เอื้อมไม่ถึง “เอฟ35” ลุ้นเครื่องบินรบในมือ “ก้าวไกล”?

กองทัพอากาศออกมาชี้แจงกรณีที่ นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย หารือกับ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศของไทย ในโครงการเครื่องบินขับไล่โจมตีแบบ F-35A ที่กองทัพอากาศได้ส่งหนังสือ Letter of Request for P&A (Price and Availability) ให้กับ JUSMAGTHAI เพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดหาโดยวิธี Foreign Military Sales (FMS) จากรัฐบาลสหรัฐ

สรุปคือ “สหรัฐ” ยังไม่ขายเครื่องบิน “รุ่นเทพ” นี้ให้ไทยในระยะเวลาอันใกล้ด้วยเหตุผล 5 ประการ 1.เงื่อนไขภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลาหลายประการ 2.แผนการผลิตและคำสั่งซื้อ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี จึงจะสามารถนำส่งให้กับผู้ซื้อรายใหม่ 3.เครื่องถูกออกแบบด้วยแนวความคิดใหม่ด้านเทคนิคและด้านปฏิบัติการ มีคุณลักษณะพิเศษในการซ่อนพรางจากการตรวจจับด้วยสัญญาณเรดาร์ (Stealth) จึงต้องวางแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการฝึก และระบบรักษาความปลอดภัยตามเงื่อนไขของสหรัฐ

4.การเตรียมการเพื่อปรับเปลี่ยนระบบส่งกำลังบำรุง ระบบคลังพัสดุ และระบบบริหารจัดการแตกต่างจาก F-16 และไม่สามารถใช้ร่วมกับระบบของยุทโธปกรณ์อื่น 5.ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ทอ.ควรพิจารณาเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 4.5 เช่น F-16 หรือ F-15 ซึ่งจะใช้เวลาในการจัดหาได้เร็วกว่า

โครงการดังกล่าวริเริ่มจากแนวคิดของ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศคนก่อน โดยเชื่อว่าเป็นเครื่องบินในเจนเนอเรชั่นที่ 5 ที่ ทอ. “เอื้อมถึง” เนื่องจาก สถานการณ์ขณะนั้นมีการลดราคาลง อีกทั้งเป็นจังหวะที่มีล็อตการผลิตอยู่พอดี ทำให้ ทอ.อาจจะเจรจาพ่วงไปด้วย  หรือมีข่าวในทำนองว่ามีบางประเทศยกเลิกคำสั่งซื้อ ไทยก็จะได้สิทธิ์ซื้อแทน แต่ในโครงการการจัดหาเครื่องบินรบนั้น “ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด” เพราะต้องมีขั้นตอนต่างๆ มากมาย 

  ที่สำคัญคือ ฝั่งของไทยเองนั้นติดปัญหาเรื่องขั้นตอนด้านงบประมาณ อีกทั้งความพร้อมด้านต่างๆ ที่จะรองรับการเข้าประจำการของเครื่องบินเจนเนอเรชั่นนี้ สำคัญคือกระแสสังคมเริ่มต่อต้านการซื้ออาวุธ เนื่องจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนยากลำบากในการใช้ชีวิต ส่งผลให้แผนของ ทอ.ไม่ลื่นไหลตามที่ตั้งใจไว้นัก แค่ตั้งงบฯ หัวเชื้อ 369 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 ยังถูกคณะกรรมาธิการฯ งบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนของพรรคก้าวไกลซักฟอกอย่างหนัก ทำให้ต้องผนวกเรื่องการคืนงบฯ ถ้าสภาคองเกรสสหรัฐไม่อนุมัติ 

จากไทม์ไลน์เดิมจะต้องมีความชัดเจนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีคำตอบจากสหรัฐ จนกระทั่ง ทอ.ได้ทำหนังสือเพื่อสอบถามความคืบหน้าเป็นระยะๆ เพื่อจะได้เห็นทิศทางที่ชัดเจน แล้วไปกำหนดแผนในการจัดทำงบประมาณปี 2567 นั่นจึงเป็นเหตุให้ทูตสหรัฐได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ยังไม่สามารถขายให้ไทยได้ เพื่อให้ไทยเดินหน้าในการทำแผนสำรองต่อไป พร้อมยืนยันในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐที่มีมาอย่างยาวนาน

และจากรายละเอียด “สมุดปกขาว” พ.ศ.2563 หรือ RTAF White Paper 2020 ระบุไว้ว่า ในปี 2566 ปีงบประมาณ 66 โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี (ระยะที่ 1) ทดแทน F-16 จำนวน 1 ฝูงบิน และปีงบประมาณ 68 โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี (ระยะที่ 2) แต่สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ อีกทั้งความต้องการเทคโนโลยีก้าวกระโดดตามแนวคิดของผู้บัญชาการทหารอากาศคนก่อนทำให้ไม่เป็นไปตามเป้า

แต่ในปีงบประมาณ 2567 ทอ.ก็ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน F-16 ฝูงบิน 103 ไว้อยู่ดี โดยต้องเริ่มปัดฝุ่นเครื่องบินรุ่นที่เหมาะสมกับภัยคุกคาม สถานะด้านงบประมาณที่มี 

หากดูตัวเลือกของสหรัฐที่เสนอให้ไทย ยังเสนอเครื่องบินในเจนเนอเรชั่นที่ 4.5 คือ F-15 กับ F-16 ผลิตโดย 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโบอิ้ง กับล็อคฮีด มาร์ติน แต่ระบบที่ ทอ.ไทยคุ้นเคยยังเป็นเครื่องบิน F-16 ซึ่งหากจะจัดหาก็น่าจะเป็นบล็อก 70 ซึ่งมีการปรับปรุงเครื่องยนต์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ รวมไปถึงตัวเลือกอื่นๆ ที่สูสีอย่าง Gripen E ซึ่งบริษัท SAAB ประเทศสวีเดนก็เคยเสนอให้ ทอ.พิจารณาก่อนหน้านี้ และยังเป็นตัวเลือกที่ดีในช่วงที่การเผชิญหน้าของมหาอำนาจยังคุกรุ่น

แต่นั่น ทอ.ต้องปรับแผนในการจัดหาเครื่องบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกแบบ ที่คาดว่าเป็น 1 ใน 5 เสือ ทอ.เพื่อเดินหน้าพิจารณาเลือกแบบต่อไป ควบคู่ไปกับการที่งบประมาณจะถูกส่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ส่วนงบฯ ที่ตั้งไว้ในปี 2566 กรอบวงเงิน 369 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ และถ้าสภาคองเกรสไม่อนุมัติขายให้ จะคืนงบประมาณตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือมีการเจรจาต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงงบประมาณในการจัดหาอากาศยานแบบอื่นที่ใช้ในภารกิจช่วยเหลือประชาชน คงต้องรอดูต่อไป

นอกจากนั้นยังต้องดูปัจจัยทางด้านการเมือง ว่าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ แล้วใครจะมานั่งเป็น รมว.กลาโหม หากในที่สุดพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาล จะบริหารจัดการ “งบฯ ทหาร” อย่างไรให้เป็นไปตามที่ประกาศไว้

แน่นอนว่า การจัดหา “เครื่องบินรบ-เรือรบ” วงเงินงบประมาณสูง ยังไม่จำเป็นในขณะนี้ เพราะภัยคุกคามขนาดใหญ่ยังไม่ได้ประชิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องดุลอำนาจและการเปรียบเทียบกำลังรบ มีผลต่อศักยภาพการต่อรองในเรื่องอื่นๆ ของประเทศ เมื่อใครที่มาเป็นรัฐบาลก็จะได้รับฟังชุดความคิด ความจำเป็นจากฝ่ายประจำ

แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายแรกของพรรคก้าวไกล ในการปฏิรูปกองทัพ และการจัดระเบียบงบประมาณทั้งหมด เพราะเกินกว่าครึ่งหนึ่งของงบกองทัพ นั่นก็คือ งบฯ ประจำ ในหมวดเงินเดือน ค่าตอบแทน อันเกิดจากจำนวนกำลังพล และนายพลที่ล้นเกิน ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง รวมถึงเป้าหมายในการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของกำลังพลชั้นผู้น้อยให้ดีขึ้น

สิ่งที่ไม่ง่ายสำหรับ ก้าวไกล คือ การเปลี่ยนสถานะจากการนั่งวิจารณ์ กำหนดนโยบายหาเสียง มาเป็นฝ่ายบริหารและปฏิบัติเอง ข้อมูลจากเอกสารวิชาการ การค้นคว้า วิจัย สื่อที่เชี่ยวชาญด้านกองทัพเท่านั้นคงยังไม่เพียงพอ แต่การจะไปจับเข่าคุยกับกองทัพในขณะนี้ก็ยังไม่ถึงเวลา เพราะยังไม่แน่ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่

แต่ก็มีรายงานว่า ได้มีการเตรียมพร้อมในการหา “คลังสมอง” ด้านการทหารมาเป็นที่ปรึกษาไว้บ้างแล้ว อย่างน้อยถ้ามีโอกาสต้องเข้าไปพูดคุย ทำงานกับผู้นำเหล่าทัพก็จะมีข้อมูลมากพอ สามารถถกเถียงโต้แย้งได้

รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้าน พ่วงด้วยการวิเคราะห์ในแง่มุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกมมหาอำนาจ เข้ามาพิจารณาร่วมกันด้วย

ส่วนในที่สุดจะมีส่วนกำหนดทิศทางกองทัพ กำหนดกรอบ จัดหาเครื่องบินรบ เรือดำน้ำ เรือรบ อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ คงต้องรอให้ผ่านด่านตั้งรัฐบาลให้ได้เรียบร้อยก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...

'ทักษิณ-โจ๊ก'ย่ามใจ! จุดจบเส้นทาง'สีเทา'

ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ เดินทางมาร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และ สส.ของพรรค ร่วมรับประทานอาหารกับนายทักษิณอย่างคึกคัก