้สภารับทราบ ดังนั้นรัฐบาลในยุคที่อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีความพยายามที่จะประกาศให้การลงนาม MOU 44 เป็น โมฆะ แต่ครั้นเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลที่มียิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้ความพยายามที่จะยกเลิก MOU 44 ของรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นโมฆะ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการลงนาม MOU 44 แล้ว การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเลใต้เกาะกูดก็ไม่เคยเกิดขึ้น

ตลอดระยะเวลาที่ทักษิณหนีคุกออกไปอยู่นอกประเทศเป็นเวลา 17 ปี ไม่มีการพูดถึงพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเกาะกูดแต่อย่างใด แต่เมื่อทักษิณกลับเข้ามาในประเทศยังไม่ทันถึงปี ก็มีการพูดถึงพื้นที่ทับซ้อน ก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมา เหมือนผีดิบแดร็กคิวลาที่ถูกสยบไม่ให้อาละวาดทำร้ายใคร เมื่อได้เลือดหยดโดนร่างที่สงบนิ่งทำอะไรใครไม่ได้ กลับคืนมาอาละวาดทำร้ายประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อนำมาเรียบเรียงแล้วหลายคนไม่สบายใจ นายกรัฐมนตรีของไทยไปพบนายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเจรจากันเรื่องอะไรบ้าง เราไม่อาจจะรู้ได้ สมเด็จฮุน เซน เป็นแขกคนแรกของทักษิณเมื่อได้ออกมาพักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แกนนำของพรรคเพื่อไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างออกมาปกป้องการดำรงอยู่ของ MOU 44 รวมทั้งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการมีอยู่ของ MOU 44 เป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย เราไม่ได้เสียเปรียบ แต่เราได้เปรียบ

เมื่อคนไทยผู้รักชาติหลายคนนำเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทย คนของรัฐบาลไม่รู้จะเถียงอย่างไร ก็ยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทย การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเลใต้เกาะกูดจะไม่ทำให้ไทยเสียดินแดน มิหนำซ้ำยังหาว่าคนไทยที่รักชาติที่ต้องการให้ยกเลิก MOU 44 เป็นพวกคลั่งชาติ คนไทยผู้รักชาติจึงตั้งคำถามว่า ในเมื่อเกาะกูดเป็นของเรา แล้วทำไมจะต้องมีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์กัน แม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็พูดแปลกๆ ว่าเมื่อตกลงกันไม่ได้ ก็แบ่งผลประโยชน์กัน 50/50 เป็นคำพูดที่คนไทยผู้รักชาติจำนวนมากรับไม่ได้ วันนี้ถ้าหากเรายอมรับให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเลใต้เกาะกูด ในวันข้างหน้าเราอาจจะเสียดินแดนให้กัมพูชา เพราะเขาอาจจะเอาคำพูดของนายกรัฐมนตรีของไทย และการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรใต้เกาะกูดมาเป็นพื้นฐานของการอ้างเอาดินแดนบางส่วนของเกาะกูดก็เป็นได้ เมื่อกัมพูชานำเรื่องนี้ไปขึ้นศาลโลก เราอาจจะเสียเปรียบก็ได้

เสียงต่อต้านคัดค้านมากมายขนาดนี้ ทำไมรัฐบาลจึงไม่คิดที่จะยกเลิก MOU 44 ที่เป็นเพียงแค่ข้อตกลงร่วมกัน ไม่ใช่สนธิสัญญาที่ผูกมัดอะไรกัน และหากมีการยกเลิก ก็ไม่น่าจะมีการฟ้องร้องกันได้เหมือนอย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้าง เมื่อเกาะกูดเป็นของไทย ก็ไม่ควรจะมีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรบริเวณดังกล่าว สำหรับคำพูดของรองนายกรัฐมนตรีที่บอกว่ายินดีใช้ตำแหน่งรับประกันว่าประเทศไทยจะไม่เสียดินแดนบริเวณเกาะกูดอย่างแน่นอน อยากถามท่านว่า ท่านคิดว่าตำแหน่งของท่านนั้นมีค่าเพียงพอที่จะนำมาเป็นเดิมพันกับการเสียดินแดนของประเทศกระนั้นหรือ ท่านไม่ควรสำคัญตัวเองผิดว่าตำแหน่งที่ท่านมีอยู่นั้นมีค่ามากพอที่จะมาเป็นเดิมพันเรื่องการเสียหรือไม่เสียดินแดนของประเทศ รัฐบาลนี้ที่อยู่ภายใต้การนำของคนที่ไม่มีตำแหน่ง แต่มีอำนาจ ได้สิ่งที่ไม่ควรได้ไปมากแล้ว เรื่องผลประโยชน์จากเกาะกูด ขอเถอะ อย่าได้อีกเลยนะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บ่อนการพนัน กระสันกัน...เพื่อใคร

บ่อนการพนันเสรีที่ถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามที่จะให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย เพราะมองเห็นว่ารายได้ที่จะได้มาจากการเปิดบ่อนในรูปแบบของการท่องเที่ยว

'ประโยชน์'และ'โทษ'ของ'ความแก่'

ว่าไปแล้ว ความแก่ มันน่าจะมีอยู่ 2 คม 2 ด้านด้วยกัน...คือมีทั้งด้านที่เป็น ประโยชน์ และด้านที่ออกจะเป็น โทษ อะไรประมาณนั้น โดยเฉพาะสำหรับด้าน สังขาร หรือเนื้อหนัง

เคาะระฆังตั้ง 'นายพัน'

มีเสียงการันตีบัญชีแต่งตั้ง "นายพลสีกากี" ยุค ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กุมบังเหียน "กรมปทุมวัน" ปีแรก จาก บิ๊กเอก-พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์

ถามไม่ถูกคน...สัปดนไหมล่ะ

ตั้งแต่มีการประกาศว่าแพทองธารคือ หนึ่งในรายชื่อที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลายคนเริ่มเป็นห่วงประเทศชาติ เพราะผู้ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็พอจะอนุมานได้ว่า แ

เมื่อ'ธรรมชาติ'สำแดงเดช!!!

ไม่ใช่แค่ได้มีโอกาส หึ่มฮึม-ฮึ้มหึ่มม์ม์ม์ ตามลีลาบทเพลง “พอย่างเข้าเขตหน้าหนาว-ลมหนาวก็โชยพัดกระหน่ำ” ของท่านบรมครู คุณครู ล้วน ควันธรรม เท่านั้น แต่ต้องเรียกว่า...ถึงขั้น งั่กก์ก์ก์ๆๆ

นายพลเล็กสะดุด!

เหมือนจะครบ เหมือนจะจบแบบ "แฮปปี้เอนดิง" บัญชีแต่งตั้ง "นายพล" ล็อตสอง ตำแหน่งรองผู้บัญชาการ (รองผบช.) ถึงผู้บังคับการ (ผบก.) วาระจำประจำปี 2567