สปสช.แจงขั้นตอนผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง รักษาโควิด-19 หลัง ครม.ยกเลิก UCEP

16 มี.ค.65-นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 มี.ค. 2565 เห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติโควิด-19 (UCEP โควิด พลัส : UCEP Plus) โดยให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดงยังสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายโดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนกลุ่มอาการสีเขียวสามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2565 นั้น

ในส่วนของประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาทหรือสิทธิ สปสช. (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2565 หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด คือผลเป็นบวกติดเชื้อโควิด-19 หากท่านอยู่ในกลุ่มสีเขียว หรือกลุ่มไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย เช่น มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาขึ้นไป, ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส, เจ็บคอ ไอ/มีน้ำมูก มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง ในกรณีนี้ท่านจะได้รับการรักษาตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข คือ ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือ เจอ แจก จบ (OP with self isolation) หรืออีกแนวทางหนึ่งคือรักษาที่บ้าน (Home Isolation) โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และให้ไปรับการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลตามสิทธิของท่าน ซึ่งประชาชนสิทธิบัตรทองนอกจากหน่วยบริการประจำตามสิทธิของท่านแล้ว ท่านยังสามารถเข้ารักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ใช้ใบส่งตัว ตามนโยบายยกระดับบัตรทองได้ด้วย (หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น)

ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาตามแนวทาง เจอ แจก จบ หรือการรักษาที่บ้าน หากมีอาการเปลี่ยนแปลง เข้าสู่กลุ่มสีเหลือง/แดง สถานพยาบาลที่ดูแลท่านจะส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลที่สามารถดูแลท่านได้ต่อไป และสามารถใช้สิทธิ UCEP Plus ได้

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านนี้ หลังยกเลิก UCEP โควิดในผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว จะทำให้โรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนที่อยู่นอกเครือข่ายหน่วยบริการของ สปสช. ไม่สามารถเบิกเงินชดเชยการให้บริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวแบบผู้ป่วยนอกและแบบดูแลที่บ้าน (Home Isolation) ได้ ดังนั้น เพื่อให้หน่วยบริการเหล่านี้ยังสามารถดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อโดยที่ประชาชนไม่ถูกเรียกเก็บเงิน สปสช.ได้เตรียม 3 แนวทางรองรับ ทั้งการให้สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการเฉพาะด้านโควิดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, เบิกค่าใช้จ่ายตามมาตรา 7 ระบบฉุกเฉิน และการออกประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ โดยกำหนดให้เบิกค่าใช้จ่ายแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน ตามนโยบาย เจอ แจก จบ ของกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิ สปสช. ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 90 กก., มะเร็ง, เบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) เด็กอายุ 0-5 ปี คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง โทร.มาที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 18 เพื่อเข้าระบบการรักษาตามแนวทางการคัดกรองต่อไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิประกันสังคม ให้ไป รพ.ที่ลงทะเบียนไว้ (กรณีอยู่ต่างพื้นที่เข้า รพ.เครือข่ายประกันสังคมได้) และสิทธิข้าราชการ เข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง โดยการรักษาจะเป็นไปตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขเช่นกันคือ ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือ เจอ แจก จบ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือรักษาที่บ้าน (Home Isolation)


นอกจากนี้ ยังมี4 วิธีเช็คสิทธิรักษาพยาบาล ทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง ดังนี้

1.โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 2

2.เว็บไซต์ สปสช. https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml

3.แอปพลิเคชั่น สปสช. เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิตนเอง

4.ไลน์ สปสช. @nhso หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สปสช.ยังค้างจ่ายเงินโรงเรียนแพทย์ร่วม 1,000 ล้านบาท แจงยิบติดค้างรพ.ละเท่าไหร่

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวถึงกรณี รองเลขาฯ สปสช.ชี้แจงค้างจ่ายเงินโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ รวม 369 ล้านบาท ว่าเกิดจากการเรียกเก็บค่าชดเชย ที่ติดรหัส C และติดรหัส DENY นั้น ไม่ครบถ้วน