ถนนเลือกตั้งทางโล่ง เหลือแค่ "บิ๊กตู่" เลือก ยุบสภา-อยู่ครบเทอม

คาดได้ว่าหลังจากนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคที่มี ส.ส.อยู่ในสภาฯ ชุดปัจจุบัน และพรรคตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นหลายพรรคก่อนหน้านี้ จะขยับตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งมากขึ้นไปอีก เพราะจากเดิมก็ขยับกันคึกคักอยู่แล้ว แต่จะเร่งสปีดในการเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งมากขึ้นนับจากนี้

 เพราะตอนนี้ถือว่า ถนนไปสู่การเลือกตั้ง ทางสะดวกมากขึ้นเรื่อยๆ หลังองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านฉลุยในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะร่างสำคัญคือร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียว เมื่อวันพุธที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่าร่างดังกล่าวที่มีประเด็นสำคัญคือ หาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ทำให้หลังจากนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็จะส่งทั้งร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ไปให้ ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา จากนั้นประธานรัฐสภาก็ส่งต่อไปให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้นายกฯ นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป และขั้นตอนต่อไปก็รอให้มีการโปรดเกล้าฯ ลงมาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยหลังมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ก็เท่ากับกฎหมายมีผลบังคับใช้

ซึ่งหากหลังจากกฎหมายประกาศใช้แล้ว หาก บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี จะ ยุบสภา เพื่อนำไป สู่การเลือกตั้งทั่วไปตามกติกาใหม่ ก็สามารถยุบสภาได้ทันที เพราะมีกฎหมายรองรับแล้ว หรือจะลากยาวให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม 4 ปี ไปถึง 23 มีนาคม 2566 เพื่อไปจัดเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค.2566 ตามโรดแมปที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเคยปักหมุดไว้ก็ย่อมได้อีกเช่นกัน

โดยการยุบสภาฯ หรือจะอยู่ครบเทอม จะมีตัวแปรสำคัญที่สำคัญคือ พลเอกประยุทธ์ และแกนนำฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ที่พลเอกประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผู้จัดการรัฐบาล บอกว่า ทั้ง 2 พรรค คือพรรคเดียวกัน จะต้องคิดกันว่า จะเลือกตัดสินใจแบบไหนที่จะทำให้พรรคฝ่ายขั้วรัฐบาลได้เปรียบทางการเมืองมากที่สุดระหว่างยุบสภาฯ กับอยู่ครบเทอม

เพราะแม้การอยู่เป็นรัฐบาลไปเรื่อยๆ โดยเป็นรัฐบาลคุมอำนาจรัฐ และระหว่างทางก็จัดวางขุมกำลัง-ขุนพลทำศึกเลือกตั้ง โดยทำไปพร้อมๆ กับจัดเตรียมเรื่องกระสุนดินดำ-ค่าใช้จ่ายเลือกตั้งให้พร้อมมากที่สุด แล้วไปเลือกตั้งหลังสภาฯ ครบเทอม ที่จะไปเลือกตั้ง 7 พ.ค.2566 ที่หากเลือกสูตรนี้จะทำให้พรรคการเมืองฝ่ายขั้วรัฐบาลมีเวลามากขึ้นในการเตรียมการเลือกตั้งอย่างน้อยนับจากนี้ก็อีกร่วม 6 เดือน และยังเป็นรัฐบาลรักษาการไปได้อีกอย่างน้อยก็ 2 เดือน ในช่วงหลังเลือกตั้ง เพื่อรอให้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งของ ส.ส.แต่ละคน จนไปถึงต้องอยู่จนถึงจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ และต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่หลังแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่ก็กินเวลาอีกร่วม 2 เดือน ทำให้ยังสามารถเป็นรัฐบาลได้อีกร่วมๆ 8 เดือน หากเลือกที่จะขออยู่ครบเทอม

แต่สำหรับ นักเลือกตั้ง-นักยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง บางคนก็อาจเห็นต่าง คือ มองไกลมากกว่ามองใกล้ โดยจะมองว่าการเป็นรัฐบาลแค่ 7-8 เดือน โดยเฉพาะการเป็นรัฐบาลรักษาการ เทียบไม่ได้กับการลงสู้ศึกเลือกตั้งในสภาพที่พร้อมมากที่สุด จึงทำให้นักเลือกตั้งฝ่ายขั้วรัฐบาลกลุ่มนี้อาจอยากให้นายกฯ ยุบสภาฯ ก็ได้ หากเห็นว่าพร้อมแล้ว และกระแสรัฐบาลถึงจุดพีกที่สุดในช่วงที่อยากให้นายกฯ ยุบสภาฯ เพราะประเมินว่า หากเลือกตั้งช้าไปกว่านี้ หรือไปเลือกตั้งเอาตอนเดือน พ.ค.2566 กระแสรัฐบาลอาจตกลงได้ จึงน่าจะยุบสภาฯ แล้วเลือกตั้งสักช่วงมีนาคม-เมษายนจะดีที่สุด

นักเลือกตั้งในปีกขั้วพรรคร่วมรัฐบาลที่เห็นด้วยกับแนวนี้ คืออยากให้ยุบสภาฯ ไม่อยากให้ลากยาวจนครบเทอม ก็อาจเรียกร้องหรือส่งซิกความเห็นดังกล่าวเป็นการภายใน ให้พลเอกประยุทธ์ยุบสภาฯ ก็ได้ ถ้าเห็นว่ายุบสภาฯ แล้วเลือกตั้งช่วงดังกล่าว จะดีกว่าลากยาวไปครบเทอม

ผนวกกับการจะยุบสภาฯ หรืออยู่ครบเทอม ยังต้องคิดเรื่องปัจจัยข้อกฎหมายเรื่อง การสังกัดพรรคการเมือง ของคนที่จะลงสมัคร ส.ส.ด้วย เพราะหากเป็นกรณีอยู่ครบเทอม 4 ปี ต้องสังกัดพรรคที่ลงเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง แต่หากยุบสภาฯ จะเหลือแค่ 30 วันจนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่ง 30 วันดังกล่าว นักเลือกตั้งจากพรรคขั้วรัฐบาลอาจมองว่า จะช่วยในเรื่องการดึงตัว-หาตัวผู้สมัครให้กับพรรคฝ่ายขั้วรัฐบาลได้เปรียบมากที่สุด โดยเฉพาะกับกรณีการดูด ส.ส.-นักเลือกตั้งข้ามพรรคข้ามขั้ว เพราะเงื่อนไข 30 วัน ทำให้เกิดความคล่องตัวในการเจรจา-ต่อรอง และจัดวางขุมกำลังการส่งคนลงเลือกตั้งจนถึงเส้นตายสุดท้าย ที่คล่องตัวมากกว่า 90 วันแต่ทั้งหมดก็อยู่ที่การตัดสินใจของ พลเอกประยุทธ์ ในฐานะผู้มีอำนาจตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียวว่าจะยุบสภาฯ หรืออยู่ครบเทอม

เพราะก็มีความเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์อาจจะขออยู่ครบเทอม ส่วน ส.ส.-นักการเมือง ที่จะย้ายพรรคจากปัจจุบัน โดยเฉพาะพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ ที่ย้ายสังกัดไปอยู่ที่ รวมไทยสร้างชาติ ที่ในแวดวงการเมืองเรียกกันว่า พรรคลุงตู่ หลายคนที่มีข่าวจะมาที่รวมไทยสร้างชาติ ส่วนใหญ่ก็ต้องรู้ข่าว อินไซด์ การตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ ในช่วงจังหวะสำคัญการเมืองหลังจากนี้แล้วว่า พลเอกประยุทธ์จะยุบสภาฯ หรืออยู่ครบเทอม เพราะหากอยู่ครบเทอม พวกที่เป็น ส.ส.อยู่ตอนนี้ จะลาออกจากพรรคต้นสังกัดปัจจุบันไปอยู่ที่รวมไทยสร้างชาติ ก็ลาออกสักช่วงปลายๆ เดือนมกราคม 2566 ก็ยังทัน 90 วัน ยิ่งหากยุบสภาฯ ยิ่งไม่ต้องห่วง เพราะยังไงก็ทัน 30 วันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สัญญาณการเลือกตั้งจะยิ่งถูกจับตามองมากขึ้น ก็คือหลังมีการประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.-กฎหมายพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ ที่คงต้องรออีกสักระยะ โดยคาดว่าเมื่อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ เสียงเรียกร้องจากบางฝ่าย โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน ที่จะเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ยุบสภาฯ จะยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ

 ซึ่งถึงตอนนี้ จากเดิมที่ใครต่อใครเชื่อมั่นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่านายกฯ จะยุบสภาฯ ไม่อยู่ครบเทอม 4 ปี พบว่าตอนนี้เสียงเริ่มอ่อยลงมาบ้าง ชักไม่เชื่อเต็มร้อยแล้ว เพราะมองว่าพลเอกประยุทธ์ต้องการเวลาในการจัดทัพพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะเสนอชื่อตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้พร้อมมากที่สุดก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ดังนั้นเป็นไปได้สูงที่พลเอกประยุทธ์ก็ต้องลากยาวให้เต็มที่ เพราะอย่างที่เห็น พรรครวมไทยสร้างชาติ เวลานี้ ยังแค่ตั้งไข่ ฐานกำลังยังไม่แข็งแรงพอ การลากยาวให้ไปเลือกตั้ง 7 พ.ค.2566 จึงเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นว่า เป็นไปได้ที่จะออกมาแนวนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รัฐสภา' มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจรัฐสภา ปมจัดทำรธน.ฉบับใหม่

“รัฐสภา” มีมติส่งศาลรธน.ตีความอำนาจตัวเอง ปมแก้รธน.ฉบับใหม่ ด้าน“วันนอร์”แจงยิบ ยึดตาม”ชวน”เคยวินิจฉัยร่างของ”สมพงษ์”มาแล้ว ชี้เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาวินิจฉัยเพื่อไปต่อแล้วไม่ล้ม ไม่เสียของ

'ก้าวไกล' งดออกเสียงญัตติส่งศาลวินิจฉัยอำนาจรัฐสภา 'ชัยธวัช' ด่าศาลรธน.

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องขอให้

'อดิศร' ซัดแรงมีรัฐสภาไปทำพระแสงอะไร จะแก้รัฐธรรมนูญ ยังให้ศาลวินิจฉัยอำนาจประชาชน

นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อำนาจตุลาการ และอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร แยกกันและถ่วงดุลกัน ไม่ใช่คล่อมเลน มีบางครั้งจะยื่นญัตติได้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น นั่นฝ่ายตุลาการ แต่เราฝ่ายนิติบัญญัติ เราคิดของเราเองได้

'เอกนัฏ' พร้อมหนุนญัตติเพื่อไทย ถามศาลรธน. บรรจุวาระแก้รธน. แต่ต้องไม่แตะหมวด 1,2

"เอกนัฏ" หนุนถามศาล รธน. แต่ขอเพื่อไทยวางหลักประกัน ไม่แตะหมวด 1-2 แก้รายมาตรา ป้องรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ใช่ผลพลอย รปห. ชี้ หากแก้เกือบทั้งฉบับ จะเสียของดี

'รัฐสภา' ถกบรรจุวาระจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 'ก้าวไกล' หนักใจยื่นดาบให้ศาลรธน.อีกแล้ว

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

ลากไส้องค์กร'สีกากี'ยิ่งแฉยิ่งเละ ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจกู้ภาพลักษณ์

เละ! ตายตามกันไปข้าง ศึกภายในรั้ว “กรมปทุมวัน” ถึงแม้ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.และ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.จะถูกโยกไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ศึก “นอมินี” แทงฟันกันเลือดสาดไม่มีใครยอมใคร อย่างที่ ทีมทนาย “รองฯ โจ๊ก” เตือนก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน “ไม่ยอมตายเดี่ยว”