กลิ่นอาย‘วัดพลัง’ก่อนคำวินิจฉัยปม8ปี ถอดรหัสเริ่มนับ60‘รอด’ที่เหมือน‘ไม่รอด’

ในช่วงระหว่างรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สถานการณ์การเมืองอาจดูไม่เขม็งเกลียว 

ขั้วตรงข้ามไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นิ่งอยู่ในที่ตั้งเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะของการกดดันศาลหรือกดดันรัฐบาล จะมีเพียงการออกมาแสดงความเห็นทางกฎหมายในทางลบต่อ "บิ๊กตู่" ซึ่งถือเป็นปกติ  

แต่ความน่าสนใจกลับไปอยู่ภายในรัฐบาลเอง ที่วันนี้ถูกมองว่ากำลังเปิดศึกวัดพลังกันระหว่างขั้วของ "บิ๊กตู่" กับขั้วของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี 

เอกสารคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่สาระสำคัญคือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "บิ๊กตู่" ต้องเริ่มนับในปี 2560 ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบังคับใช้ ซึ่งหลุดออกมาสู่สายตาคนภายนอกในช่วงต้นสัปดาห์ 

คำชี้แจงของนายมีชัยทำให้เกิดปฏิกิริยาเป็น 2 แบบ แบบแรกคือ ฝ่ายที่อยากให้ "บิ๊กตู่" อยู่ต่อเกิดความมั่นใจ แต่ขณะเดียวกันทำให้ฝ่ายที่ต้องการอยากเห็น "บิ๊กตู่" หลุดจากตำแหน่ง หาข้อโต้แย้งเพื่อดิสเครดิตคำชี้แจงของนายมีชัย 

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องบันทึกการประชุมของ กรธ. ที่นายมีชัยได้ระบุในคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า บันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ที่ระบุถึงคำกล่าวของนายมีชัยที่ว่า ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยนั้น ซึ่งนายมีชัยชี้แจงว่า เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด กรธ.ยังไม่ได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมดังกล่าว เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย  

ซึ่งต่อมามีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 501 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ที่นายมีชัยเป็นประธานการประชุม โดยในระเบียบวาระที่ 2 รับรองบันทึกการประชุมได้ระบุว่า กรธ.มีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 497 วันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2561 ถึงครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้วโดยไม่มีการแก้ไข  

ฝ่ายนี้พยายามชี้ให้เห็นว่าคำชี้แจงของนายมีชัยต่อศาลรัฐธรรมนูญขัดแย้งกับข้อความในบันทึกการประชุมดังกล่าว 

เอกสารสำคัญ 2 ฉบับถูกเผยแพร่ออกมาเพื่อหักล้างกันในเวลาไล่เลี่ยกัน มันทำให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องระหว่าง ผู้มีอำนาจ กับ ผู้มีอำนาจ มากกว่าจะเป็นจากขั้วตรงข้าม 

โดยเฉพาะเอกสารคำชี้แจงของนายมีชัย มันสามารถอยู่ในมือของคนไม่กี่คนเท่านั้น นายมีชัยกับศาลรัฐธรรมนูญมีแน่นอน เป็น ผู้ส่ง กับ ผู้รับ อยู่ที่ว่ามันหลุดที่ใคร แล้วหลุดแบบตั้งใจหรือไม่ 

แต่หากไม่ได้หลุดจากนายมีชัยและศาลรัฐธรรมนูญ คำถามคือ แล้วยังมีใครที่มีเอกสารฉบับนี้อีกได้ ซึ่งไม่น่าจะใช่คนที่ไม่มีอำนาจ เพราะเป็นเอกสารสำคัญ  

ที่ผ่านมาจะเห็นเอกสารเหล่านี้ได้ต่อเมื่อมีการตั้งใจเปิดเผยจากคนที่ส่งคำชี้แจงให้ศาลเอง เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบเท่านั้น 

เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำลังตรวจสอบว่าเอกสารคำชี้แจงหลุดรั่วออกมาได้อย่างไร  

นอกเหนือจากการตรวจสอบที่มาที่ไป สิ่งที่น่าสนใจขณะนี้คือ คำหักล้างคำชี้แจงของนายมีชัยจากภายนอกกำลังได้รับการต่อยอด 

เพราะศาลกำลังหยิบประเด็นที่คนภายนอกกำลังถกเถียงกันไปพิจารณา โดยเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งมีวาระการประชุม รับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้วโดยไม่มีการแก้ไข  

โดยศาลให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันอังคารที่ 13 กันยายน 2565 และกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 14 กันยายน 2565  

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันที่ 14 กันยายน แต่โอกาสที่จะคำวินิจฉัยในวันนั้นเลยค่อนข้างน้อย เพราะศาลเพิ่งได้รับเอกสารจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพียง 1 วัน ยกเว้นเสียแต่ว่าเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งเอกสารไปให้ศาลรัฐธรรมนูญก่อนกำหนด ถึงมีโอกาสลุ้นในวันที่ 14 กันยายนเลย 

อย่างไรก็ดี เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ "บิ๊กตู่" ถูกจับจ้องเป็นอย่างมากว่า เป็นการต่อสู้กันระหว่างคนที่อยากให้ "บิ๊กตู่" อยู่ กับคนที่อยากให้ "บิ๊กตู่" ไป และต่างเป็นคนที่มี "เพาเวอร์" ทั้งคู่ 

เพราะระดับคำชี้แจงจากนายมีชัย ในฐานะประธาน กรธ.ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญมากับมือ ยังถูกลดทอนน้ำหนัก ซึ่งถือเป็นเกมที่แรงพอสมควร ทำให้โอกาสรอด-ไม่รอดของ "บิ๊กตู่" ยังอยู่ที่ 50/50 ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ที่สามารถมั่นอกมั่นใจได้แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ 

และขณะเดียวกันยังมีการมองกันอีกว่า ต่อให้ท้ายที่สุดคำชี้แจงของนายมีชัย ที่ให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของ "บิ๊กตู่" เริ่มที่ปี 2560 ก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อตัว "บิ๊กตู่" สักเท่าไหร่นัก 

จะดีแค่เพียงยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบเทอมได้ ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกอย่างที่ตั้งใจ และได้มีโอกาสถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะเหลือโควตาอีก 2 ปี 

แต่โควตา 2 ปีตรงนี้จะกลายเป็นข้อเสียเปรียบของ "บิ๊กตู่" หากมีขบวนการสกัดกั้นไม่ให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะของพรรคพลังประชารัฐ 

หากสังเกตเห็นในช่วงที่ "บิ๊กตู่" ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จะพบว่ามีความพยายามโปรโมต "บิ๊กป้อม" ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีอย่างออกนอกหน้านอกตาเป็นพิเศษ 

มีความพยายามโชว์ศักยภาพความเป็นผู้นำในตัว "บิ๊กป้อม" ไม่ว่าจะในมิติของพี่น้อง มิติของผู้บังคับบัญชา ว่ามีครบเครื่องไม่แพ้ "บิ๊กตู่" 

มีการปรับภาพลักษณ์ของ "บิ๊กป้อม" จากที่ต้องคอยมีคนประคองตอนเดิน กลับมีพละกำลังและเรี่ยวแรงในช่วงเป็นรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี 

ในการลงพื้นที่แต่ละครั้งมีประชาชนมาคอยรอต้อนรับ มอบดอกไม้และโอบกอดไม่ต่างอะไรกับตอน "บิ๊กตู่" ลงพื้นที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี 

ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองดูนิ่งสงบ ไม่มีม็อบ ไม่มีการชุมนุม ต่างจากเมื่อตอน "บิ๊กตู่" ยังปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอยู่ 

มีความพยายามที่จะสื่อออกมาให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่มี "บิ๊กตู่" ก็อยู่ได้ เพราะ "บิ๊กป้อม" สามารถทำหน้าที่แทนได้เหมือนกัน   

การทำแบบนี้อาจไม่ได้แค่หวังผลเฉพาะการขึ้นมาแทน "บิ๊กตู่" ทันทีในช่วงระยะเวลาที่เหลือกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ "บิ๊กตู่" หลุดจากตำแหน่งเท่านั้น แต่อาจจะมองข้ามช็อตไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า 

เพราะต่อให้ "บิ๊กตู่" สามารถไปต่อได้ แต่ระยะเวลา 2 ปีที่เหลือจะเป็นข้อจำกัดในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะถึงแม้ชนะเลือกตั้งและกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่จะสามารถบริหารได้เพียง 2 ปีเท่านั้น 

ในแง่ของการหาเสียง จุดนี้ย่อมถูกคู่แข่งในสนามเลือกตั้งนำไปดิสเครดิตได้ว่า หากเลือก "บิ๊กตู่" จะทำงานได้แค่ระยะสั้นๆ ไม่ต่อเนื่อง และอาจจะเสียงบประมาณแผ่นดินในการจัดการเลือกตั้งใหม่อีก 

ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐที่เห็นว่าเข็น "บิ๊กตู่" ลำบากอยู่แล้ว จะใช้เป็นข้ออ้างในการผลักดันคนอื่นเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งคนคนนั้นคือ "บิ๊กป้อม" ที่เห็นกันแล้วว่าสามารถเป็นผู้นำได้ 

และขบวนการสกัด "บิ๊กตู่" จะเกิดขึ้นอีกครั้ง 

ดังนั้น ต่อให้ "บิ๊กตู่" รอดมาได้ แต่ก็ไปลำบาก ทางข้างหน้ามีแต่ขวากหนามที่ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายตรงข้ามที่วางเอาไว้ แต่รวมถึงฝ่ายตัวเองด้วย 

หากรอดปม 8 ปีได้ คงเป็นแค่การให้กลับมาสานงานต่อให้เสร็จ ในขณะที่ถึงวันนั้น ตัว "บิ๊กตู่" เองอาจจะเปลี่ยนใจและเลือกที่จะวางมือก็เป็นได้. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...

'ทักษิณ-โจ๊ก'ย่ามใจ! จุดจบเส้นทาง'สีเทา'

ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ เดินทางมาร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และ สส.ของพรรค ร่วมรับประทานอาหารกับนายทักษิณอย่างคึกคัก