'หมอธีระ' ยกผลวิจัยออสเตรเลียชี้ Long COVID มีความสูญเสียไม่ต่างโรคสมองเสื่อม-ปัญหาติดยา

'นพ.ธีระ' ชี้ภาพรวมยอดเสียชีวิตโควิดทั่วโลกลดลง แต่ไทยสวนกระแส ยกผลวิจัย Long COVID ในออสเตรเลียตอกย้ำเรื่องจริงที่ต้องเตรียมรับมือ ชี้ชัดความสูญเสียเทียบเท่าโรคสมองเสื่อม-ปัญหาการติดยา

04 ส.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 770,742 คน ตายเพิ่ม 1,634 คน รวมแล้วติดไป 584,829,704 คน เสียชีวิตรวม 6,425,542 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 76.51 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 56.73

...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดตจากองค์การอนามัยโลก ล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวานนี้ 3 สิงหาคม 2565
Omicron ครองการระบาดทั่วโลก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 99% ถ้าจำแนกตามสายพันธุ์ย่อยเปรียบเทียบรายสัปดาห์ พบว่า BA.5 มีสัดส่วนการระบาดที่เพิ่มขึ้นเป็น 69.6%, BA.4 เพิ่มขึ้นเป็น 11.8% ในขณะที่ BA.2.12.1 และ BA.2 นั้นมีสัดส่วนการระบาดลดลงเหลือ 1.9% และ 1.5% ตามลำดับ

ภาพรวมทั่วโลก จำนวนการเสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กน้อยราว 3% โดยในยุโรปมีจำนวนการเสียชีวิตลดลงไป 26% ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ของโลกนั้นยังมีจำนวนเสียชีวิตรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย มีจำนวนเสียชีวิตรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 20%

ดังนั้นเราจึงเห็นธรรมชาติของการระบาดว่า ถ้าไม่สามารถควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมนำไปสู่การติดเชื้อ และส่งผลกระทบต่อเนื่องสู่การป่วย การเสียชีวิต และปัญหา Long COVID ในระยะเวลาต่อมา

...ปัญหา Long COVID ในออสเตรเลีย Howe S และทีมงานจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อวานนี้ 3 สิงหาคม 2565 ประเมินภาระโรคที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 และปัญหา Long COVID ในออสเตรเลีย โดยคำนวณจำนวนปีที่สูญเสียไปจากการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สาระสำคัญพบว่า จากการระบาดในยุค Omicron ตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2564 จนถึงเมษายน 2565 นั้น โรคโควิด-19 ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิต เจ็บป่วย และพิการ คิดเป็นภาระโรคที่เทียบเท่ากับโรคสมองเสื่อม และปัญหาการติดยาเสพติด

ทั้งนี้หากพิจารณาจำนวนปีที่สูญเสียไปภาวะเจ็บป่วยและทุพพลภาพจาก Long COVID นั้น สูงมากถึง 74% หรือ 3 ใน 4 ของภาระโรคที่เกิดจากโรคโควิด-19 ทั้งหมด

งานวิจัยนี้ตอกย้ำว่า Long COVID is real และเป็นปัญหาท้าทายในระยะยาวสำหรับผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนรับมือ มิใช่เฉพาะระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้คำปรึกษา ตรวจ วินิจฉัย ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงกลไกสนับสนุนทางสังคม ทั้งเรื่องระบบการทำงาน การช่วยเหลือด้านการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

...การติดเชื้อ ไม่จบชิลๆ แค่หาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และทุพพลภาพ เป็น Long COVID ได้ ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเมื่อออกไปใช้ชีวิตประจำวัน เป็นหัวใจสำคัญที่จะลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก...

อ้างอิง
Howe S et al. The health impact of long COVID during the 2021-2022 Omicron wave in Australia: a quantitative burden of disease study. medRxiv. 3 August 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เทพมนตรี' เผยเหตุผู้บริหารจุฬาฯ ไม่กล้าถอดวิทยานิพนธ์-ป.เอก ของณัฐพล ใจจริง

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" ของนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯ ว่า

'วิรังรอง' อัปเดตข้อมูล ไล่บี้อธิการบดีจุฬาฯ เปิดผลสอบวิทยานิพนธ์ฉาว

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า อัปเดตการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ

ทวงผลสอบจุฬาฯ ปม 'ดุษฎีนิพนธ์' บิดเบือนประวัติศาสตร์กระทบสถาบัน

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในฐานะนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่นปี 2512 ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

'วิรังรอง' ตั้งคำถามถึงอธิการบดีจุฬาฯ หลังได้อ่านความเห็นของ 'อ.เจษฎา-ธงทอง'

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 โพสต์เฟซบุ๊ก โดยเขียนบทความเรื่อง "คำถามเพื่อสัมภาษณ์ท่านอธิการบดีจุฬาฯ กรณีพิพาทจุฬาฯ