พปชร.กับศึกเลือกตั้งที่รออยู่ วันที่ สมรภูมิรบไม่เหมือนเดิม

หลายพรรคการเมืองเวลานี้ เซตจังหวะการเมืองของตัวเองเพื่อเตรียมเข้าสู่สนามเลือกตั้งกันคึกคัก ทั้งการซุ่มยกร่างนโยบายพรรคเพื่อไว้หาเสียงตอนเลือกตั้ง-การคัดเลือกตัวผู้สมัครส.ส. แต่เรื่องนี้จะคึกคักมากขึ้น เมื่อสัญญาณการเมืองชัดมากขึ้นว่าจะเลือกตั้งตอนไหน ที่รับรองว่าถึงฤดูกาล ได้เห็นการย้ายค่าย-ย้ายพรรคคึกคักแน่นอน ตลอดจนหลายพรรคก็ลงพื้นที่หาคะแนนเสียง สร้างคะแนนนิยมกันแทบทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะพรรคตั้งใหม่ ที่ต้องเร่งสปีดเพื่อทำให้ประชาชนรู้จัก

เหลียวมองไปที่ พลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล ที่มี ส.ส.ในสภาฯเป็นอันดับ 2 พบว่า ที่ผ่านมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ก็มีการเซตทีมแกนนำพรรคเพื่อรองรับการเลือกตั้งไว้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวางแผนงานด้านต่างๆ ของพรรค เช่น การให้แกนนำพรรคจัดเตรียมยกร่างนโยบายพรรคที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น

โดยเมื่อจับจังหวะการขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ “ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐและหัวหน้าทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ” ให้ความเห็นเรื่อง สถานการณ์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจว่า การเมืองปัจจุบัน ทุกพรรคการเมืองคงเห็นข้อมูลไม่ต่างกับเราว่า “สมรภูมิรบไม่เหมือนเดิม” เราจะไปคิดว่าเราจะวางกลยุทธ์ในการเลือกตั้งเหมือนปี 2562แล้วจะได้ผลเหมือนเดิม ไม่ใช่ เพราะอย่างการเลือกตั้งปี 2562 กับการเลือกตั้งปี 2554 ก็ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง เพราะว่าผู้เล่น พรรคการเมืองในระบบเปลี่ยนแปลง

...เมื่อปี 2554 มีพรรคที่แย่งคะแนนกันหลักๆ อยู่แค่ 2 พรรค และใช้บัตร 2 ใบ แต่ตอนเลือกตั้งปี 2562 ใช้ระบบบัตรใบเดียว และการเลือกตั้งรอบหน้า ก็กลับมาใช้บัตร 2 ใบ แต่หากจะบอกว่าให้กลับไปทำแบบตอนปี 2554 ยังไง ผลก็ไม่เหมือนเดิม เพราะปี  2554 สู้กันอยู่ 2 พรรคหลักๆ คือ ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ที่พบว่า 15 ล้านเสียงเลือกเพื่อไทย ส่วน 11 ล้านเสียง กาเลือกประชาธิปัตย์ ส่วนคะแนนที่เหลือก็กระจายไปยังพรรคต่างๆ ที่ ณ วันนั้น ไม่มีพลังประชารัฐ ไม่มีพรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกลในวันนี้

 “ศ.ดร.นฤมล” กล่าวต่อไปว่า พอมาปี 2562 เกิดพลังประชารัฐ เกิดพรรคเล็กต่างๆ ขึ้นจากบัตรใบเดียว ที่เราจะเห็นได้ว่า คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์จาก 11 ล้านคะแนน ตอนเลือกตั้งปี 2562 เหลือ 3.9 ล้านเสียง  หายไปไหน ถ้ามองดูเร็วๆ คะแนนมาที่พลังประชารัฐที่เกิดใหม่ ส่วนของเพื่อไทยจาก 15 ล้านกว่าเหลือ 7,800,000 คะแนน โดยคะแนนก็ไปที่พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ประมาณ  6 ล้านกว่า

...คือถ้าแบ่งฝั่งจริงๆ แทบไม่ต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่ คือมันประมาณครึ่งๆ ของประชากร อย่างคนมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง สมมุติประมาณ 33-35 ล้านคน สักครึ่งหนึ่งก็จะเป็นฝั่งเพื่อไทยและครึ่งหนึ่งก็เป็นส่วนที่เหลือ ก็จะแบ่งกันอย่างนี้ ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 ก็แทบไม่ต่างจากเดิม ถ้าเราเอาคะแนนก้อนเหล่านี้รวมกันมันก็ครึ่งๆ คล้ายเดิม แต่ปีใดก็ไม่รู้ที่จะเกิดการเลือกตั้งครั้งหน้า ภาพที่เห็นมันจะซอยย่อยยิ่งกว่าเดิม เพราะพรรคฝั่งนี้ที่บอกว่าจะแลนสไลด์ก็ไม่ง่าย ไม่ใช่โจทย์ที่่ง่ายสำหรับเขา เพราะวันนี้นอกจากจะมีพรรคก้าวไกลมาแชร์ไปแล้ว  ยังเกิดไทยสร้างไทย มีพรรคเสรีรวมไทย และอีกหลายพรรคที่จะมาแชร์ตรงนี้ไปเช่นเดียวกัน เราก็นำข้อมูลเหล่านี้ให้หัวหน้าพรรค ซึ่งท่านก็อยากให้ทุกคนในพรรคได้ดูและคิดกันให้รอบคอบ เพื่อให้เห็นภาพว่ากระจายตัวยังไงในแต่ละภาค เพื่อที่จะกำหนดกลยุทธ์ในแต่ละภาคที่เหมาะสม แต่โจทย์มันยาก

“ดร.นฤมล แกนนำพรรคพลังประชารัฐ” วิเคราะห์ว่า ขณะนี้เอาแค่ภาพรวมก่อน เมื่อผู้เล่นเยอะขึ้น ตัวหารเยอะขึ้น วันนี้ฟากฝั่งไม่ใช่มีแค่พลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์อย่างเดียวแล้ว ยังมีอาทิเช่น พรรคสร้างอนาคตไทย-พรรคเศรษฐกิจไทย-พรรคกล้า-พรรคไทยภักดี-รวมพลัง-ไทยสร้างสรรค์ ตามชื่อที่ปรากฏในข่าว ก็ร่วม 8 พรรคเข้าไปแล้ว ฝั่งเขาก็เช่นเดียวกันจากเดิมมีแค่เพื่อไทย ก็มีพรรคก้าวไกล-พรรคเสรีรวมไทย-ไทยสร้างไทย-พรรคโอกาสไทย แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นถึงได้ใช้คำว่า สมรภูมิรบมันไม่เหมือนเดิม เราจะคิดอยู่บนกรอบกลยุทธ์เดิม ไม่ได้แล้ว เพราะท้ายที่สุดอย่างที่บอกคนไทยครึ่งๆ ของสองฝ่าย การที่จะย้ายฝั่งคิดว่าง่ายหรือไม่ ข้อมูลมันค่อนข้างชัดว่าเอาแค่การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 กับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จะพบว่ากลุ่มประชาชนสองฝ่ายแทบไม่เปลี่ยน อยู่ฝ่ายไหนก็เลือกฝ่ายนั้น มันอาจจะมีบ้าง แต่สัดส่วนไม่เยอะที่จะย้ายฝั่ง ดังนั้นที่บอกกันว่าจะทำกลยุทธ์ในการเลือกตั้งที่จะไปช่วงชิงคะแนนจากฝ่ายตรงข้าม มันไม่ง่าย ท้ายที่สุดผลลัพธ์จะเป็นการชิงคะแนนกันเอง

"ในภาพใหญ่เราก็ต้องมองเหมือนกันว่าจะเกิดการรวมพลังได้อย่างไร เพราะต้องบอกตรงๆ ว่า จากเดิมที่แยกกันออกไป ก็มาจากที่เดียวกันมาก่อน ตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เรามีพลัง เพราะว่าเกิดจากการรวมพลังกันของหลายฝ่ายเข้ามา แต่พอแตกออกไป แล้วก็มาแชร์คะแนนกันเอง

 เราเองก็พูดตรงๆ ในที่ประชุมพรรคว่าเราก็จะแยกย้ายกันไปพ่ายแพ้ และบาดเจ็บ หากว่าสู้กันแบบนี้ ต้องยอมรับความจริงอันนี้ แต่อันนี้ก็นอกเหนือไปจากสิ่งที่เราจะบอก เช่น บอกว่าต้องกลับมารวมกัน อันนี้ก็นอกเหนือไปจากสิ่งที่เราจะพูดได้ แต่ผลลัพธ์จะเป็นแบบนี้จริงๆ หากเรามองไปข้างหน้า โจทย์นี้ ถ้าไม่แก้อะไร แล้วเดินไปแบบนี้ ฝ่ายนี้ก็จะแชร์คะแนนกัน"

โดยข้อมูลความเห็นดังกล่าวของ ดร.นฤมล มีข่าวว่าได้ถูกนำเสนอความเห็นต่อที่ประชุมแกนนำ พปชร.ที่มีพลเอกประวิตร นั่งหัวโต๊ะ โดยเฉพาะหลัง พปชร.ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในสนามเลือกตั้ง กทม.ที่ได้ ส.ก.มาแค่ 2 คน

 จึงน่าจับตาว่าแล้ว พลังประชารัฐ จะมีการเตรียมพร้อมกับศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอย่างไร เพราะจะพบว่า พรรคการเมืองคู่แข่ง ทั้งพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ที่พอถึงเวลาเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ต่างฝ่ายต่างก็ต้องสู้กันเต็มที่ แล้วในส่วนของพลังประชารัฐ จะมีกลยุทธ์ หมัดเด็ดอะไร เตรียมไว้ทำศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือยัง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...

'ทักษิณ-โจ๊ก'ย่ามใจ! จุดจบเส้นทาง'สีเทา'

ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ เดินทางมาร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และ สส.ของพรรค ร่วมรับประทานอาหารกับนายทักษิณอย่างคึกคัก

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร