พท.ยึดอำนาจกองทัพ สกัดลากรถถังตรึงทำเนียบฯ

เรียกเสียงครางฮือไปทั่วแวดวงทหารและแวดวงการเมือง กับการขยับของ สส.เพื่อไทย ที่เข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เข้าสภาฯ ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ของสภาฯ

เหตุที่บอกว่า แวดวงการเมืองครางฮือ ก็เพราะเนื้อหาหลายเรื่องตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่เสนอโดย สส.เพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งมี บิ๊กอ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย นั่งเป็นรองนายกฯ ควบกลาโหม คลี่แต่ละมาตราออกมาดูแล้ว พบว่า เป็นการเขย่าอำนาจของบิ๊กทหาร-ท็อปบูต ไว้หลายอย่าง จนแวดวงการเมืองส่งเสียงดังเซ็งแซ่ มองไปในทางเดียวกันว่า เป็นการวางหมากของฝ่ายการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่เคยถูกทหารทำรัฐประหารมาแล้ว 2 รอบ คือยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี 2549 และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอนปี 2557  เพื่อไทยเลยวางแผนจัดการเอาคืนทหารทุกเหล่าทัพ ทั้งต้นทั้งดอก ด้วยการจะดันร่างกฎหมาย ที่เป็นการยึดอำนาจกองทัพไว้ในกำมือนักการเมือง ให้ท็อปบูตต้องยอมสยบ

เช่น การให้นายกฯ หรือ ครม.สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขโผแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับนายพลทุกเหล่าทัพได้ ทุกชื่อทุกตำแหน่ง ที่ผ่านการพิจารณาจากบอร์ดแต่งตั้งมาแล้ว หรือการให้อำนาจนายกฯ หรือ ครม.หากเห็นว่าบิ๊กทหารคนใดมีข้อมูลอันเชื่อได้ว่า คิดแข็งข้อรัฐบาล วางแผนคิดก่อการทำรัฐประหาร เตรียมเคลื่อนรถถังและเคลื่อนทหารออกจากที่ตั้ง เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล-สถานที่ราชการ และอ่านประกาศคณะรัฐประหาร  โดยในร่างเขียนไว้ว่า หากรัฐบาลได้กลิ่นบิ๊กทหารรายใด คิดก่อการดังกล่าว ก็สามารถออกคำสั่งให้นายทหารผู้นั้น หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที

ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กลุ่ม สส.เพื่อไทยที่เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ย้ำหลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีเนื้อหาบางส่วน เช่น

โดยที่คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรสูงสุดในฝ่ายบริหาร แต่กลับไม่มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล โดยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 แต่งตั้งโดยคณะกรรมการที่มี รมว.กลาโหม-ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการเท่านั้น

“ทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลมีการวางตัวบุคคลของทางกองทัพที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป อันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่มิใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหาร ทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลขาดความโปร่งใส”

 จึงเป็นการสมควรที่จะให้คณะรัฐมนตรีได้มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแล้วได้

พร้อมกับระบุว่า..."นอกจากนี้ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาพบว่า นายทหารระดับสูงมีการใช้กำลังพลไปในทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงควรกำหนดข้อห้ามในการใช้กำลังทหารไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน หากมีการฝ่าฝืนก็ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวได้ในระหว่างรอการสอบสวนได้ เพื่อป้องกันมิให้ทหารได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

นั่นคือหลักการ-เหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภาฯ จาก สส.เพื่อไทย

ด้าน ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำ สส.พรรคเพื่อไทย เจ้าของฉายา สส.หัวเขียง ที่เป็น สส.ในสภาฯ มาหลายสิบปี ประสบการณ์โชกโชน บอกกับ ไทยโพสต์ ถึงเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า เป็นการเสนอร่างกฎหมาย เพื่อไม่ให้ประเทศถอยหลังจากเหตุมีการทำรัฐประหารแบบในอดีต ซึ่งเชื่อว่าหากมีการประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรัฐประหารในประเทศไทยได้ อย่างเรื่องการให้ ครม.มีส่วนร่วมพิจารณาโผแต่งตั้งบิ๊กทหาร เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน เรื่องนี้ไม่ใช่จะเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลเข้าไปล้วงลูกโผนายพลแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของหลักการคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริการกับกองทัพ

สส.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ร่างดังกล่าวให้อำนาจคณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการพิจารณาโผรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพล ก็เพื่อเป็นการป้องกันเหตุบางอย่าง รวมถึงเพื่อให้คนที่จะได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นสูงขึ้น มีความยากขึ้น ไม่ใช่อยากจะดันใครขึ้นก็ขึ้นได้ง่ายๆ แนวคิดนี้ไม่ใช่การดึงอำนาจจากกองทัพมาไว้ที่ ครม. แต่เพราะ ครม.ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงต้องให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายโผนายพลด้วย เพื่อรักษามาตรฐานการขึ้นสู่ตำแหน่งของทหาร ทำให้ ครม.มีส่วนร่วมในการพิจารณารายชื่อ

...ยืนยันได้ว่า เรื่องนี้มันมีกระบวนการพิจารณากลั่นกรองอยู่ ไม่ใช่ ครม.จะไปล้วงลูกถึงกับจะเข้าไปจัดแจงโผที่ส่งมา มันคงไม่ใช่ แนวทางดังกล่าวทำให้ทหารระดับนายพลแต่ละคนจะมีความใกล้ชิดกับฝ่ายบริหาร-ครม.มากขึ้น ทหารจะได้ร่วมรับผิดชอบบ้านเมืองร่วมกับ ครม.ด้วยเหมือนกัน ส่วนการจะสั่งให้ทหารระดับสูงคนใดหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะสงสัยว่าคิดกระทำการทำรัฐประหารนั้น การทำงานระดับนี้มันต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงประกอบกัน มีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปกล่าวหาทหารเขาแล้วสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ ต้องมีข้อมูลที่รับฟังได้

“การเกิดรัฐประหารบ่อยครั้งมันทำให้เกิดการถอยหลัง และผมมั่นใจว่าหากมีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้เยอะ ผมมั่นใจมากและเชื่อมั่นมาก ส่วนว่าจะมีทหารไม่พอใจที่จะมาเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสภาฯ ต้องบอกว่า การเสนอกฎหมาย มันต้องมีคนพอใจและไม่พอใจ ถ้ามัวคิดแต่เรื่องนี้ ก็คงทำงานตรงนี้ไม่ได้ ผมทำตามหน้าที่ ใครจะพอใจไม่พอใจก็อีกเรื่องหนึ่ง” นายประยุทธ์ หรือ สส.หัวเขียง กล่าวหลังถูกถามว่า ถ้ามีการออกกฎหมายดังกล่าวจริง จะทำให้การรัฐประหารไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกแล้วใช่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงโหมของ สส.เพื่อไทยเข้าสภาฯ ครั้งนี้ เป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.เพื่อประกบกับร่าง พ.ร.บ.ที่มีเนื้อหา-หลักการลักษณะเดียวกันที่พรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนในปัจจุบันเสนอเข้าสภาฯ ที่ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่เสนอเข้าสภาฯ ตั้งแต่ปี 2566

โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการพิจารณาวาระแรกขั้นรับหลักการ ในการประชุมสภาฯ สมัยปัจจุบันที่จะเปิดสมัยประชุม 12 ธ.ค.เป็นต้นไป เป็นเวลา 4 เดือนเต็ม

และด้วยจำนวนเสียง สส.แค่ 2 พรรคคือ พรรคประชาชน กับพรรคเพื่อไทย ที่รวมกันแค่ 2 พรรค ก็เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงในสภาฯ ดังนั้นหากทั้งเพื่อไทยและประชาชนเดินหน้าเข็นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ให้ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย ก็มีโอกาสสูงที่จะผ่านสภาฯ ได้แบบสบายๆ ไม่ต้องขอเสียง สส.พรรคร่วมรัฐบาลเลยด้วยซ้ำ

กระนั้นต้องไปดูว่า เมื่อผ่านสภาฯ ไปแล้ว มีการส่งร่างต่อให้วุฒิสภา ท่าทีของสภาสูง-สมาชิกวุฒิสภาจะเอาด้วยหรือไม่ รวมถึงปฏิกิริยาของผู้นำกองทัพจะมีท่าทีอย่างไร ยามเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติตั้งแท่น พิจารณาเรื่องดังกล่าว ที่เห็นชัดว่าทำให้อำนาจของผู้นำเหล่าทัพลดน้อยลง และฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกซึมกองทัพได้มากขึ้น. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้งนายก อบจ.1 ก.พ. 47จว.“บ้านใหญ่”กวาดเรียบ

ถึงตอนนี้แม้เหลือเวลาอีกร่วมสัปดาห์เศษๆ แต่แวดวงการเมืองประเมินแล้วมีแนวโน้มสูงที่ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. ผู้สมัครนายก อบจ.ที่มาจากสาย “บ้านใหญ่-ตระกูลการเมืองประจำจังหวัด” จะได้รับชัยชนะเข้าไปเป็นนายก อบจ.มากที่สุด แนวโน้มเกินครึ่งหนึ่ง

‘ส้มบุกทั่วไทย’ ดาวกระจาย ล้วง 'ชิงแดน' ฝ่ายตรงข้าม

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันที่ 1 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ซึ่งพรรคประชาชนได้เริ่มจุดแคมเปญ 'ส้มบุกทั่วไทย เปิดปราศรัยใหญ่ อบจ.ประชาชน' ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา

‘บิ๊กป้อม’ เดินหน้าพปชร.ต่อ (แค่ไหน) สุดเทอมสภา ‘แยกย้าย-เปลี่ยนมือ’?

‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประกาศกลางวงสัมมนาพรรค ที่ อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ว่า ‘พลังประชารัฐ’ ยังคงเดินหน้าต่อ

รหัสลับทักษิณถึง สส.พท. อบจ.เขตไหนแพ้ขึ้นบัญชีดำ

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์เท่านั้น จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ ที่จะเลือกกันวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.