ส่องสมรภูมิ ส.ส.ด้ามขวาน 3 พรรคใหญ่รัฐบาลหารกันเอง

ก่อนหน้านี้หลายคนจับจ้องไปที่การห้ำหั่นกันในพื้นที่ภาคอีสาน ระหว่าง 2 พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ซึ่งมีฐานมวลชนเกือบจะกลุ่มเดียวกัน 

แต่อีกภาคที่น่าจะเข้มข้นไม่แพ้กันคือ พื้นที่ภาคใต้ ที่คู่แข่งคนสำคัญล้วนแต่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันทั้งสิ้น ที่สำคัญมีมากกว่า 2 พรรค 

โดยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองจำนวน 5 พรรค ที่สามารถพาผู้แทนเข้าสภาได้ ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชาติ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย 

พรรคประชาธิปัตย์กวาด ส.ส.ได้มากที่สุด 22 ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐได้ 13 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 8 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 6 ที่นั่ง และพรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ที่นั่ง  

กรณีดังกล่าวไม่นับรวมการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคพลังประชารัฐสามารถเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ได้  

อย่างไรก็ดี แม้ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์จะคว้า ส.ส.เป็นอันดับที่ 1 ของภาค แต่การเหลือเพียง 22 ที่นั่ง ถือว่าสร้างความเสียหายอย่างมาก ถูกพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย แบ่ง ส.ส.ไปเกือบ 20 ที่นั่ง  

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ ในเงื้อมมือของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค หมายมั่นปั้นมือจะทวงคืนความยิ่งใหญ่กลับมายืนหนึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานพื้นที่ภาคใต้แบบวันวาน  

พรรคประชาธิปัตย์ทุ่มทุกสรรพกำลังในการดูแลเรื่องสินค้าทางการเกษตรของภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นยางพารา น้ำมันปาล์มให้มีราคาสูง อาศัยความได้เปรียบในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค เคยให้สัมภาษณ์ในลักษณะว่า ภาพรวมการเลือกตั้งครั้งหน้าตัวเองรับผิดชอบ แม้ไม่ได้บอกตรงๆ แต่เหมือนส่งซิกว่า จะไม่ล้มเหลวเละเทะแบบครั้งก่อนแน่  

แต่ในขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ อยู่ในอาการกำลังได้ใจ จากการคว้าเก้าอี้ ส.ส.กว่า 10 ที่นั่ง ทั้งที่ไม่ได้อัดกระสุนดินดำลงไปมากเมื่อปี 2562 ประกอบกับชัยชนะเลือกตั้งซ่อมที่เมืองคอน ก็วาดหวังจะสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของภาคใต้แบบเบ็ดเสร็จ  

จะเห็นว่า บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค หรือแม้แต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค ต่างให้ความสำคัญกับภาคใต้อย่างมาก ด้วยการลงทำพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

เริ่มมีการวางยุทธศาสตร์ จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองตามพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บิ๊กป้อม พร้อมกับคณะ ส.ส.ต่างยกขบวนกันไปเปิดสาขาพรรคกันที่ จ.นราธิวาส 

นอกจากนี้ยังมีแพลนที่จะเปิดสาขาพรรคการเมืองตามจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้อีกหลายแห่ง เพื่ออัปเกรดให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น 

มีการเซตตัวบุคคลเอาไว้สำหรับการต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ คู่แข่งเบอร์ 1 ในดินแดนด้ามขวาน ดังจะเห็นการปรากฏตัวของ นายอนุมัติ อาหมัด ที่เพิ่งลาออกจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ไปขนาบข้าง บิ๊กป้อม ระหว่างลงพื้นที่ จ.นราธิวาส 

สำหรับ อนุมัติ เป็นนักธุรกิจไทย มีเชื้อสายปากีสถาน เป็นที่รู้จักกันดีใน จ.สงขลา เคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.สงขลา เมื่อปี 2557 กระทั่งมีการรัฐประหาร จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนจะลาออกไปช่วยพรรคพลังประชารัฐทำศึกเลือกตั้งในภาคใต้ตอนล่าง เมื่อปี 2562 

การกลับมาพรรคพลังประชารัฐ ของ อนุมัติ ถูกมองว่าต้องการเอามาต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สงขลา ที่มี นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เจ้าถิ่น ผู้สายป่านยาวเหยียดยืนจังก้าอยู่ 

แต่ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญของพรรคพลังประชารัฐอยู่ที่ว่าจะเอาใครนำ เพราะมีเสียงสะท้อนจากในพื้นที่ภาคใต้หลายแห่งเหมือนกันว่า หากไม่ใช่ บิ๊กตู่ ก็ไม่เอา ต่อให้เป็น บิ๊กป้อม หรือ ธรรมนัส ก็ตาม 

ด้านฟากฝั่ง พรรคภูมิใจไทย  ของ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.
สาธารณสุข หัวหน้าพรรค คราวที่แล้วถือว่ากำไรมากกับการล้มเสาไฟฟ้าของพรรคประชาธิปัตย์ในหลายพื้นที่ได้หลายต้น ไม่ว่าจะเป็น พัทลุง ระนอง กระบี่ สตูล สงขลา ครั้งนี้ยังมีแม่ทัพคนเดิมผู้พาพรรคสีน้ำเงินชูธงในภาคใต้ได้อย่าง นาที รัชกิจประการ ภรรยาของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา  

ครั้งหน้าพรรคภูมิใจไทยหวังเซฟฐานที่มั่นเดิมที่ไปเจาะมาได้ กับการบวกเพิ่มอีกนิดหน่อย เพราะรู้ว่า การแข่งกับ 2 พรรคใหญ่ในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์มันไม่ง่าย  

อย่างไรก็ดี พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ตอนนี้อาจจะดูรักกัน ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่จับตาดูให้ดี ทันทีที่ปี่กลองเลือกตั้งดัง มีสัญญาณชัดเจน เป็นอีกสนามที่เดือดไม่แพ้ภาคอื่น  

ขนาดตอนนี้แค่ลือว่าจะยุบสภา ยังแทบไม่ให้อีกฝั่งตีกินทำคะแนนนำ แข่งกันลงพื้นที่ภาคใต้กันแทบจะทุกสัปดาห์อยู่แล้ว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้