นพ.ธีระคาดสิ้นเดือนนี้ยอดติดโอมิครอนไทยพุ่งสูงสุด

'หมอธีระ' ชี้ตอนนี้ Omicron BA.5 เป็นเจ้าตลาดอยู่ เตือนเป็นสานพันธุ์แพร่ไว มีโอกาสเป็นซ้ำและรุนแรง คาดสิ้นเดือนนี้ไทยพีคสุด แนะรีบไปฉีดกระตุ้นเข็ม 4

28 ก.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 809,909 คน ตายเพิ่ม 1,685 คน รวมแล้วติดไป 577,925,224 คน เสียชีวิตรวม 6,409,539 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศส เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 72.22 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 52.1

...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดตจาก WHO องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update ล่าสุดเมื่อวานนี้ 27 กรกฎาคม 2565 การระบาดทั่วโลกของสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สายพันธุ์ Omicron เป็นสายพันธุ์หลักในการระบาด ในขณะที่เดลตานั้นเหลือน้อยกว่า 0.1%

หากเจาะลึกดูสายพันธุ์ย่อย พบว่า Omicron BA.5 มีสัดส่วนครองการระบาดถึง 52%, BA.4 11% ในขณะที่ BA.2 และ BA.2.12.1 นั้นมีสัดส่วนเพียง 2-3% เท่านั้น เมื่อดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งไทยอยู่) พบว่า จำนวนติดเชื้อใหม่ที่รายงานในสัปดาห์ล่าสุดนั้นเพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า 13% และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8%

...เทียบกับตัวเลขรายสัปดาห์ของไทยจาก Worldometer พบว่าจำนวนติดเชื้อใหม่ที่รายงานในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มกว่าสัปดาห์ก่อน 14% แต่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงถึง 30% ตัวเลขข้างต้นมีความหมายสำคัญ เพราะเราทราบกันดีว่าจำนวนติดเชื้อใหม่ที่ สธ.ไทยรายงานนั้นเป็นตัวเลขผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสูงกว่าที่รายงานมาก ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่จำนวนเสียชีวิตที่สูงขึ้นถึง 30% นั้น ย่อมสะท้อนถึงความไม่ไปด้วยกันกับตัวเลขติดเชื้อที่รายงาน (decoupling phenomenon)

นอกจากนี้ หากจำได้ จะพบว่าตั้งแต่ต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวเลขเสียชีวิตที่รายงานในแต่ละวันนั้น ไม่รวมจำนวนเสียชีวิตที่มีโรคร่วม เมื่อเป็นเช่นนั้น จำนวนผู้เสียชีวิตจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันย่อมสูงกว่าที่รายงานมาก

...ด้วยข้อมูลตัวเลขต่างๆ ข้างต้น จึงต้องเน้นย้ำให้เราตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดในปัจจุบันว่ามีแนวโน้มชัดว่า "หนัก" หนักหน่วง...เพราะติดเชื้อจริงจำนวนมาก หนักหนา...เพราะสายพันธุ์ย่อย BA.5 นั้นพิสูจน์แล้วว่า นอกจากแพร่ไวขึ้น ดื้อภูมิคุ้มกันมากขึ้น โอกาสติดเชื้อซ้ำมากขึ้นแล้ว ยังมีความรุนแรงกว่า BA.2 เดิมถึง 2-3 เท่า โดยติดเชื้อแล้วจะเกิดมีอาการได้บ่อยกว่า หนักกว่า ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น และโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นได้

น่าหนักใจ...เพราะตัวเลขที่เห็นในรายงาน ต่ำกว่าสถานการณ์จริง และไม่มีระบบรายงานที่ทำให้ประชาชนเห็นสถานการณ์แบบ real time ซึ่งย่อมส่งผลต่อการรับรู้ ความตระหนัก และการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติเรื่องการป้องกันตัวอย่างเหมาะสม

...การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับเข็มสาม (เข็มกระตุ้นครั้งที่ 1) ควรรีบไปรับในขณะที่เข็มสี่ (เข็มกระตุ้นครั้งที่ 2) นั้น ในต่างประเทศนั้นแนะนำให้แก่ผู้สูงอายุหรือคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป, คนที่มีโรคประจำตัว รวมถึงคนที่ทำงานเสี่ยงต้องพบปะดูแลคนจำนวนมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ

ข้อมูลการวิจัยพิสูจน์ให้เห็นประโยชน์ของการฉีดเข็มกระตุ้นครั้งที่ 2 นั้น ตอนนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากอิสราเอล สหรัฐอเมริกา และสวีเดน โดยพบว่าช่วยลดโอกาสป่วย ป่วยรุนแรง และเสียชีวิตลงไปได้มาก

...ตามธรรมชาติของ BA.5 ที่เห็นจากต่างประเทศนั้น ดูตามเงื่อนเวลา ประเมินว่าไทยน่าจะเข้าสู่พีคราวปลายเดือนนี้ ซึ่งหากช่วงหยุดยาว 4 วันนี้ป้องกันไม่ดี ก็จะทำให้จำนวนติดเชื้อจริงสูงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้
ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมานั้น ทำให้จำนวนติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยสูงขึ้นราว 11% (จากการคาดประมาณ ไม่ใช่จากรายงานประจำวันของ สธ.) ที่ต้องย้ำคือ ติดเชื้อไม่ใช่แค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ระยะยาว

...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อไปได้มาก นี่เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะช่วยกันประคับประคองให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน...

อ้างอิง
1. WHO Weekly Epidemiological Update. WHO. 27 July 2022.
2. Topol E. Summary of 2nd Booster Effectiveness. 27 July 2022. (Table)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)

หมอกควันไฟป่าฝุ่น pm2.5 ภาคเหนือพุ่งปรี๊ด! เชียงใหม่ ครองที่ 1 โลกต่อเนื่อง

ปํญหาหมอกควันไฟป่าฝุ่น pm2.5 ภาคเหนือยังพุ่งสูงเป็นสถิติทุกวัน เชียงใหม่ AQI ครองที่ 1 โลกต่อเนื่อง PM2.5 เกินมาตรฐานทุกจุด

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด