อึ้ง! Long COVID ทำให้มีจำนวนปีที่ประชากรต้องอยู่กับภาวะทุพพลภาพมากขึ้นถึง 5,200 ปี

5 เม.ย.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 5เม.ย.2566 มีเนื้อหาดังนี้

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 41,986 คน ตายเพิ่ม 138 คน รวมแล้วติดไป 684,169,290 คน เสียชีวิตรวม 6,832,807 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และโปแลนด์
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.86 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.98

...อัพเดตความรู้ Long COVID
1. ผลของการติดเชื้อต่อการลาหยุดงาน
O'Regan E และคณะจากประเทศเดนมาร์ก ทำการประเมินผลกระทบของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ต่อเรื่องการลาหยุดงานด้วยเหตุผลของการเจ็บป่วยในช่วงเวลาต่อมา
พบว่า กลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อนนั้นจะมีการลาหยุดงานด้วยเรื่องการเจ็บป่วยมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ติดเชื้อ
เฉลี่ยแล้วทุกๆ 1,000 คน กลุ่มที่เคยติดเชื้อมาก่อนจะมีคนที่ลาหยุดงานรวมนานกว่า 1 เดือนในช่วง 1-9 เดือนหลังติดเชื้อ มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ติดเชื้อราว 33 คน
ลักษณะของคนที่เสี่ยงต่อการต้องลาหยุดมากนั้น ได้แก่ เพศหญิง, อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัวมาก่อน

2. Long COVID ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพมากขึ้น
Howe S และคณะจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการประเมินผลกระทบของภาวะ Long COVID ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron BA.1 และ BA.2 ซึ่งระบาดในช่วงปีก่อน
พบว่า Long COVID ทำให้มีจำนวนปีที่ประชากรต้องอยู่กับภาวะทุพพลภาพมากขึ้นถึง 5,200 ปี (Years of living with disabilities: YLDs)
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับจำนวนปีที่ต้องอยู่กับภาวะทุพพลภาพทั้งหมดที่เกิดจากโรคโควิด-19 แล้ว Long COVID เป็นสาเหตุหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงสามในสี่ (74%)

...สถานการณ์ระบาดและจำนวนเสียชีวิตโดยรวมทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง
แต่เราล้วนทราบกันดีว่า ในแต่ละวันยังมีเหยื่อที่ต้องป่วย และเสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
เราทราบอีกเช่นกันว่า การฉีดวัคซีนจนครบเข็มกระตุ้นนั้น จะช่วยลดเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ได้ แต่ไม่ได้การันตี 100% ดังนั้นพฤติกรรมการป้องกันตัว ใส่ใจสุขภาพ ระมัดระวัง ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาทจึงมีความสำคัญมาก
ปรับสภาพแวดล้อมที่บ้าน ที่ทำงาน ที่เที่ยว ให้มีการระบายอากาศให้ดี
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ความเสี่ยงของแต่ละคน มากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวิถีการใช้ชีวิตของคนคนนั้น
ติดเชื้อแต่ละครั้ง ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

อ้างอิง
1. O'Regan E et al. Covid-19 and post-acute sick leave: a hybrid register and questionnaire study in the adult Danish population. medRxiv. 31 March 2023.
2. Howe S et al. The health impact of long COVID during the 2021–2022 Omicron wave in Australia: a quantitative burden of disease study. International Journal of Epidemiology. 3 April 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาจารย์หมอ วิเคราะห์การระบาดโควิด มาจาก โอมิครอน สายพันธุ์ JN.1 เป็นหลัก

แม้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยจะเป็นขาลง แต่จำนวนคนที่ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันยังมีจำนวนไม่น้อย จึงควรใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท

อาจารย์หมอจุฬาฯ วิเคราะห์การระบาดโควิดไทย อยู่ในช่วง ’ขาลง’

ตัวเลขสัปดาห์ล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2024 จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 462 ราย เสียชีวิต 2 ราย ปอดอักเสบ 263 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 91 ราย

อาจารย์หมอจุฬาฯ วิเคราะห์สถานการณ์โควิด แนวโน้มสูงกว่าที่คาด

ปลายปีถือเป็นช่วงเทศกาล มีกิจกรรมสังสรรค์กันมาก หากไม่ป้องกันตัว จะติดเชื้อแพร่เชื้อจนป่วยกันได้มาก เสี่ยงปอดอักเสบ ตาย และ Long COVID อีกด้วย