ฝนหลวงช่วยชีวิตเกษตรกรชุมพร หลังเจอวิกฤติภัยแล้งหนัก ทุเรียนยืนต้นตาย ผลผลิตลดฮวบ

จังหวัดชุมพรประสบภัยแล้งขั้นวิกฤติ หลังไม่ตกฝนทิ้งช่วงนานกว่า 3 เดือน อากาศร้อนจัด น้ำในลำคลองแห้งขอด แหล่งน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง พืชผลทางการเกษตรเสียหาย โดยเฉพาะทุเรียนที่ขาดน้ำมานานต่อเนื่อง ทำให้ผลร่วง ใบแห้ง ทยอยยืนต้นตายเป็นจำมากกว่า มีความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาทแล้ว

5 มิ.ย.2566 - หลังจากที่ นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผวจ.ชุมพร ลงนามประกาศเขตประสบสาธารณภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง ลงวันที่ 31 พ.ค.66 ด้วยเกิดเหตุภัยแล้งเนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วง สภาพอากาศที่แห้งแล้งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนและการกระจายของฝนน้อย ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ และทำให้เกิดภัยแล้งในพื้นที่ ซึ่งภัยดังกล่าวเป็นสาธารณภัย ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ อ.เมืองชุมพร อ.ท่าแซะ อ.สวี อ.ปะทิว อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ อ.ละแม รวมพื้นที่ประกาศเขตประสบสาธารณภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง 7 อำเภอ 47 ตำบล 141 หมู่บ้าน

จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ทั้งหมด 3.75 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 2.56 ล้านไร่ เป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่มีชื่อเสียงของประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และเป็นศูนย์กลางการตลาดทุเรียนของภาคใต้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดชุมพร ในปี 2563 มีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาประจำปีเท่ากับ 125,364 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 5 ของภาคใต้ และลำดับที่ 23 ของประเทศ

ภาคเกษตรถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะการผลิตทุเรียน ปาล์มน้ำมันและยางพารา มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวเท่ากับ 250,823 บาท ต่อคนต่อปี เป็นลำดับที่ 1 ของภาคใต้ และลำดับที่ 12 ของประเทศ

ด้านสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร รายงานว่ามีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปี 2566 จำนวน 261,296 ไร่ คาดว่าจะเสียหายจำนวน 69,831 ไร่ และหากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงยังคงดำเนินต่อไปคาดว่าพื้นที่การเกษตรจะยิ่งได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง

ขณะที่ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตร จังหวัดชุมพร เปิดเผยข้อมูลวิกฤติภัยแล้งที่มีผลกระทบต่อผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุดในพื้นที่ของจังหวัดชุมพรว่า ผลิตในฤดูกาล ปี 2566 ได้มีการประเมินสถานการณ์ผลผลิตของทุเรียน และมังคุด ซึ่งกำหนดจัดขึ้นจำนวน 3 ครั้ง ตลอดฤดูกาลผลิต โดยในครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 และครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 และครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม

"จังหวัดชุมพรในปี 2566 พบว่ามีพื้นที่ปลูกทุเรียน 279,254 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 260,768 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.09 สำหรับมังคุด ในปี 2566 มีพื้นที่ปลูก 47,276 ไร่ ลดลงจากปี 2565 จำนวน 49,266 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.04 "

"จากการประเมินสถานการณ์ครั้งแรก ในระยะดอก พบว่าผลผลิตของทุเรียน และมังคุดเพิ่มขึ้นจากปี 2565 เนื่องจากปี 2565 มีปริมาณฝนตกชุก ทำให้ดอกหลุดร่วง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2566 สภาพต้นมีความสมบูรณ์ มีการสะสมอาหารเพียงพอ สภาพอากาศมีความเหมาะสม จึงทำให้มีปริมาณการออกดอกมาก "

"จากสถานการณ์ภัยแล้งสภาพอากาศร้อน ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ในสวนทุเรียนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทุเรียนหลุดร่วง จากเดือนมีนาคมที่ได้มีการประเมินสถานการณ์ว่าจะมีผลผลิต 408,491 ตัน แต่เมื่อผ่านช่วงวิกฤตฝนทิ้งช่วง สภาพอากาศร้อน ในหลายพื้นที่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ร้อยละ 17.52 เหลือ 337,376 ตัน ซึ่งทุเรียนจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม มีปริมาณมากที่สุดในช่วงวันที่ 21-30 มิถุนายน 2566 ปริมาณ 73,453 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21.78 "

"สำหรับมังคุด จากสถานการณ์เมื่อเดือนมีนาคม คาดว่าจะมีผลผลิต 59,887 ตัน ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตลดลงร้อยละ 10.38 เหลือ 53,670 ตัน โดยมังคุดจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม มีปริมาณมากที่สุดในช่วงวันที่ 1-10 กรกฎาคม 2566 ปริมาณ 17,223 ตัน คิดเป็นร้อยละ 32.09 "

ด้านนายสินชัย พึ่งตำบล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ กล่าวว่าการทำฝนหลวงหรือฝนเทียมนั้นมีปัจจัยองค์ประกอบหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความชื้น กำลังลม และข้อจำกัดของพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่แคบ เมื่อทำฝนเทียมแล้วคนชอบพูดว่าฝนไปตกในทะเลหมด ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เราจึงต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมเพื่อทำให้ฝนตกในพื้นที่ให้ได้ เพื่อท้องฟ้าจะได้มีความชื้น และจะทำฝนเทียมง่ายขึ้นในวันต่อๆไปด้วย

นายสินชัยกล่าวถึงห้วงระยะเวลาในการทำฝนเทียมว่า ได้รับมอบหมายจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและอธิบบดีกรมฝนหลวงว่าให้อยู่ปฏิบัติการทำฝนหลวงจนกว่าจังหวัดชุมพร ฝนจะตกและพ้นวิกฤติภัยแล้ง.

นายพงษ์ศักดิ์ฏา รังวิเรนทร์ อายุ 44 ปี เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ตำบลท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร บอกว่าตนเอง ปลูกทุเรียนไว้ ในพื้นที่ 4 ไร่ มากกว่า 100 ต้น ทุเรียนอายุ 3 ปี ซึ่งปีหน้าก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่ในปีนี้กลับประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักซึ่งตั้งแต่ตนเองเกิดมาก็เพิ่งจะเคยเจอในปีนี้ ที่ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ต้นทุเรียนที่กำลังแตกใบอ่อนทรงพุ่มที่สวยงามกลับค่อยๆแห้งเหี่ยว ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากฝนไม่ตก และไม่มีน้ำรด เนื่องจากน้ำในสระที่กักเก็บไว้ก็ได้ใช้จนหมดเพราะฝนไม่ตกมาเป็นระยะ เวลากว่า 5 เดือน จนตนเองมองว่า หากปล่อยอยู่แบบนี้ต้นทุเรียนต้องตายหมดอย่างแน่นอน จึงได้ออกไปซื้อน้ำและสูบน้ำ ตามแหล่งน้ำเพื่อมาหล่อเลี้ยงต้นทุเรียน ให้สามารถอยู่ได้

นายพงษ์ศักดิ์ฏา กล่าวว่ายังถือว่าโชคดีอยู่บ้างช่วงนี้มีฝนตกลงมาแม้จะไม่มากนัก แต่อยู่ยังถือว่าต่อชีวิตต้นทุเรียนให้กลับฝื้นคืนมาได้บ้างไม่ยืนต้นตายทั้งหมด แต่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำก็ยังมีไม่มากนัก

นายพงษ์ศักดิ์ฏา กล่าวต่อว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ตนเองมองว่ายังคงประสบภัยแล้งต่อไปอีกอย่างแน่นอน ตนเองมองว่าในอนาคตใครคิดจะทำสวนต้องวางแผนในเรื่องแหล่งน้ำด้วย สามารถกักเก็บน้ำ ไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งส่วนตัวตนเองมองว่าคงต้อง เจาะบ่อบาดาล และสระปูผ้ายาง เพื่อเก็บน้ำไว้ให้เพียงพอในช่วงวิกฤติภัยแล้ง

ด้าน นายพิทักษิณ สุขแก้ว อายุ 56 ปี เกษตรกรในตำบลเขาค่าย อ.สวี จ.ชุมพร เปิดเผยว่า เกษตรกรชาวสวน ประสบความเดือดร้อนครั้งรุนแรงที่สุด หลังจากที่ฝนทิ้งช่วงไม่ตกลงมาตามฤดูกาล มากว่า 4 เดือนแล้ว ทำให้แหล่งน้ำของเกษตรกรเองที่ขุดกักเก็บไว้หมดลง ประกอบกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ไม่ว่า ห้วย หนอง คลอง บึง ก็แห้งเหือดลงจนเหลือน้ำให้เห็นตามแอ่งต่างๆในแต่ละจุด ทำให้เกษตรกรชาวสวน โดยเฉพาะชาวสวนทุเรียน ต่างก็นำรถกระบะ หรือ รถ 6 ล้อ บรรทุกถังน้ำ มาดูดน้ำในแอ่งน้ำกัน เพื่อจะนำไปรดต้นทุเรียน ซึ่งขณะนี้ มีความจำเป็นอย่างสูง เนื่องจาก ผลผลิตกำลังออกสู่ท้องตลาดอีกไม่ถึงสองเดือน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตราดแล้งหนัก พื้นที่ปลูกทุเรียน-มังคุด อ.เขาสมิง ขาดน้ำช่วงใกล้เก็บผลผลิต

สถานการณ์การขาดแคลนน้ำทั้งในคลองสาธารณะและอ่างน้ำส่วนตัวของเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในอำเภอเขาสมิง จ.ตราด กำลังได้รับความเสียหายแล้ว เกษตรกรตื่นตัวหาน้ำสำรอง

ผบช.ภ.8 แถลงปิดคดีอุ้มฆ่าฝังอำพรางศพ 'เสี่ยบ่อนไก่ชุมพร' จับได้ทั้งแก๊ง

ผบช.ภ.8 แถลง ปิดคดี “โกหมาด” เสียบ่อนไก่ชุมพร ได้ทั้งแก๊งอุ้มฆ่า แก๊งค้ารถเถื่อนข้ามชาติ เผย “สมชัย” หัวหน้าทีม หลังก่อเหตุโหดอุ้มฆ่าฝังอำพรางศพ ยังขับรถผู้ตายด้วยตนเองไปส่งมอบขายให้กับแก๊งค้ารถเถื่อนข้ามชาติที่กรุงเทพฯ ราคา 4.5 แสน แล้วนั่งเครื่องบินกลับบ้านที่นครศรธรรมราช

อ่างเก็บน้ำโคราช 27 แห่ง เหลือน้ำเพียง 42% 'ผู้ว่าฯชัยวัฒน์' วอนงดทำนาปรัง

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำกินน้ำใช้ในพื้นที่เขตเมืองนั้นมีระบบประปาอยู่2ระบบคู่กัน ระบบที่ 1 ของเทศบาลนครนครราชสีมามีโรง

ตร.ไซเบอร์ บุกรวบ 'เจ๊จ๋า' เจ้าแม่เงินกู้ดอกโหดร้อยละ 4 ต่อวัน ครอบครองอาวุธปืน

“ลูกหนี้ “ร้องตำรวจไซเบอร์บุกจับ “เจ้จ๋า” เจ้าแม่เงินกู้ดอกโหด ร้อยละ 4 บาทต่อวัน 120 บาทต่อเดือน พร้อมยึดหลักฐานรายชื่อลูกหนี้เพียบ