จัดงานวันหยุดเขื่อนโลก 'ครูตี๋' ชี้เขื่อนทำลายแม่น้ำ ยกบทเรียนน้ำโขง ปลุกคนสาละวินสู้

จัดงานวันหยุดเขื่อนโลกหลายฝ่ายรุมวิจารณ์โครงการผันน้ำยวม จวกนักวิชาการ ม.นเรศวร “ง่าว”จัดทำอีไอเอเท็จเขียนชื่อชาวบ้านยังผิด “ครูตี๋”ชี้เขื่อนทำลายแม่น้ำยกบทเรียนแม่น้ำโขง ปลุกคนสาละวินสู้

14 มี.ค.2565 - มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกประจำปี ที่บริเวณแม่น้ำสองสี บ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกวางแผนให้เป็นสถานีสูบน้ำและปากอุโมงค์ตามโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลหรือเรียกสั้นๆว่าโครงการผันแม่น้ำยวม ชาวบ้านแม่เงาได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานวันหยุดเขื่อนโลก โดยมีชาวบ้านจากลุ่มน้ำสาละวิน เยาวชน นักสิ่งแวดล้อมและนักวิชาการ กว่า 200 คนเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีนายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลและนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมรับฟังปัญหาและรับหนังสือร้องเรียน

ทั้งนี้ภายในงานได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนต่างๆได้เล่าถึงสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ โดยนายสิงคำ เรือนหอม ชาวบ้านแม่เงากล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนกะเหรี่ยงไม่เคยรับรู้เรื่องรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) แต่เราเข้าใจเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เพราะคนที่มาพูดด้วยใช้ภาษาวิชาการ มารู้อีกทีคือเขาอนุมัติแล้วโดยคนที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี หากโครงการผันน้ำเกิดขึ้นเท่ากับทำลายคลังอาหารของเรา ตนยอมตายเพื่อไม่ให้โครงการนี้เกิดขึ้น การที่เราไม่รู้เรื่องอีไอเอเพราะเขามาเปิดเวทีให้นายอำเภอฟังแล้วนายอำเภอจะรู้เรื่องอย่างไร แทนที่จะพูดว่ามาสร้างเขื่อนแล้วจะได้หรือเสียประโยชน์อะไร

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมาชี้แจง เขาอาจไปบางพื้นที่แล้วล็อคพ่อหลวงเอาไว้ และอ้างว่าจะพัฒนาให้เจริญ มีเงิน มีงาน เอาภาพต่างๆมาโชว์ แต่ความเจริญขนาดไหนก็ไม่มีความหมายเพราะอีไอเอนี้ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม เขาจ้าง มหาวิทยาลัยนเรศวรมาศึกษา ชื่อของชาวบ้านเขายังเขียนไม่ถูกเลย เขาไม่เคยศึกษาเรื่องปูปลากุ้งและการได้รับผลกระทบ หากกั้นเขื่อนปูปลากุ้งต้องตายหมดเพราะขึ้นไปไหนไม่ได้ ผมถามเขาว่าจะทำอย่างไร เขาบอกว่าจะทำบันไดให้ปลาขึ้น มันง่าวสิ้นดี ตอนนี้จิตใจของชาวบ้านปั่นป่วนเพราะถูกรังแก ย่ำยี ชาวบ้านไม่รู้จะฟ้องใคร ฟ้องทหาร ตำรวจเราก็กลัว จะฟ้องนายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน เขาก็ไม่เคยมาลงพื้นที่สอบถามพวกเรา”นายสิงคำ กล่าว

น.ส.พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าโครงการอุโมงค์ผันน้ำต้องการใช้พื้นที่ป่าและที่ดินทำกินของชาวบ้านในหมู่บ้าน 91 ไร่เพื่อเป็นกองดิน แต่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องกระบวนการจัดทำอีไอเอเลย และไม่เคยได้มีส่วนร่วมซึ่งทั้งกรมชลประทานและมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เข้ามาในหมู่บ้านและอ้างว่าได้มาฟังชาวบ้านแล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่รู้เรื่องเลย

นายยอดชาย พรพงไพร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฉ่องสอน กล่าวว่า ความคิดผันน้ำยวมให้คนภาคกลางนั้น เราไม่ได้ห้าม แต่เราอยากให้คนที่คิดทำโครงการควรเอาปัญหาที่แท้จริงออกมาก่อน ต้องเอาความจริงมาบอกว่าทรัพยากรเสียหาย การพัฒนาทุกอย่างของแม่ฮ่องสอนต้องใช้พื้นที่ป่า แต่โครงการใหญ่ขนาดนี้ได้ขออนุญาตหรือยังและการสำรวจในอีไอเอเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ โครงการนี้เชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนภาคกลางต้องการน้ำ บางคนบอกว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐจึงไม่จำเป็นต้องขอใคร แต่ตนในฐานะที่เป็นนักการเมืองเหมือนกัน จะทำอะไรยังต้องขออนุญาตชาวบ้าน ถ้าไม่ได้รับการมีส่วนร่วมจากประชาชนย่อมไม่ประสบความสำเร็จ

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า แม่น้ำสาละวินใหญ่ได้เพราะแม่น้ำสาขาทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ เราไม่ได้คัดค้านแต่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ การพัฒนานั่นย่อมไม่ยั่งยืน ทุกวันนี้การพัฒนาใดๆในแม่ฮ่องสอนถูกคลุ่มด้วยกฏหมายมากมาย แต่โครงการนี้กลับถูกตัดสินใจแค่คนกลุ่มเดียว เราอยากเห็นการทำอีไอเอจริงๆ ไม่ใช่เป็นอีไอเอแค่เป็นเครื่องสักฟอกให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่าทุกๆ ปีได้มาดูแม่น้ำสาละวินเพราะยังบริสุทธิ์ แต่แม่น้ำโขงถูกเขื่อนทำลายจนจะวิบัติภายในระยะเวลากว่า 20 ปี ถ้าเป็นคนก็คือคนติดเตียงแล้ว การได้มาลุ่มน้ำสาละวินจึงอยากบอกกล่าวเรื่องอันตรายของเขื่อนซึ่งเป็นตัวทำลายแม่น้ำและวิถีชีวิตของประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำ ดังนั้นความคิดในการสร้างเขื่อนที่ลุ่มน้ำสาละวินจึงล้าสมัย ใครที่จะตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมว่าสร้างได้หรือไม่คือองค์ความรู้ ที่เราพูดถึงคืออีไอเอ โดยที่แม่น้ำโขงการจัดทำอีไอเอนั้นไม่ได้มีการจัดทำอย่างจริงๆแต่เป็นการตัดสินใจจากข้างบนและเป็นอีไอเอที่ตอบสนองต่อโครงการ ไม่ได้ตอบสนองในองค์ความรู้ในทุกๆมิติ นักวิชาการก็เป็นเพียงคนที่รับจ้างทำอีไอเอ ถ้าอีไอเอผ่านไปได้โดยประชาชนไม่ลุกขึ้นมาจัดการให้หยุดหรือตกไปก็จะเป็นโอกาสให้รัฐเข้ามาเป็นข้ออ้าง

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ กล่าวว่า การจัดการน้ำโดยการสร้างเขื่อนนั้นไม่ยั่งยืน โดยโครงการผันน้ำยวมนี้ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นแล้วเพราะเป็นการจัดการน้ำที่ไม่ถูกต้องคือการสูบน้ำขึ้นไปซึ่งรัฐบาลไทยไม่มีทุนพอจึงต้องไปยืมมือจีนมาทำ ขณะที่อีไอเอ ไม่เคยมีอะไรพร้อมเลย มีแต่ความอยากและอำนาจทางการเมือง

ดร.วาเนสซา แลมป์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ซึ่งทำวิจัยโครงการผันน้ำยวม กล่าวว่าได้เดินทางไปพื้นที่ต่างๆทั่วโลกที่มีโครงการผันน้ำสิ่งที่เห็นคือ 1.รัฐบาลทำวิจัยที่ไม่สมบูรณ์และการใช้ภาษาที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ 2.รัฐบาลหรือบริษัทไม่ได้ขออนุญาตชาวบ้านก่อน 3.ชุมชนมีประวัติศาสตร์สำคัญมาก แต่ในรายงานอีไอเอกลับไม่สนใจในเรื่องนี้

หลังจากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์โดยระบุว่า แม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำนานาชาติแห่งหนึ่งในโลกที่ยังคงไหลอย่างอิสระ ผ่านพรมแดนไทย-พม่าตรงข้ามรัฐกะเหรี่ยง ตลอดเส้นทางลำน้ำสาขาต่าง ๆ ทั้งแม่น้ำยวม เงา เมย ลำห้วยน้อยใหญ่ เป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของประชาชน ชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองหลายสิบล้านคน แม่น้ำสาละวินเป็นที่หมายปองของนักสร้างเขื่อนตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่จวบจนปัจจุบันสายน้ำอันยิ่งใหญ่นี้ก็ยังปราศจากเขื่อนกั้น

ในประเทศไทย รัฐบาลไทย โดยกรมชลประทาน ได้ผลักดันโครงการผันน้ำยวมเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่เขื่อนภูมิพล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลาง โดยในวันหยุดเขื่อนโลก ที่ครบรอบ 25 ปี พวกเราชาติพันธุ์จากลุ่มน้ำเงา เมย ยวมสาละวิน ผู้พึ่งพิงอยู่กับผืนป่า สายน้ำ และรักษาป่า รักษาน้ำ รักษาทรัพยากรธรมชาติของโลกใบนี้มาตลอด กำลังจะถูกเบียดบังและเรียกร้องให้เราเสียสละต่อการพัฒนา

“พวกเราขอเรียกร้องให้ยุติโครงการก่อสร้างเขื่อนทุกแห่งทั่วประเทศ และยุติโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศแม่น้ำและผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งลุ่มน้ำสาละวินและวิถีวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นของเรา รัฐต้องรับฟังและเคารพในสิทธิของพวกเราในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของแผ่นดิน”แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึง กมธ.กิจการศาล องค์กรอัยการ องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีโครงการจัดทำรายงานศึกษาผลประทบสิ่งแวดล้อมระบบในโครงข่ายไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนยวม-เขื่อนภูมิพล โดยระบุว่า กฟผ. ได้มีโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า ลำพูน 3–สบเมย (ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1) ซึ่งอยู่ระหว่างการทำการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด และมหาวิทยานเรศวร เครือข่ายประชาชนฯโครงการนี้จะพาดผ่านป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 6 แห่ง และเป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1 ระยะทาง 127.96 กิโลเมตร โครงการอยู่ในระหว่างการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยชาวบ้านมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านซ้ำซ้อน โดยเฉพาะสิทธิในที่ทำกิน ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นนิเวศน์บริการที่ชาวบ้านจะต้องใช้พึ่งพิง และส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะ เครือข่ายฯจึงขอท่านได้โปรดตรวจสอบโครงการดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้กลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่จัดทำอีไอเอ ได้เดินทางมายังจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ไม่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในบริเวณพื้นที่จัดงาน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวสาละวิน ร้อง กสม. หลังถูกอุทยานฯยึดที่ดิน-ดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย 2.3 แสน

ชาวบ้านหมู่บ้านแม่ก๋อน หมู่ที่ 5 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 20 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่และทำกินในป่าบริเวณนี้มาก่อนอุทยานแห่งชาติสาละวิน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (3) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ จ.แม่ฮ่องสอน “คนเมืองปายสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว”

ในปี 2567 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรอายุ

มูลนิธิสืบฯ ค้านเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในอุทยานฯทับลาน 2.6 แสนไร่

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ในฐานะประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรสืบ ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 2 แสนกว่า

นักวิชาการชี้โครงการ 'ผันน้ำยวม' มูลค่าแสนล้านเสี่ยงผิดกม. สร้างหนี้รัฐมหาศาล ไม่คุ้มค่า

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม โดยมี ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์