MOU ศึกปะทะยกแรก "พิธา 1" แง้ม 5 ปมร้อน สภาสูงตั้งแง่

วันจันทร์ที่ 22 พ.ค. เวลา 16.30 น. ที่โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ กลุ่มพรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียง ที่หนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จะร่วมกันแถลงข่าวการทำบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาลผสม หรือ เอ็มโอยูรัฐบาลพิธา 1 ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ท่ามกลางการจับตามองจากหลายฝ่ายถึงเนื้อหาในเอ็มโอยูดังกล่าวว่าจะมีอะไรบ้าง ตลอดจนทิศทางการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของ พิธาและก้าวไกล หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งทั้งหมดจะมีความชัดเจนในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ 22 พ.ค.นี้ ที่ตรงกับวันครบรอบรัฐประหาร คสช. 9 ปี

แน่นอนว่า เรื่อง แก้ไขมาตรา 112 จะไม่อยู่ในเอ็มโอยูดังกล่าว หลังแกนนำพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลเกือบทุกพรรคแสดงท่าทีไม่เอาด้วยหากจะเอาเรื่อง 112 มาใส่ไว้ในเอ็มโอยู ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า หากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เนื้อหาในเอ็มโอยูหลายเรื่องจะถูกแปรสภาพไปเป็นพิมพ์เขียวนโยบายรัฐบาลที่จะต้องแถลงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาก่อนเข้าบริหารประเทศ ที่จะกลายเป็นการผูกมัดรัฐบาล ดังนั้นหากเอาเรื่อง 112 มาเขียนไว้ ก็จะทำให้รัฐบาลเจอแรงต้านจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาจะนำมาอ้างเป็นเหตุผลในการไม่ร่วมโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้พรรคก้าวไกลจะขับเคลื่อนเรื่องแก้ 112 ผ่านกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ คือการเสนอเป็นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสภาฯ ไป ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ ต้องรอติดตาม แต่ยังไงพรรคก้าวไกลต้องทำแน่นอน เพราะหากไม่ทำ นอกจากจะโดนพวก ด้อมส้ม ถล่มหนักแล้ว ในทางการเมือง พรรคก้าวไกลก็จะเสียคะแนน-เสียมวลชนที่เป็นโหวตเตอร์ในฝั่งตัวเอง แต่หากว่าเสนอแล้วไม่สำเร็จ ก้าวไกลก็จะอ้างได้ว่า ทำแล้ว แต่โดนขวาง

สำหรับกระบวนการจัดทำเอ็มโอยูของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็พบว่าไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว เพราะหลายพรรคการเมืองไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเอานโยบายพรรคก้าวไกลมาเป็นพิมพ์เขียวหลักในการเขียนเอ็มโอยู เพราะบางเรื่องก็ขัดกับแนวทางพรรค เช่น เรื่อง สมรสเท่าเทียม-สุราก้าวหน้า ที่ตอนหาเสียง พิธาก็ชู 2 เรื่องดังกล่าวในการหาเสียงไว้อย่างมากว่าจะต้องเข้าไปทำให้สำเร็จ หลังก่อนหน้านี้ตอนสภาฯ สมัยที่แล้ว ส.ส.ก้าวไกลผลักดัน 2 เรื่องนี้ผ่านการออกเป็นร่าง พ.ร.บ. แต่โดนคว่ำในการโหวตของสภาฯ วาระ 3 โดยก้าวไกลที่เชื่อว่า 2 เรื่องนี้ทำให้พรรคได้คะแนนเสียงจากคนที่เห็นด้วยพอสมควร ทำให้ก่อนหน้านี้มีแนวคิดจะผลักดันให้เป็น 2 เรื่องที่เป็นแก่นหลักของเอ็มโอยู แต่ก็ปรากฏว่าถูกบางพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลคือ พรรคประชาชาติ ที่ในทางการเมืองก็ชัดเจนว่าฐานเสียงหลักคือคนไทยมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้คัดค้านเรื่องนี้หัวชนฝา เพราะหากพรรคประชาชาติไปร่วมเซ็นเอ็มโอยู อาจทำให้เกิดผลในทางการเมืองกับพรรคในอนาคตได้ จึงเสนอให้พรรคก้าวไกลถอยเรื่องนี้

นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวด้วยว่า หลายพรรคการเมืองก็มีทีท่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางเรื่องในเอ็มโอยูที่พรรคก้าวไกลส่งให้แต่ละพรรคพิจารณา เช่น ไม่เห็นด้วยกับการที่จะเขียนเรื่องการผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง เพราะมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมือง และในเมื่อเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายของก้าวไกลที่เขียนไว้ว่าจะทำภายใน 100 วันหลังเข้าไปเป็นรัฐบาล หลายพรรคจึงเห็นว่า พรรคก้าวไกลควรขับเคลื่อนเรื่องนี้ในสภาฯ ในนาม ส.ส.พรรคก้าวไกลจะเหมาะสมกว่าที่จะเอามาไว้ในเอ็มโอยูที่จะกลายเป็นนโยบายรัฐบาลในอนาคต

ทั้งหมดต้องดูว่า พรรคก้าวไกลจะหาทางออกอย่างไรเพื่อให้ทุกพรรคพอใจ จะได้ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ไม่สะดุดกลางทาง ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้คนมองว่า พรรคก้าวไกลโดนกดดันจนต้องล่าถอยไปในทุกเรื่อง จนนโยบายหลักๆ ที่ก้าวไกลหาเสียงไว้ ไม่ถูกเขียนไว้ในเอ็มโอยูที่ก็จะไม่เป็นผลดีต่อพรรคก้าวไกลแน่นอน โดยเฉพาะอาจทำให้บรรดาด้อมส้มผิดหวัง ที่ก้าวไกลเสียความเป็นตัวของตัวเองตั้งแต่ยังไม่ทันได้เป็นรัฐบาล

ทั้งหมดต้องรอดูเนื้อหา-คำประกาศในเอ็มโอยูวันที่ 22 พ.ค.นี้ว่าจะออกมาอย่างไร

และหลังการแถลงเอ็มโอยูเสร็จสิ้นแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะการหาเสียงสนับสนุนให้พิธาเป็นนายกฯ ให้ได้ 376 เสียง ที่ยังจำเป็นต้องได้เสียงหนุนจากสมาชิกวุฒิสภา 

ท่ามกลางกระแสข่าวทางการเมืองว่า คนในก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมถึงคนในพรรคการเมืองตั้งรัฐบาล ก็พยายามใช้คอนเน็กชันที่ตัวเองมีอยู่เชื่อมไปยัง ส.ว.หลายภาคส่วน เพื่อขอเสียง ส.ว.ให้มาโหวตหนุนพิธา เช่น มีกระแสข่าวว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำเพื่อไทย ต่อสายคุยกับ ส.ว.สายการเมืองที่คุ้นเคยกันหลายคนแล้ว จนมีการคาดหมายกันว่า น่าจะมีชื่อของ ส.ว.ที่เปิดดีลตอนนี้ เช่น พีระศักดิ์ พอจิตร ส.ว.-อดีตรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่รู้จักกับ ส.ว.หลายคน เพื่อขอให้ช่วยขอเสียง ส.ว.มาหนุนการจัดตั้งรัฐบาล

นอกจากนี้ก็มีข่าวว่า ฝ่ายก้าวไกลเองก็หาช่องทางคุยกับ ส.ว.อยู่ โดยมีข่าวว่าแกนนำก้าวไกลสายอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง คุยกับ ส.ว.สายทหารบางส่วนบ้างแล้ว อาทิ พลเอกบุญธรรม โอริส ที่คุ้นเคยกับคนในก้าวไกลหลายคน เพราะพลเอกบุญธรรมเคยเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ในยุค คสช. จึงทำให้รู้จักกับคนในพรรคก้าวไกลที่มาจากสายนักกิจกรรมการเมือง เป็นต้น 

 โดยมีกระแสข่าวทางการเมืองว่า การเริ่มเปิดดีลการเมืองคุยกับ ส.ว.บางส่วนของคนในพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ทาง ส.ว.บางส่วนให้คำแนะนำไปว่า ขอให้พิธาและก้าวไกลมีความชัดเจนในเรื่องหลักๆ คือ

1.การแก้ไข 112 ว่าจะทำหรือไม่ และหากจะแก้ไข พรรคก้าวไกลจะมีวิธีการอย่างไร

 2.เรื่องการออกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง

3.การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ที่อาจทำให้ ส.ว.ที่มาจากสายมหาดไทยเก่า อดีต ผวจ.หลายคนอาจไม่เห็นด้วย

 4.นโยบายการต่างประเทศ ที่เริ่มมี ส.ว.บางส่วนเกรงว่า พิธาที่มีข่าวว่าจะเป็นนายกฯ ควบ รมว.ต่างประเทศ จะนำประเทศไทยไปอิงสหรัฐมากเกินไป จนทำให้ "จีน-รัสเซีย" อาจไม่สบายใจ

5.การยกเลิกกฎอัยการศึก การยุบ กอ.รมน.และนโยบายหลายอย่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจทำให้ ส.ว.สายทหารหลายคน โดยเฉพาะ ส.ว.ที่เคยอยู่กองทัพภาคที่ 4 เช่น พลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์-พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์-พลเอกวลิต โรจนภักดี อาจมีคำถามถึงเรื่องเหล่านี้ 

โดย ส.ว.บางส่วนบอกว่า หากพิธาและก้าวไกลมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ว่าหากจะทำจะทำอย่างไร มีแผนขั้นตอนการทำอย่างไรบ้าง ก็จะเป็นข้อมูลที่ทำให้ ส.ว.นำไปพิจารณาได้ว่า จะโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ หรือไม่ แต่หากยังไม่มีความชัดเจนไปจนถึงวันโหวตนายกฯ ก็อาจทำให้ ส.ว.หลายคนไม่สบายใจ จนใช้วิธี “งดออกเสียง” แต่ถ้าหากพิธามีความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ก็อาจทำให้ ส.ว.หลายคนพร้อมโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ

 ท่ามกลางข่าวว่า ส.ว.หลายคนจะนำเรื่องการโหวตนายกฯ มาคุยกันนอกรอบตามวงต่างๆ ในการเจอกันอย่างเป็นทางการ ในวันอังคารที่่ 23 พ.ค.นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐา1/1เร่งเครื่อง ปม'พิชิต'ทำติดหล่ม หวังศาลรธน.เคลียร์จบ

ครม.เศรษฐา 1/1 หลังจากนี้ก็สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นทางการ หลังเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำ รมต.ที่ได้รับการแต่งตั้ง ที่มีทั้งรัฐมนตรีหน้าใหม่

พิสูจน์ฝีมือ ‘ครม.เศรษฐา2’ ปรับทัพใหม่ รอดหรือร่วง?

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียบร้อย โดยมีรัฐมนตรีเข้าใหม่ 7 คน และออก 4 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ กว่าจะได้คนที่ถูกฝาถูกตัว ก็ต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา

'ก้าวไกล' ไม่กังวลถูกยุบพรรค 'ชัยธวัช' บอกคุยลูกพรรคหลายรอบแล้ว

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาให้พรรคก้าวไกลแก้ข้อกล่าวหาในคดีล้มล้างการปกครอง ว่า คดีนี้มีความร้ายแรงมากกว่าคดีก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ

คณะสอบวินัย"บิ๊กโจ๊ก"ส่อเค้าวุ่นไม่จบ “สราวุฒิ”จ่อเกษียณโยนเผือกร้อนสีกากี

สู้กันทุกกระบวนท่าเต็มสรรพกำลังอภิมหาศึก “สีกากี” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนพัวพันคดีเว็บพนันออนไลน์ ระบุว่า “การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จับตาระเบียบใหม่ กกต. สกัดฮั้วเลือก 'สว.'

เตรียมนับถอยหลังปิดฉากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาลที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงรักษาการจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากดูตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)